คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 925/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องสอด ร้องสอดเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) (2) นั้น มิได้หมายความว่า ศาลต้องอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความได้ทุกกรณีไป ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาว่ามีเหตุสมควรอนุญาตหรือไม่ แล้วแต่คำร้องนั้นมีเหตุสมควรเพียงใด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องคดีอาญา โดยมีคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วย อ้างว่า ดจทก์ครอบครองที่ดินซึ่งโจทก์ได้มาโดยบิดายกให้ และแจ้ง ส.ค. ๑ แล้ว จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินและตัดฟันต้นไม้และลักผลมะพร้าวไป ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓,๘๔,๓๓๔,๓๕๘,๓๖๒ ให้ใช้ค่าเสียหาย ๗,๔๐๐ บาท ห้ามจำเลยและบริวารอย่างให้เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้อง
จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นราชพัสดุของหลวง จำเลยเช่าจากเจ้าหน้าที่และล้อมรั้วและถมที่เพื่อสร้างอาคาร จึงสั่งให้คนงานตัดพันต้นมะพร้าวและรื้อรั้วตามความจำเป็น โดยเชื่อว่าเป็นของราชพัสดุ
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์นัดหนึ่งแล้ว กระทรวงการคลังจึงยื่นคำร้องว่า ที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความดูแลของผู้ร้อง เจ้าหน้าที่ได้ให้จำเลยที่ ๑ เช่า โจทก์เป็นฝ่ายบุกรุกเข้าครอบครอง เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของผู้ร้อง จึงร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความต่อสู้คดีกับโจทก์ในส่วนแพ่ง ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อในที่พิพาท
ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๗(๑) หรือ (๒) ก็ตาม ไม่หมายความว่าศาลต้องอนุญาตให้เข้ามาเป็นคู่ความได้เสมอทุกกรณี ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาว่า ตามคำร้องมีเหตุสมควรหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นอกจากอุทธรณ์ของผู้ร้องมิได้แสดงเหตุอันสมควรประการใดแล้ว คดีนี้ได้สืบพยานโจทก์หลายคนเสร็จไปนัดหนึ่งแล้ว จึงมีแต่เหตุไม่สมควรจะให้ผู้ใดร้องสอดเข้ามาทำความยุ่งยากสับสนแก่การพิจารณาคดีอาญา ซึ่งควรดำเนินให้เสร็จไปโดยไม่ชักช้า พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ บัญญัติว่า “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความ อาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด” นั้น คำว่าอาจเข้ามาเป็นคุ่ความได้ มีความหมายเป็นการให้อำนาจศาลที่จะพิจารราเสียก่อนว่าจะสมควรอนุญาตให้เข้ามาเป็นคู่ความก็ได้ หรือไม่อนุญาตก็ได้ แล้วแต่ว่าคำร้องนั้นมีเหตุอันสมควรหรือไม่ ไม่เป็นการบังคับให้ศาลจำต้องอนุญาตให้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความได้เสมอไปทุกกรณี ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว พิพากษายืน.

Share