คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1678/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสอบสวนวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยของธนาคารออมสินมิใช่เป็นการประชุมที่ทางราชการกำหนด การที่สหภาพแรงงานธนาคารออมสินโจทก์ส่งผู้แทนเข้าสังเกตการณ์การสอบสวนดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 102 ผู้แทนโจทก์ที่เข้าสังเกตการณ์จึงไม่มีสิทธิลาโดยไม่ถือเป็นวันลา
ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการให้บำเหน็จหรือการลงโทษที่ต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 มาตรา 95 วรรคสองนั้น หมายถึงผู้มีอำนาจในการให้บำเหน็จความชอบหรือเป็นผู้มีอำนาจลงโทษลูกจ้างโดยตรง มิใช่เป็นเพียงผู้รายงานขอบำเหน็จความชอบหรือเสนอขอให้ลงโทษหรือกล่าวโทษพนักงานผู้กระทำผิดวินัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยนายวรวุทธิ์ สระสมศรี ในฐานะประธานกรรมการสอบสวนความผิดวินัยได้แจ้งให้โจทก์ส่งผู้แทนไปสังเกตการณ์กรณีนายจิตต์ แก้วโชติ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาฉวาง และนายบุญรักษ์ เลขะกุล พนักงานบัญชี สาขาฉวาง ถูกคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่า นายจิตต์และนายบุญรักษ์ เป็นสมาชิกของโจทก์ โจทก์จึงส่งนายเชิด นาคมณีและนายสมศักดิ์ ปานประภากร เป็นผู้แทนโจทก์ไปสังเกตการณ์สอบสวนโดยไม่ถือเป็นวันลา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อพิพาทแรงงานที่ ๔/๒๕๒๔ ระหว่างโจทก์กับจำเลยยืนตามคำวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ฉบับที่ ๗๕/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๔ ว่า “ข้อเรียกร้องข้อ ๑๕.๑ กรณีที่สมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารออมสินถูกคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัย ให้ผู้แทนสหภาพแรงงานซึ่งไม่ใช่ผู้ถูกสอบสวนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องที่สอบสวน จำนวนไม่เกิน ๒ คน เข้าสังเกตการณ์ได้เฉพาะการสอบปากคำของสมาชิกที่ถูกกล่าวหา” แต่จำเลยกลับมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าผู้แทนโจทก์ไม่มีสิทธิไปสังเกตการณ์การสอบสวนนายจิตต์ เพราะนายจิตต์มีอำนาจให้คุณให้โทษตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๕ วรรคสอง จึงไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกของโจทก์ คงให้ผู้แทนโจทก์เข้าสังเกตการณ์ได้เฉพาะรายนายบุญรักษ์เท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้ผู้แทนโจทก์เข้าสังเกตการณ์โดยไม่ถือเป็นวันลา ความจริงนายจิตต์มิใช่ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการจ้าง การเลิกจ้าง การลดค่าจ้าง การให้บำเหน็จหรือการลงโทษซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๕ วรรคสองแต่อย่างใด อำนาจดังกล่าวเป็นของคณะกรรมการธนาคารออมสินตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๑๗ การโต้แย้งของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้แทนโจทก์ไม่สามารถไปสังเกตการณ์ได้ การสอบสวนนายจิตต์และนายบุญรักษ์เป็นการฝ่าฝืนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อพิพาทแรงงานที่ ๔/๒๕๒๔ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าการสอบสวนนายจิตต์และนายบุญรักษ์เป็นโมฆะและให้ผู้แทนของโจทก์ไปสังเกตการณ์ได้โดยไม่ถือเป็นวันลา
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ไม่ส่งผู้แทนไปร่วมสังเกตการณ์การสอบสวนนายบุญรักษ์เป็นกรณีที่โจทก์สมัครใจงดเว้นไม่ใช้สิทธิคุ้มครองสมาชิกของโจทก์เอง ส่วนนายจิตต์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาฉวาง ซึ่งเทียบระดับผู้ช่วยหัวหน้ากองตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๑๒๓ ว่าด้วยวินัยของพนักงานธนาคารออมสินกำหนดไว้ว่า ผู้จัดการสาขามีอำนาจลงโทษผู้กระทำผิดวินัยที่ดำรงตำแหน่งพนักงานบัญชี พนักงานเงิน เสมียนและพนักงานบริการได้ไม่เกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์และ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับจึงไม่สามารถเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานได้ การที่โจทก์รับนายจิตต์เข้าเป็นสมาชิกเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ ส่วนที่เกี่ยวกับกรณีโจทก์ขอให้จำเลยถือเอาวันที่โจทก์ไปดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานโดยไม่ถือเป็นวันลานั้น โจทก์เคยยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยและไม่อาจตกลงกันได้จนเป็นข้อพิพาทแรงงาน คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาแล้วให้ยกข้อเรียกร้องดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชี้ขาดยืนตามคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะคัดค้านหรือฟ้องร้องคดีนี้
วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันดังนี้
นายจิตต์เป็นผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาฉวาง ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๗๑ ข้อ ๑๐, ๑๑ ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาเทียบตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้ากอง เดิมผู้จัดการธนคารออมสินสาขามีอำนาจลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๑๒๓ ปรากฏในบัญชีโทษหมายเลข ๒ ข้อสุดท้ายและได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ข้อ ๑๕ และ ๑๕.๑, ๑๕.๒ แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๑๒๓ ตามข้อตกลงดังกล่าวข้อ ๑๕ กำหนดให้มีคณะกรรมการสอบสวนก่อนมีคำสั่งลงโทษพนักงานที่กระทำผิดวินัย และข้อ ๑๕.๑ ให้มีคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาโทษพนักงาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดโทษและให้คณะกรรมการพิจารณาโทษวินัยพนักงานทำความเห็นเสนอผู้อำนวยการธนาคารออมสินเพื่อวินิจฉัยรับสั่งการต่อไป และโจทก์แถลงว่าตามข้อตกลงดังกล่าวผู้อำนวยการธนาคารออมสินแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มีอำนาจลงโทษพนักงานที่กระทำผิดวินัย จำเลยแถลงว่าเดิมผู้จัดการธนาคารออมสินสาขามีอำนาจลงโทษได้เมื่อมีข้อตกลงแล้วมีอำนาจหน้าที่รายงานกล่าวโทษ เมื่อพบว่าพนักงานได้กระทำความผิดและมีอำนาจเสนอการลงโทษด้วย แต่จะผิดตามที่เสนอหรือไม่จะถูกลงโทษเพียงใด ต้องแล้วแต่ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาโทษพนักงานและผู้อำนวยการธนาคารออมสิน โจทก์ยอมรับว่าเป็นความจริงตามที่จำเลยแถลงและโจทก์จำเลยแถลงรับกันดังกล่าว หลังจากเกิดเหตุเรื่องนายจิตต์แต่ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์จำเลยมีปัญหาโต้แย้งกันว่า ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขามีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือไม่ จำเลยได้หารือไปที่กรมแรงงานกรมแรงงานตอบมาว่าผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาเป็นพนักงานชั้นบังคับบัญชาไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โจทก์แถลงว่าโจทก์ไม่เห็นพ้องกับความเห็นของกรมแรงงานจึงมีหนังสือโต้แย้งไป
โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง พ.ศ. ๒๕๒๔ ข้อ ๑๒.๑ ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นหมายถึงผู้จัดการธนาคารออมสินสาขา เกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือนนั้นผู้จัดการธนาคารออมสินสาขา หรือผู้บังคับบัญชาชั้นต้น ไม่มีอำนาจตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑๒.๑(๔) ส่วนการเลื่อนเงินเดือนสองขั้นเป็นไปตามข้อ ๑๒.๒(๕) แต่จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาความดีความชอบอีกครั้งหนึ่ง และผู้อำนวยการธนาคารออมสินจะต้องนำเสนอที่ประชุมธนาคารออมสิน เพื่อพิจารณาอีกตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๑๗
จำเลยยอมรับว่านายบุญรักษ์ เลขะกุล เป็นสมาชิกของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายและถ้านายบุญรักษ์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์มีสิทธิส่งผู้สังเกตการณ์เข้าฟังการสอบสวนได้ แต่จำเลยเห็นว่าผู้สังเกตการณ์จะต้องลาและถือว่าเป็นวันลา จึงไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ของโจทก์เข้าฟังการสอบสวนโดยไม่ถือว่าเป็นวันลา โจทก์แถลงว่าโจทก์มีสิทธิส่งผู้สังเกตการณ์ไปฟังการสอบสวนได้โดยไม่ถือว่าเป็นวันลา โจทก์จำเลยยอมรับว่าจะถือว่าเป็นวันลาหรือไม่เป็นปรากฏตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อพิพาทแรงงานที่ ๔/๒๕๒๔ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและก่อนทำการสอบสวนจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่สอบสวนแล้ว ต่อมาผู้อำนวยการธนาคารออมสินอ้างว่านายจิตต์ไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายจิตต์เป็นลูกจ้างชั้นผู้บังคับบัญชาที่ไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ส่งผู้แทนเข้าสังเกตการณ์การสอบสวนความผิดทางวินัยของนายจิตต์ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อพิพาทแรงงานที่ ๔/๒๕๒๔ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนนายบุญรักษ์เป็นสมาชิกของโจทก์ แต่ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อพิพาทแรงงานที่ ๔/๒๕๒๔ ไม่มีข้อความใดที่อนุญาตให้โจทก์ส่งผู้แทนเข้าสังเกตการณ์การสอบสวนโดยไม่ถือเป็นวันลา เมื่อจำเลยได้แจ้งการสอบสวนให้โจทก์ทราบโดยชอบแล้ว โจทก์ไม่ส่งผู้แทนไปสังเกตการณ์การสอบสวนเอง โดยยกข้ออ้างที่ตนไม่มีสิทธิจะทำได้ตามกฎหมายก็เท่ากับโจทก์เป็นฝ่ายสละสิทธิไม่ส่งผู้แทนเข้าสังเกตการณ์ การสอบสวนไม่ตกเป็นโมฆะ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อพิพาทแรงงานที่ ๔/๒๕๒๔ มีข้อความเพียงว่าควรให้สหภาพแรงงานส่งผู้แทนเข้าสังเกตการณ์การสอบสวนปากคำสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งถูกกล่าวหาได้เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เท่านั้น มิได้มีข้อความใดให้เห็นว่าผู้แทนโจทก์ที่เข้าสังเกตการณ์การสอบสวนความผิดวินัย มีสิทธิลาไปโดยไม่ถือว่าเป็นวันลา การให้สิทธิโจทก์ส่งผู้แทนเข้าสังเกตการณ์ได้กับสิทธิที่จะลาไปสังเกตการณ์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นวันลานั้นเป็นคนละกรณีกัน และจะถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยไม่ยอมให้ผู้แทนโจทก์ลาไปสังเกตการณ์โดยไม่ถือว่าเป็นวันลาทำให้ผู้แทนโจทก์ไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์ได้เพราะจำเลยมิได้เป็นผู้ทำการใดที่เป็นการตัดสิทธิผู้แทนโจทก์ หากผู้แทนโจทก์ไม่เข้าสังเกตการณ์เพราะเป็นผู้ไม่ยอมปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและข้อบังคับของจำเลยเอง และการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อพิพาทแรงงานให้โจทก์มีสิทธิส่งผู้แทนเข้าสังเกตการณ์การสอบสวนความผิดวินัยได้เป็นเรื่องเปิดโอกาสให้โจทก์ทำหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิกและแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของฝ่ายจำเลย หาทำให้ถือว่าการสอบสวนซึ่งจำเลยจัดให้มีขึ้นเป็นการสอบสวนที่ทางราชการกำหนดไม่ การที่ผู้แทนโจทก์เข้าสังเกตการณ์การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยจึงมิใช่เป็นการไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๐๒ ผู้แทนโจทก์ผู้เข้าสังเกตการณ์จึงไม่มีสิทธิลาโดยไม่ถือว่าเป็นวันลา
ส่วนปัญหาว่านายโชติมิใช่ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการให้บำเหน็จหรือการลงโทษ จึงไม่ต้องห้ามที่จะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่านายโชติมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาฉวาง ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๗๑ ข้อ ๑๐, ๑๑ เทียบตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้ากอง เดิมตำแหน่งผู้จัดการธนาคารออมสินสาขามีอำนาจลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ ๑๒๓ ต่อมาได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ ข้อ ๑๕ ข้อ ๑๕.๑ และ๑๕.๒ แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบที่ ๑๒๓ โดยข้อตกลงข้อ ๑๕ กำหนดให้มีคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัย ทำการสอบสวนก่อน และ ข้อ ๑๕.๑ ให้มีคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการพิจารณาโทษพนักงาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดโทษและให้คณะกรรมการพิจารณาโทษวินัยพนักงานทำความเห็นเสนอผู้อำนวยการธนาคารออมสินเพื่อวินิจฉัยสั่งต่อไป และผู้อำนวยการธนาคารออมสินแต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจลงโทษพนักงานที่กระทำผิดวินัย จากข้อตกลงดังกล่าวนี้ทำให้ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แต่มีอำนาจกล่าวโทษเมื่อพบว่าพนักงานกระทำความผิดและมีอำนาจเสนอการลงโทษด้วย เกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขามีอำนาจตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑๒.