คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9248/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ตั้งรูปคดีโดยบรรยายฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่และขอผ่านที่ดินของจำเลยที่ล้อมที่ดินของโจทก์เพื่อเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะ มิได้บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของจำเลยตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอม ซึ่งจำเลยต้องยอมรับภาระบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ตามคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยก็ต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่มีสิทธิใช้ทางจำเป็น แต่ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิใช้ได้ ก็ขอให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านให้แก่จำเลยแม้โจทก์จะให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์และต่อสู้คดีว่าจำเลยควรได้รับค่าทดแทนเพื่อความเสียหายในการใช้ทางเพียงครั้งเดียวไม่เกิน 20,000 บาท ก็ตาม แต่โจทก์มิได้ขอแก้ไขคำฟ้องเพื่อเพิ่มเติมให้มีประเด็นในเรื่องทางภาระจำยอม คำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์จึงมีประเด็นข้อพิพาทแต่เฉพาะเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นเท่านั้น ปํญหาที่ว่าที่ดินของจำเลยตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี
ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งมีแนวเขตติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3481 และสามารถใช้ถนนคอนกรีตในที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นทางจำเป็นผ่านออกสู่ทางสาธารณะได้ ต่อมามีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่ออกเป็นแปลงย่อยจึงทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นที่แบ่งแยกล้อมอยู่จนไม่มีทางออก กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1350 โจทก์ก็ชอบที่จะใช้ที่ดินซึ่งแบ่งแยกออกมาและกันไว้เป็นทางไปยังถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ 3481 เพื่อออกสู่ทางสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนได้อยู่แล้ว โจทก์จะเลือกใช้ทางผ่านที่ดินแปลงอื่นของจำเลยไม่ได้
โจทก์มีสิทธิใช้ถนนบนที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย แม้มีการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวของจำเลยไปเป็นของผู้อื่น โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นตาม ป.พ.พ มาตรา 1349 ศาลจึงไม่จำต้องกำหนดให้จำเลย
จดทะเบียนสิทธิทางจำเป็นแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่กั้นบริเวณด้านทิศตะวันออกของที่ดินทั้งสองเป็น ความยาว ๓๒ เมตร เพื่อเปิดทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง รื้อถอนเสาคอนกรีต ขนย้ายวัสดุที่ขวางกั้นที่ดิน ของจำเลยทั้งสองแปลงออกไป ให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ ด้านทิศตะวันออกของที่ดิน ของโจทก์ทั้งสองกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร ไปจดที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางจำเป็นในที่ดินจำเลยทั้งสองแปลงแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๙๗๖๔ ของโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียน ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีต เสาคอนกรีต และขนย้ายวัสดุที่ขวางกั้นออกไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ จำเลยมีสิทธิปิดกั้นสร้างกำแพงในที่ดินของจำเลยได้ และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หากศาลเห็นว่าโจทก์มีสิทธิใช้ที่ดิน โฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ เป็นทางจำเป็น ก็ไม่ควรมีความกว้างเกิน ๑ เมตร และยาวตามแนวกำแพงไปจดถนนในที่ดิน โฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ และโจทก์ทั้งสองต้องใช้ค่าทดแทนในการใช้ทางแก่จำเลยเดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง แต่หากศาลพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นก็ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทนในการใช้ทางจำเป็นเดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลย นับแต่วันที่มีคำพิพากษาเป็นต้นไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ ของจำเลยเป็นทางภาระจำยอม ซึ่งเจ้าของที่ดินข้างเคียง ทั้งเจ้าของที่ดินเดิมโฉนดเลขที่ ๒๑๗๔๒ ก่อนแบ่งแยกใช้เป็นทางเข้าออกกว้าง ๖ เมตร สู่ถนนสาธารณะมาเป็นเวลา ๕๐ ปีแล้ว จำเลยควรได้รับค่าทดแทนในการใช้ทางเพียงครั้งเดียวไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ และ ๑๑๔๙๔ ให้จำเลยรื้อถอนกำแพง ทางด้านทิศตะวันออกของโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ บริเวณหน้าที่ดินโจทก์ทั้งสองกว้าง ๕ เมตร โดยให้โจทก์จ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ก่อน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเปิดทางจำเป็นเฉพาะในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ ให้จำเลย รื้อถอนกำแพงคอนกรีตในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ ดังกล่าวด้านติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๗๔๒ จากสุดกำแพงคอนกรีตด้านทิศเหนือไปทิศใต้ยาว ๘ เมตร คำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตเปิดทางจำเป็นในที่ดิน โฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและ ชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๙๗๖๔ ของโจทก์ทั้งสองถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ ต่อมาเมื่อประมาณปลายเดือนมกราคม ๒๕๓๙ โจทก์ทั้งสองนำรถยนต์บรรทุกดินผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ และ ๑๑๔๙๔ ของจำเลยเข้าไปถนนที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดีวยวกันจำเลยก่อสร้างกำแพงคอนกรีตตามแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ ด้านที่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๗๔๒ มีความยาวตลอดแนวเขตที่ดิน ของจำเลย และปักเสาคอนกรีตระหว่างที่ดินของจำเลยทั้งสองแปลง ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ และ ๑๑๔๙๔ ของจำเลยเป็นทางเข้าออกระหว่างที่ดินของโจทก์ทั้งสองกับทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ และ ๑๑๔๙๔ เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๙๗๖๔ มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ ของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่ ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ว่า นอกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ จะเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว ที่ดินแปลงดังกล่าวยังอยู่ภายใต้ภาระจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๗๔๒ และที่ดินแปลงอื่นด้วย เนื่องจากเจ้าของเดิมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๗๔๒ และผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงอื่นต่างใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ เป็นทางเข้าออกนานแล้วจนได้สิทธิในภาระจำยอมด้วยผลแห่งกฎหมาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๗๔๒ ย่อมได้สิทธิในภาระจำยอมนั้นและสิทธิใช้ที่ดิน โฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ เป็นทางเข้าออกได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองตั้งรูปคดีโดยบรรยายฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๙๗๖๔ ของโจทก์ทั้งสองถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงถนนประชาราษฎร์อันเป็นทางสาธารณะ และขอผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ และ ๑๑๔๙๔ ของจำเลยที่ล้อม ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเพื่อเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะดังกล่าว โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของจำเลยอยู่ ภายใต้ภาระจำยอม ซึ่งจำเลยต้องยอมรับภาระบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองตั้งประเด็นมาแต่เฉพาะการใช้สิทธิในเรื่องทางจำเป็นเท่านั้น ไม่มีประเด็นถึงเรื่องการได้มาซึ่งสิทธิภาระจำยอมด้วยอำนาจของกฎหมายแต่ประการใด นอกจากนี้ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยก็เป็นเรื่องที่จำเลยต่อสู้คดีว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ ของจำเลย แต่ถ้าศาลพิพากษาให้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ได้ก็ขอให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านแก่จำเลย เดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท แม้โจทก์ทั้งสองจะให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง และต่อสู้คดีว่า จำเลยควรได้รับค่าทดแทนเพื่อความเสียหายในการใช้ทางเพียงครั้งเดียวไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ก็ตาม เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ขอแก็ไขคำฟ้องเพื่อเพิ่มเติมให้มีประเด็นในเรื่องภาระจำยอม คำให้การ แก้ฟ้องแย้งของโจทก์ทั้งสองจึงมีประเด็นข้อพิพาทเฉพาะเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นเท่านั้น ไม่ก่อ ให้เกิดประเด็นในเรื่องภาระจำยอมแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองคงตระหนักดีถึงเหตุในข้อนี้ เพราะในชั้นชี้สองสถาน ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเฉพาะเรื่องทางจำเป็น โดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องทางภาระจำยอมด้วยนั้น โจทก์ทั้งสองก็มิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นแต่ประการใด คงดำเนินกระบวนพิจารณาไกตามประเด็นข้อพิพาทเท่าที่ ศาลชั้นต้นกำหนด ปัญหาที่ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองหรือไม่จึงเป็นประเด็นแห่งคดี
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๙๗๖๔ ของโจทก์ทั้งสองถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มี ทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ ของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๙ นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใด โต้เถียงว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๗๔๒ ซึ่งมีแนวเขตทางทิศตะวันออกทางด้านใต้ติดกับถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ และสามารถใช้ถนนคอนกรีตดังกล่าวผ่านออกสู่ทางสาธารณะได้ ต่อเมื่อมีการรังวัดแบ่งเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๗๔๒ ออกเป็นแปลงย่อย จึงทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๗๙๗๖๔ ของโจทก์ทั้งสองถูกที่ดินแปลงอื่นที่แบ่งแยกในครั้งนั้นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ เพื่อผ่านที่ดินของผู้อื่นไปสู่ถนนประชาราษฎร์อันเป็นทางสาธารณะ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๕๐ ที่บัญญัติว่า “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือ แบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน” ดังนั้น แม้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองจะถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะผ่านที่ดินของโฉนดเลขที่ ๒๑๗๔๒ ซึ่งแบ่งแยกออกมาและกันไว้เป็นทางกว้างประมาณ ๓ เมตร ไปยังถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ เพื่อออกสู่ทางสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่า ทดแทน โจทก์ทั้งสองจะเลือกใช้ทางผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๙๔ ของจำเลยไม่ได้
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ ของจำเลยเป็นทางจำเป็นเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะก็ย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ถนนบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๘๑ เป็นทางจำเป็นด้วยอำนาจ แห่งกฎหมายแม้มีการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวของจำเลยไปเป็นของผู้อื่นโจทก์ทั้งสองก็ยังคงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นอยู่นั่นเอง ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๙ จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดให้จำเลยจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็นตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share