คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 925/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีแพ่ง ศาลจะจะต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะแต่ข้อประเด็นที่คู่ความอ้างอิงยกขึ้นเป็นสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอันปรากฏตามฟ้องและคำให้การเหล่านั้น
ตามฟ้อง โจทก์กล่าวอ้างว่า นายฟูจิโอ ผู้จัดการสาขาในประเทศไทย ได้รับมอบหมายอำนาจให้ฟ้องคดีในรามบริษัทโจทก์ในญี่ปุ่นได้ โดยมีหนังสือมอบอำนาจเป็นหลักฐาน จะได้อ้างส่งศาลวันพิจารณา นายฟูจิโอมิได้อ้างว่าตนเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปและมีกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันความเสียหายของบริษัทโจทก์แต่อย่างไรเลย ต่อมาภายหลังที่จำเลยให้การตัดฟ้องและร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 แล้ว ทนายโจทก์จะอ้างหนังสือมอบอำนาจของบริษัทโจทก์ซึ่งเพิ่งมอบอำนาจขึ้นภายหลังวันที่นายฟูจิโอแต่งทนายยื่นฟ้องศาลแล้ว 9 วัน มาเพื่อแสดงว่านายฟูจิโอมีอำนาจแต่งทนายยื่นฟ้องแทนบริษัทโจทก์ได้หาไม่ และกรณีเช่นว่านี้หาเป็นกรณีฉุกเฉินประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 802 ไม่ เพราะการรู้ว่าบริษัทจะต้องเสียหายด้วยการเสียภาษีนั้น สาขาบริษัทได้รู้นับแต่วันรับแจ้งการประเมินแล้ว มีเวลาเพียงพอตามประมวลรัษฎากร ที่จะจัดการให้ได้รับมอบอำนาจให้การะทำการยื่นฟ้องต่อศาลได้ถ้าบริษัทโจทก์เห็นว่า การเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้องและติดใจจะยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อการอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร ไม่สำเร็จ
การที่นายฟูจิโอแต่ทนายยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว 9 วัน บริษัทโจทก์จึงได้ทำการมอบอำนาจให้นายฟูจิโอทำการยื่นฟ้องต่อศาลแทนบริษัทได้ ทั้งได้ให้สัตยาบันการกระทำที่แล้วมานั้นด้วย ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณา เพราะเมื่อนายฟูจิโอไม่มีอำนาจแต่งทนายยื่นฟ้องแทนบริษัทในเวลาที่ยื่นฟ้องนั้นแล้ว ฟ้องของโจทก์ก็ไม่เป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณามาแต่แรก ไม่มีทางใด ๆ ที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณามาแต่ต้น แม้จะได้มีการรับรองหรือให้สัตยาบันในภายหลังต่อมา ก็หากระทำให้ฟ้องที่เสียใช้ไม่ได้แล้วนั้น กลับคืนดีมาเป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณาในภายหลังได้ไม่ (อ้างฎีกาที่ 723-724/2503 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9/2502)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนและมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ ที่ประเทศญี่ปุ่น มีสาขาในพระนคร นายฟูจิโอ ฮาชิโมโต้ เป็นผู้จัดการสาขาในพระนคร ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีในนามบริษัทโจทก์ได้ โดยมีหนังสือมอบอำนาจเป็นหลักฐาน จะได้อ้างส่งในวันพิจารณา จำเลยได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากสาขาโจทก์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ และ ๒๔๙๙ รวมเป็นเงิน ๗๙,๓๓๗.๐๖ บาท ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยอดเงินที่จำเลยประเมินเรียกเก็บมานี้เป็นเงินที่สำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นได้รับจากผู้ซื้อสินค้าในประเทศไทย และเมื่อคำนวณดูผลกำไรในประเทศไทยแล้วไม่มีเลย โจทก์ได้อุทธรณ์ไปยังจำเลยตามประมวลกฎหมายรัษฎากร จำเลยได้วินิจฉัยชี้ขาดยกอุทธรณ์ของโจทก์เสีย โจทก์ถือว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว
จำเลยต่อสู้ว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีในนามของบริษัทโจทก์นั้น ถ้ามีอยู่จริงโจทก์ก็ต้องนำแสดงเวลายื่นฟ้องแล้ว แต่ตามฟ้องว่า จะส่งในวันพิจารณานั้น อาจยังไม่ได้ทำขึ้นหรือไม่ได้มีอยู่จริง หากสามารถส่งในวันพิจารณาได้ ก็เป็นเรื่องจัดทำขึ้นภายหลัง แต่ในขณะที่ยื่นฟ้องนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงต่อศาล อำนาจฟ้องคดีแทนยังไม่เกิดขึ้น จึงขอคัดค้านว่า นายฟูจิโอ ฮาชิโมโต้ ไม่มีอำนาจฟ้อง
ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องว่า ทนายโจทก์ได้ส่งสำเนาเอกสารหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยทราบล่วงหน้าตามเอกสารปรากฏชัดว่าบริษัทอาตาก้า จำกัด ได้มอบอำนาจให้นายฟูจิโอ ฮาชิโมโต้ ดำเนินการฟ้องและต่อสู้คดีแทน บริษัทอาตาก้า จำกัด โดยหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๐๒ ปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๐๒ โดยทนายความซึ่งนายฟูจิโอ ฮาชิโมโต้ ทำหนังสือตั้งลงนามเป็นโจทก์ก่อนบริษัทอาตาก้า จำกัด มอบอำนาจให้ฟ้องคดีในนาม บริษัทอาตาก้า จำกัด การลงนามแต่งตั้งทนายในคดีนี้จึงมิชอบ ขอให้ศาลแพ่งชี้ขาดเบื้อต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ เกี่ยวกับอำนาจฟ้องเสียก่อน
ศาลแพ่งมีคำสั่งว่า นายฟูจิโอ ฮาชิโมโต้ ผู้จัดการ สาขาบริษัทโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ เพราะเป็นกรณีฉุกเฉินที่ตัวแทนต้องกระทำไปก่อนเพื่อป้องกันความเสียหายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๒ และกรณีนี้ตัวการก็ได้ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับหลัง ให้สัตยาบันการกระทำที่ล่วงมาแล้วทั้งหมด การฟ้องคดีจึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๓ ให้ยกคำร้องจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยข้อวินิจฉัยทำนองเดียวกัน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ในคดีแพ่งนั้นศาลจะจะต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะแต่ข้อประเด็นที่คู่ความอ้างอิงยกขึ้นเป็นสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอันปรากฏตามฟ้องและคำให้การ ที่โจทก์กล่าวอ้างว่า นายฟูจิโอ ผู้จัดการสาขาในประเทศไทย ได้รับมอบหมายอำนาจให้ฟ้องคดีในรามบริษัทโจทก์ในญี่ปุ่นได้ โดยมีหนังสือมอบอำนาจเป็นหลักฐาน จะได้อ้างส่งศาลวันพิจารณา นายฟูจิโอมิได้อ้างว่าตนเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปและมีกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันความเสียหายของบริษัทโจทก์แต่อย่างไรเลย ครั้นเมื่อทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๒ ทนายโจทก์ก็ได้ส่งสำเนาเอกสารหนังสือมอบอำนาจ ปรากฏว่าบริษัทอาตาก้า จำกัด เพิ่งได้มอบอำนาจโดยหนังสือลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๐๒ ซึ่งการมอบอำนาจนั้น ได้มีขึ้นภายหลังวันที่นายฟูจิโอแต่งทนายยื่นฟ้องศาลแล้ว ๙ วัน ภายหลังนั้นโจทก์จึงได้ยื่นคำแถลงว่า ความจริงนายฟูจิโอ ฮาชิโมโต้ ก็มีหนังสือมอบอำนาจอยู่ โดยคัดสำเนาและทำคำแปลขึ้นมาใหม่ท้ายคำแถลงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลไม่อาจรับข้ออ้างใหม่ที่โจทก์อาศัยเป็นหลักฟ้องจำเลยนี้มาพิจารณาวินิจฉัยได้ เพราะ
ได้กล่าวอ้างขึ้นมาภายหลังที่จำเลยให้การตัดฟ้องและร้องขอให้วินิจฉัยเบื้องต้นก่อนตาม กรณีเช่นว่านี้หาเป็นกรณีฉุกเฉินประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๒
ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จับเอาเวลาที่จำเลยที่ ๒ สั่งยกอุทธรณ์ มาเป็นวันตั้งต้นนับเวลาที่นายฟูจิโอ ฮาชิโมโต ได้รู้ว่าบริษัทอาตาก้า จำกัด จะต้องเสียหายนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการรู้ว่าบริษัท จะต้องเสียหายด้วยการเสียภาษีนั้น สาขาบริษัทได้รู้นับแต่วันรับแจ้งการประเมินแล้ว มีเวลาเพียงพอตามประมวลรัษฎากร ที่จะจัดการให้ได้รับมอบอำนาจให้การะทำการยื่นฟ้องต่อศาลได้ถ้าบริษัทอาตาก้า จำกัด เห็นการเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้องและติดใจจะยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อการอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร ไม่สำเร็จ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า กรณีไม่เป็นเหตุฉุกเฉินตามมาตรา ๘๐๒ อีกด้วย
ปัญหาในคดีคงมีแต่ว่า การที่นายฟูจิโอ ฮาชิโมโต แต่งทนายยื่นฟ้องแล้ว ๙ วัน บริษัทอาตาก้า จำกัด จึงได้ทำการมอบอำนาจให้นายฟูจิโอ ฮาชิโมโตทำการยืนฟ้องต่อศาลแทนบริษัทได้ ทั้งได้ให้สัตยาบันการกระทำที่แล้วมานั้นด้วยจะใช้ได้เพียงไรหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อนายฟูจิโอ ฮาชิโมโต้ ไม่มีอำนาจแต่งทนายยื่นฟ้องแทนบริษัทในเวลาที่ยื่นฟ้องนั้นแล้ว ฟ้องของโจทก์ก็ไม่เป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณามาแต่แรก ไม่มีทางใด ๆ ที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณามาแต่ต้น แม้จะได้มีการรับรองหรือให้สัตยาบันในภายหลังต่อมา ก็หากระทำให้ฟ้องที่เสียใช้ไม่ได้แล้วนั้น กลับคืนดีมาเป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณาในภายหลังได้ไม่ (อ้างฎีกาที่ ๗๒๓-๗๒๔/๒๕๐๓ ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ ๙/๒๕๐๒)
คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ๆ พิพากษากลับ เป็นในยกฟ้องโจทก์

Share