คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9266/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2542 ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์หยุดราชการ วันที่ 24 พฤษภาคม2542 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 15 วัน โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในวันที่เริ่มทำการใหม่ได้ แต่การนับระยะเวลาที่ขอขยายออกไปก็ต้องนับต่อจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาเดิมคือเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 24พฤษภาคม 2542 หากศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาตามที่โจทก์ต้องการเพียง 15 วัน ก็จะครบกำหนดในวันที่ 7 มิถุนายน 2542 มิใช่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 และการขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจทั่วไปที่จะอนุญาตขยายให้เท่าใดก็ได้ตามเหตุผลที่เห็นสมควร โดยไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลานั้น ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 18 มิถุนายน2542 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 240 เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยหรือบริวารโต้แย้งขัดขวางการครอบครองที่ดินของโจทก์และให้จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะทำนิติกรรมโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2542 และยกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์คดีนี้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตหรือไม่เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่23 เมษายน 2542 ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์หยุดราชการ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2542 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 15 วัน โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในวันที่เริ่มทำการใหม่ได้และเป็นการร้องขอขยายภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่การนับระยะเวลาที่ขอขยายออกไปก็ต้องนับต่อจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาเดิมคือเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2542 หากศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาตามที่โจทก์ต้องการเพียง 15 วัน ก็จะครบกำหนดในวันที่ 7 มิถุนายน 2542 หาใช่วันที่ 8 มิถุนายน2542 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไม่ และการขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจทั่วไปที่จะอนุญาตขยายให้เท่าใดก็ได้ตามเหตุผลที่เห็นสมควรโดยไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลานั้นว่าให้เพราะเหตุใดดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2542และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ และคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นภายในกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจทั่วไปของศาลที่มีอยู่และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2542 โดยอ้างว่า ศาลชั้นต้นน่าจะสั่งโดยผิดพลาดหรือผิดหลง เพราะศาลชั้นต้นมิได้ระบุเหตุผลที่ให้เวลาโจทก์เกินกว่าที่โจทก์ขอให้ชัดเจนแล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยอ้างว่ายื่นเกินกำหนดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง คดีนี้ค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาที่ศาลชั้นต้นเรียกจากโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่พิพาทนั้น เห็นว่า ยังไม่ถูกต้อง โจทก์ควรเสียเพียง 200 บาท ตามตาราง 1(2)(ข) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาคดีต่อไปตามรูปคดี และให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกินจำนวน 6,400 บาท แก่โจทก์ ค่าทนายความในชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share