คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 924/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาคัดค้านว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดฐานร่วมกัน บุกรุกเคหสถานของผู้เสียหาย โดยมีอาวุธและในเวลากลางคืน ซึ่งข้อหานี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า จำเลยกับพวกมิได้กระทำ ความผิดและยุติแล้ว จึงเป็นการฎีกาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้น ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จำเลยกับพวกร่วมกันเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายอีกคนหนึ่งในเวลาประมาณเที่ยงคืนในขณะที่ผู้เสียหายดังกล่าว เข้านอนแล้ว แม้จะมีเจตนาเพียงตามหาคนโดยไม่ได้แสดงอาการ ข่มขู่หรือทำร้ายผู้เสียหายดังกล่าวก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการ เข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นการกระทำความผิดตามข้อหา ที่โจทก์กล่าวอ้างแล้ว แม้ผู้เสียหายจะเบิกความว่าไม่กลัวต่อการขู่เข็ญของจำเลย ก็ตาม แต่ตามลักษณะการกระทำของจำเลยที่ใช้อาวุธปืนขู่ ผู้เสียหาย มิให้เกี่ยวข้องห้ามปรามหรือหยุดยั้งการกระทำของ จำเลยทั้งสามกับพวก โดยปกติย่อมทำให้เกิดความกลัวหรือ ความตกใจและผู้เสียหายก็ไม่กล้าขัดขืนหรืออีกนัยหนึ่งยอมปฏิบัติตามคำขู่เข็ญ แสดงให้เห็นได้ในตัวว่าการขู่เข็ญของจำเลยทำให้เกิดผลคือทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวแล้วการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว หรือตกใจโดยการขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 แล้ว จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเคหสถานและข่มขืนใจผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 364 และมาตรา 309 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดทั้งสองฐานมีโทษเท่ากัน จึงลงโทษเพียงบทเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 364, 365, 309, 391, 392, 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 364,365(2)(3), 391 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 309 วรรคสอง, 391 ประกอบมาตรา 83, 392 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษฐานบุกรุกบ้านผู้เสียหายที่ 3 ตามมาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 364จำคุกคนละ 2 ปี ฐานบุกรุกบ้านผู้เสียหายที่ 1 และข่มขืนใจ ผู้เสียหายที่ 4 ตามมาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 364, 309 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 309 วรรคสองเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปีฐานใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายที่ 4 ตามมาตรา 391 จำคุกคนละ 1 เดือนรวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 4 ปี 1 เดือน จำเลยที่ 3กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนใจผู้อื่น จำคุก 2 ปีฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น จำคุก 1 เดือน และฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวโดยการขู่เข็ญ จำคุก 1 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3มีกำหนด 2 ปี 2 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในข้อหาบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายที่ 3นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา และจำเลยทั้งสามฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยทั้งสามนำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดฐานบุกรุกเคหสถานโดยการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของนางสังวร คล้ายเพชร ผู้เสียหายที่ 2 โดยปกติสุข โดยมีอาวุธและในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3)ประกอบมาตรา 362 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำความผิดฐานบุกรุกเคหสถานโดยการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของนายสมบัติ อยู่ดีผู้เสียหายที่ 1 และของนางพวงเพ็ญ พูลนาค ผู้เสียหายที่ 3โดยปกติสุข โดยมีอาวุธและในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 362 แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายที่ 4 โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2กระทำความผิดฐานร่วมกันเข้าไปในเคหสถานของนางพวงเพ็ญ พูลนาคผู้เสียหายที่ 3 โดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยมีอาวุธและในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 364 หรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดข้อหานี้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำความผิดข้อหาดังกล่าว โจทก์จึงฎีกา แต่เมื่อพิจารณาฎีกาของโจทก์โดยตลอดแล้ว เห็นว่า โจทก์ฎีกา สรุปคัดค้านว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกัน บุกรุกเคหสถานโดยการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวน การครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของนางพวงเพ็ญ พูลนาค ผู้เสียหายที่ 3 โดยปกติสุข โดยมีอาวุธและในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 362 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำความผิดข้อหานี้และยุติแล้ว โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ดังนั้น การที่โจทก์ยกขึ้นฎีกาคัดค้านข้อหาที่ยุติแล้วในชั้นฎีกานี้จึงเป็นการฎีกาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งต้องห้ามฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ย่อมไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันเข้าไปในเคหสถานของนายสมบัติ อยู่ดี ผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืน โดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 364 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 ในเวลาประมาณเที่ยงคืนในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 นอนแล้ว แม้จะมีเจตนาเพียงตามหานายพเนตร์ อยู่ดี ผู้เสียหายที่ 4 โดยไม่ได้แสดงอาการข่มขู่หรือทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ก็ตามก็ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการกระทำความผิดตามข้อหาที่โจทก์ฟ้องแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาวินิจฉัยต่อไปในประการที่สอง จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานโดยมีอาวุธข่มขืนใจนายพเนตร์ อยู่ดี ผู้เสียหายที่ 4 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายที่ 4 ต้องกระทำตามและจำยอมต้องไปด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 5 และนายประจวบ อยู่ดี ที่จำเลยทั้งสามอ้างในฎีกาว่าแตกต่างกันจนรับฟังเป็นความจริงไม่ได้นั้น เป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียดหาใช่ข้อแตกต่างที่เป็นข้อสาระสำคัญไม่ พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้มั่นคงว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดข้อหานี้ตามที่โจทก์ฟ้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามก็ฟังไม่ขึ้น ปัญหาวินิจฉัยต่อไปในประการที่สามสุดท้าย จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานทำให้นายโกเมศ อยู่ดี ผู้เสียหายที่ 5 เกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 หรือไม่ เห็นว่าแม้ผู้เสียหายที่ 5 จะเบิกความว่าไม่กลัวต่อการขู่เข็ญของจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่ตามลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ใช้อาวุธปืนขู่ผู้เสียหายที่ 5 มิให้เข้าเกี่ยวข้องห้ามปรามหรือหยุดยั้งการกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวก โดยปกติย่อมทำให้เกิดความกลัวหรือความตกใจ และผู้เสียหายที่ 5 ก็ไม่กล้าขัดขืนหรืออีกนัยหนึ่งยอมปฏิบัติตามคำขู่เข็ญ แสดงให้เห็นได้ในตัวว่าการขู่เข็ญของจำเลยที่ 3 ทำให้เกิดผลคือทำให้ผู้เสียหายที่ 5 เกิดความกลัวแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตามข้อหาที่โจทก์ฟ้องแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสองและมาตรา 365(2)(3) มีอัตราโทษเท่ากัน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 309 วรรคสอง เพียงบทเดียวและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามมาโดยมิได้แก้ไขจึงไม่ถูกต้องสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานบุกรุกบ้านผู้เสียหายที่ 1 และข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 364 และมาตรา 309 วรรคสอง ของจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทและความผิดทั้งสองฐานนี้มีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามมาตรา 309 วรรคสอง เพียงบทเดียวนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share