คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องบรรยายเล่าเรื่องว่า จำเลยได้ผลิตแป้งน้ำปิดรูปเครื่องหมายอักษรไทยว่า แพนเค้กน้ำ มีลักษณะรูปเครื่องหมายตัวอักษรสำเนียงเรียกเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์นำออกจำหน่าย ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เช่นนี้ เห็นได้ว่า คำฟ้องได้รวมการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 272(1) ไว้ด้วย และในคำขอท้ายฟ้องก็ระบุมาตรา 272 ไว้ แสดงให้เห็นเจตนาว่าประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรา 272(1) ด้วย
จำเลยที่ 2 – 3 รู้อยู่ดีแล้วว่า สินค้าเครื่องสำอางค์แป้งน้ำ PAN-CAKE ของโจทก์เป็นชื่อแพร่หลายคนรู้จักทั่วไป จำเลยจึงเอาคำว่า แพนเค้ก มาใช้กับสินค้าแป้งน้ำของจำเลยบ้างเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่า เป็นสินค้า PAN-CAKE ของโจทก์ จึงเป็นความผิดตามมาตรา 272 (1) ส่วนจำเลยที่ 4 – 5 เป็นเพียงผู้จำหน่าย ไม่ปรากฎว่าได้รู้ว่าสินค้านั้นเอาคำว่า PAN-CAKE ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้ จึงไม่มีความผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ ว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ใช้ปิดบนสินค้าเครื่องสำอางค์โดยมีรูปเครื่องหมายตัวอักษรไรมันว่า PAN-CAKE (แพนเค้ก) ต่อมาระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๕ ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง จำเลยทั้ง ร ได้ร่วมกันปลอม เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยผลิตแป้งน้ำปิดรูปเครื่องหมายอักษรไทยว่าแพนเค้กน้ำ มีลักษณะรูปเครื่องหมายตัวอักษรสำเนียงเรียกคล้าย เหมือน กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นำออกจำหน่าย ทำให้ประชาชนหลวงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การว่า จำเลยที่ ๒ – ๓ ได้ผลิตแป้งน้ำดีเซมเบอร์ออกจำหน่าย จำเลยที่ ๔ – ๕ เป็นเพียงผู้จำหน่ายสินค้าแป้งน้ำมิได้เหมือนหรือคล้ายคลึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่าแพนเค้ก เป็นคำธรรมดาสามัญ ไม่ทำให้ประชาชนหลงผิด แต่รับว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า PAN-CAKE จริง โจทก์จำเลยส่งสินค้าแพนเค้กและสินค้าแป้งน้ำดีเซมเบอร์ แล้วไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณารูปลักษณะสินค้า สลากชื่อ ภาชนะที่ใช้บรรจุสินค้าที่โจทก์จำเลยส่งแล้วเห็นว่า ไม่พอจะถือว่าจำเลยได้ทำปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
แต่ที่โจทก์บรรยายฟ้องเล่าเรื่องว่า จำเลยได้ผลิตแป้งน้ำปิดรูปเครื่องหมายอักษรไทยว่า แพนเค้กน้ำ มีลักษณะรูปเครื่องหมายตัวอักษร สำเนียงเรียก เหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นำออกจำหน่าย ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ นั้น เห็นได้ว่า ตามคำฟ้อง ได้รวมการกระทำอันเป็นความผิดตามความในมาตรา ๒๗๒(๑) ไว้ด้วย และคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๗๒ ไว้ เป็นการแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่า ประสงค์ที่จะให้ลงโทษตามมาตรานี้ด้วย และเห็นว่า การที่จำเลยนำเอาข้อความว่า แพนเค้กมาใช้เห็นได้ว่า จำเลยรู้ดีแล้วว่า สินค้าเครื่องสำอางค์แป้งน้ำ PAN-CAKE ของโจทก์นั้น เป็นชื่อแพร่หลายคนรู้จักทั่วไปแล้ว จำเลยจึงได้เอาคำว่า แพนเค้ก มาใช้กับสินค้าแป้งน้ำของจำเลย เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็น สินค้า PAN-CAKE ของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ ๒ – ๓ จึงเป็นผิดมาตรา ๒๗๒(๑)
จำเลยที่ ๔ – ๕ เป็นเพียงผู้จำหน่ายสินค้าของจำเลยเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าได้รู้ว่าสินค้านั้นเอาคำว่า PAN-CAKE เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้ จึงไม่มีความผิด
พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ ๒ – ๓ ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๒(๑) ปรับคนละหนึ่งพันบาท.

Share