๑(๔) ซึ่งมีข้อความว่า ในรอบปีที่แล้วมาผู้บังคับบัญชาชั้นต้นพิจารณาเห็นว่าปฏิบัติงานในหน้าที่อยู่ในเกณฑ์ไม่ดี ไม่มีผลงาน ไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ โดยผู้บังคับบัญชาชั้นต้นมีหนังสือตักเตือนเรื่องการปฏิบัติงานดังกล่าวเกินกว่า ๒ ครั้ง พนักงานผู้ถูกตักเตือนจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือน ส่วนการเลื่อนเงินเดือน ๒ ขั้น ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขามีอำนาจตาม ข้อ ๑๒.๒(๕) คือเป็นผู้เสนอขอให้แก่พนักงาน ๒ ขั้น เห็นว่าลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการให้บำเหน็จ หรือการลงโทษ ต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๕ วรรคสอง หมายถึงผู้ที่มีอำนาจในการให้บำเหน็จความชอบหรือผู้เป็นผู้มีอำนาจลงโทษลูกจ้างโดยตรง มิใช่เพียงเป็นผู้รายงานขอบำเหน็จหรือเสนอขอให้ลงโทษหรือกล่าวโทษพนักงานผู้กระทำผิดวินัย ถึงแม้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. ๒๕๒๔) ระหว่างธนาคารออมสินกับสหภาพแรงงานธนาคารออมสิน ข้อ ๑๒.๑(๔) นายโชติมีอำนาจทำหนังสือตักเตือนพนักงานผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาซึ่งปฏิบัติงานในหน้าที่อยู่ในเกณฑ์ไม่ดี ไม่มีผลงาน ไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ และผลจากการที่นายโชติมีหนังสือตักเตือนพนักงานเรื่องการปฏิบัติงานดังกล่าวเกินกว่า ๒ ครั้ง พนักงานผู้ถูกตักเตือนจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนก็ตาม แต่การมีหนังสือตักเตือนดังกล่าวเป็นเพียงการกระทำที่มีผลให้พนักงานผู้ถูกตักเตือนเป็นผู้อยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนจากผู้ที่มีอำนาจในการให้ขึ้นเงินเดือนหรือบำเหน็จพนักงานเท่านั้น หาใช่เป็นการแสดงว่านายโชติมีอำนาจในการให้บำเหน็จไม่ และการตักเตือนตามข้อตกลงดังกล่าวก็มิใช่โทษเพราะโทษผิดวินัยตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ ๑๒๓ ว่าด้วยวินัยของพนักงานธนาคารออมสินข้อ ๑๖ มีเพียง ๖ สถานคือ ไล่ออก ปลดออก ให้ออก ลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือนและภาคทัณฑ์ มิได้มีโทษสถานตักเตือนรวมอยู่ด้วย จึงถือไม่ได้ด้วยว่านายโชติมีอำนาจในการลงโทษพนักงาน ส่วนในกรณีที่นายโชติมีอำนาจเสนอขอให้เลื่อนเงินเดือนพนักงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ๒ ขั้นนั้น ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ปี พ.ศ. ๒๕๒๔) ระหว่างธนาคารออมสินกับสหภาพแรงงานธนาคารออมสิน ข้อ ๑๒.๒(๕) มีข้อความว่า “ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเป็นผู้เสนอขอให้ ๒ ขั้น แต่ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เว้นแต่กรณีที่พนักงานผู้ซึ่งถูกส่งไปช่วยปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นก็ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นเป็นผู้เสนอขอ” เป็นที่เห็นได้ว่านายโชติเพียงแต่เป็นผู้มีอำนาจเสนอขอเงินเดือนให้แก่พนักงานผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและยังจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาความดีความชอบอีกครั้งและผู้อำนวยการธนาคารออมสินจะต้องนำเสนอที่ประชุมกรรมการธนาคารออมสินเพื่อพิจารณาอีกตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๑๗ ดังที่โจทก์รับกัน นายโชติมิใช่เป็นผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาให้พนักงานผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลื่อนเงินเดือน ๒ ขั้นได้ จึงถือไม่ได้ว่านายโชติเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการให้บำเหน็จซึ่งต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ว่านายโชติเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการให้บำเหน็จและการลงโทษไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกของโจทก์ และให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่านายโชติเข้าเป็นสมาชิกของโจทก์เมื่อใด แล้วพิพากษาคดีตามประเด็นข้อ ๒ และข้อ ๔ ตามที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้ใหม่ตามรูปคดี

Share