แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายแล้วทำลายบานประตูและกระจกหน้าต่างผู้เสียหายในทันทีทันใดนั้น ย่อมถือว่าเป็นกรรมเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวอีก ๒ คน ร่วมกันมีเหล็กชะแลงและปืนเป็นอาวุธติดตัวบุกรุกเข้าไปในบ้านแล้วขึ้นไปบนเรือนของนายสมใจ เตชะวณิชย์ ผู้เสียหายและจำเลยได้ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายนางเตือนใจ เตชะวณิชย์ ภริยาผู้เสียหาย จำเลยกับพวกได้ใช้ชะแลงงัดซี่เล็กประตูรั้วหน้าบ้าน ทุบโคมไฟรั้วหน้าบ้าน ป้ายชื่อที่ประตู ทุกระจกวงกบประตูบ้าน กระแทกบานประตูหน้าต่าง และฝาห้องของผู้เสียหายจนแตกพังทลายเสียหายหลายแห่ง เหตุเกิดที่แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕, ๓๕๘, ๘๓
จำเลยให้การว่า เหตุที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุก็เพื่อจะถามเรื่องที่นางเตือนใจ น้องสาวของจำเลยและเป็นภริยาผู้เสียหายได้ให้ผู้เสียหายด่าว่ามารดาของจำเลย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมเปิดประตูให้เข้าไป จำเลยบันดาลโทสะได้ทุกบประตูและสิ่งของต่างๆ เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๖๒, ๓๖๕, ๓๕๘, ๘๓ ให้เรียงกระทงลงโทษฐานบุกรุกลงโทษตามมาตรา ๓๖๕ อันเป็นบทหนัก จำคุก ๒ ปี ผิดตามมาตรา ๓๕๘ จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๓ ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุก ๑ ปี แต่ให้รอการลงโทษตามมาตรา ๕๖ มีกำหนด ๒ ปี ฯลฯ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของนายสมใจผู้เสียหาย แต่นายสมใจไม่อยู่บ้าน คงอยู่แต่นางเตือนใจภริยา นางเตือนใจเห็นจำเลยกับพวกจะเข้ามาจึงปิดประตูและหนีขึ้นชั้นบน จำเลยเข้าทำลายบานประตูและทุบกระจกหน้าต่าง แล้วจำเลยก็ออกไป ปัญหามีว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่างวาระ ถือว่าเป็นความผิดหลายกระทงหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายแล้วทำลายบานประตูและกระจกหน้าต่างผู้เสียหายในทันทีทันใดเช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นกรรมเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน