คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 764/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะบอกโทษที่รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 58 ได้นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าให้กล่าวในฟ้อง และมีคำขออย่างไร ต่างกับขอให้เพิ่มโทษ แต่มาตรา 192 ก็ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ฉะนั้น โจทก์ต้องกล่าวมาในฟ้องและมีคำขอมาด้วย แต่มาตรา 58 นี้มิใช่เป็นมาตราที่บัญญัติว่าเป็นการกระทำความผิดอันจำต้องอ้างมาตราในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(6) ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องและมีคำขอแล้ว โจทก์จะอ้างมาตรา 58 หรือไม่ ศาลก็บวกโทษที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษในคดีหลังได้

ย่อยาว

คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ ๓ โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยกับพวกสมคับกันเล่นการพนันคู่คี่ ก่อนคดีนี้เป็นจำเลยที่ ๓ ทำผิดพระราชบัญญัติการพนันมา ๒ ครั้ง ครั้งแรกจำคุก ๒ เดือน ปรับ ๔๐๐ บาท โทษจำคุกรอ ๓ ปี ครั้งที่ ๒ ปรับ ๒๐๐ บาท โทษจำคุกรอ ๓ ปี ครั้งที่ ๒ ปรับ ๒๐๐ บาท พ้นโทษคดีทั้งสองยังไม่ครบ ๓ ปี มาทำผิดคดีนี้อีก ขอให้เพิ่มเติมโทษตามพระราชบัญญัติการพนัน ฯ และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษเข้ากับโทษจำคุกคดีนี้ จึงขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๔, ๑๐, ๑๒ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๓ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๐๔ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๓ ตามาตราที่โจทก์ขอ จำคุก ๔ วัน ปรับ ๑๐๐ บาท แต่ข้อขอให้บวกโทษจำคุกที่รอไว้โจทก์ไม่ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๘ อันเป็นบทที่ให้อำนาจศาลเมื่อโจทก์ไม่มีคำขอท้าย ศาลก็ไม่บวกให้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้เอาโทษ ๒ เดือนของจำเลยที่ ๓ ที่รอไว้มารวม เป็นจำคุก ๒ เดือน ๕ วัน ปรับ ๑๐๐ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลจะบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๘ นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยตรงว่า ให้โจทก์กล่าวในฟ้องและมีคำขออย่างไร ต่างกับการให้เพิ่มโทษฐานไม่เเข็ดหลาบตามมาตรา ๑๕๙ ที่บัญญัติให้กล่าวมาในฟ้อง แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ ก็ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ตามนัยนี้ การบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ตามมาตรา ๕๘ โจทก์ก็ต้องกล่าวมาในฟ้องและมีคำขอมาด้วย สำหรับคดีนี้โจทก์กล่าวมาในฟ้องและมีคำขอแล้ว คงขาดแต่มิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๘ เช่นนี้ ศาสฎีกาเห็นว่า มาตรา ๕๘ มิใช่เป็นมาตราที่บัญญัติว่าเป็นการกระทำความผิดอันจำต้องอ้างมาตรามาในฟ้องดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘ (๖) บัญญัติไว้ เมื่อโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องและมีคำขอแล้ว โจทก์จะอ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๘ หรือไม่ ศาลที่พิพากษาคดีหลังก็บวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังได้ พิพากษายืน

Share