แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 31และ61 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเมื่อการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ก็ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้จะต้องลงมติไปในทางใดทางหนึ่ง คือถ้าไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ก็ต้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าหนี้จะลงมติไม่ให้ลูกหนี้ล้มละลายทั้งที่ลูกหนี้ไม่ขอประนอมหนี้หาได้ไม่
ลูกหนี้ไม่ขอประนอมหนี้แต่เจ้าหนี้ลงมติไม่ให้ลูกหนี้ล้มละลาย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นตามมาตรา 36 ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมติที่ขัดต่อกฎหมายนั้นได้
เหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 14 นั้น เป็นข้อที่ศาลจะพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คือเมื่อมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลก็ไม่สั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว คำสั่งนั้นผูกพันลูกหนี้อยู่และอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ด้วย เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิจะอ้างมาตรา 14 มาเป็นเหตุขอให้พิพากษายกฟ้องหรือยกคำร้องขอให้ล้มละลายในชั้นนี้ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ชำระบัญชีของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ยื่นคำร้องขอให้บริษัทฯล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้มิได้ขอประนอมหนี้ ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกมีมติไม่ให้ลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามแล้ว
นางสาวศรีองุ่น เจ้าหนี้ยื่นคำร้องว่า มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งไม่ให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือพิพากษายกฟ้องตามมาตรา ๑๔
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๓๑ บัญญัติว่า เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย นอกจากนี้มาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติว่า เมื่อการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ก็ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย จากบทบัญญัติของกฎหมายทั้ง ๒ มาตราดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้จะต้องลงมติไปในทางใดทางหนึ่งกล่าวคือ ถ้าไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ก็ต้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายไปตามมาตรา ๖๑ เจ้าหนี้จะลงมติไม่ให้ลูกหนี้ล้มละลายทั้งที่ลูกหนี้ไม่ขอประนอมหนี้หาได้ไม่ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๓๑ และ ๖๑ ดังกล่าวแล้ว คดีนี้ลูกหนี้ไม่ขอประนอมหนี้แต่เจ้าหนี้ลงมติไม่ให้ลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๓๖ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมติที่ขัดต่อกฎหมายนั้น จึงเป็นการชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งนั้น
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องคดีนี้เสียตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔ เพราะมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้นศาลฎีกาเห็นว่า เหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา ๑๔ นั้นเป็นข้อที่ศาลจะพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด กล่าวคือเมื่อมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลก็ไม่สั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ แต่คดีนี้ศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดตามคำร้องขอของผู้ชำระบัญชีตั้งแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๓ แล้ว คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นได้ผูกพันบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ลูกหนี้ในคดีนี้อยู่และอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕(๑) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งจึงไม่มีสิทธิจะอ้างพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔ มาเป็นเหตุขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือยกคำร้องขอให้ล้มละลายของผู้ชำระบัญชีในชั้นนี้ได้ ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน