แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะ ท.ทำคำขอประกันชีวิตกับบริษัทจำเลยท.มีภูมิลำเนาอยู่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรีในเขตอำนาจศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ในวันทำคำขอเอาประกันชีวิต ส.พนักงานของจำเลยไปอธิบายรายละเอียด ผลประโยชน์และเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่บ้านอันเป็นภูมิลำเนา ของ ท. และพนักงานของจำเลยเป็นผู้กรอกรายละเอียดในคำขอประกันชีวิตให้ ท.ลงลายมือชื่อพร้อมทั้งพาท.ไปตรวจสุขภาพที่คลีนิคแพทย์ในตลาดวังน้ำเย็น แพทย์ได้ทำรายงานตามใบตรวจสุขภาพ ส. ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ด้วยแล้ว ส. ส่งเอกสารดังกล่าวให้บริษัทจำเลยที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครพิจารณาออกกรมธรรม์ให้แก่ ท. และต่อมาจำเลยตกลงรับประกันชีวิตกับ ท. ถือได้ว่ามูลคดีจากการทำสัญญาประกันชีวิตรายนี้เกิดที่ภูมิลำเนาของ ท.ที่อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดกบินทร์บุรีได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) ก่อนทำสัญญาประกันชีวิต ท. ได้เคยให้แพทย์ตรวจรักษาร่างกายจากการตรวจร่างกายประกอบกับการเอกซเรย์ปอดแล้วแพทย์พบว่าท. น่าจะเป็นวัณโรคปอดจึงได้รักษา ท.ต่อเนื่องกันประมาณ5เดือนแล้วท.ขาดการติดต่อหลังจากนั้น ท.มาพบแพทย์อีกโดยท.มีอาการไอหอบ แพทย์จึงทำการตรวจรักษาและให้ยาไปรับประทาน การที่ ท. ได้ทำคำขอเอาประกันชีวิตโดยไม่ปรากฏว่า ท. ได้แจ้งว่า เคยเป็นวัณโรคปอดมาก่อน จำเลยย่อมไม่ทราบว่า ท. เคยเป็นวัณโรคปอดและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่งการใช้เงิน ย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตนต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ การที่ ท. ผู้เอาประกันชีวิตป่วยเป็นวัณโรคปอดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็นเวลานาน แต่มิได้แจ้งข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทราบเมื่อขอเอาประกันชีวิต ซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิตสัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิที่บอกล้างนิติกรรมดังกล่าวได้ โดยมิต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่ความตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใดเมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2535 นายทวีสุวรรณเลิศ ได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลย ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2535 นายทวีถึงแก่กรรม โจทก์แจ้งขอรับเงินตามสัญญา แต่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินพร้อมทั้งบอกล้างสัญญาขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ภูมิลำเนาจำเลยและมูลคดีเกิดในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น สัญญาประกันชีวิตที่จำเลยทำให้นายทวีตกเป็นโมฆียะกรรมเพราะนายทวีละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงให้จำเลยทราบก่อนหรือขณะทำสัญญาว่า เคยป่วยเป็นวัณโรคปอดมาก่อน เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญานั้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน150,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ศาลชั้นต้นรับมาว่าโจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้หรือไม่ และสัญญาประกันชีวิตตามฟ้องตกเป็นโมฆียะหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า ขณะนายทวี สุวรรณเลิศ ทำคำขอประกันชีวิตกับจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 นายทวีมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 439หมู่ที่ 1 ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรีในวันทำคำขอเอาประกันชีวิต นายสมศักดิ์ อึ้งประเสริฐกับนายสุนันท์ ขำโคกกรวด พนักงานของจำเลยไปอธิบายรายละเอียดผลประโยชน์และเงื่อนไขของกรมธรรม์แบบเจริญกรุง 175ที่บ้านของนายทวีและนายสมศักดิ์เป็นผู้กรอกรายละเอียดในเอกสารหมาย ล.2 แล้วให้นายทวีลงลายมือชื่อพร้อมทั้งพานายทวีไปตรวจสุขภาพที่คลีนิคนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ซึ่งตั้งอยู่ในตลาดวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว แพทย์ได้ทำรายงานตามใบตรวจสุขภาพเอกสารหมาย ล.3 นายสมศักดิ์ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ด้วย แล้วจึงส่งเอกสารดังกล่าวให้สำนักงานใหญ่ของจำเลยพิจารณาออกกรมธรรม์ให้นายทวี ซึ่งต่อมาจำเลยตกลงรับประกันชีวิตกับนายทวีตามเอกสารหมาย ล.4 เห็นว่า นายสมศักดิ์กับนายสุนันท์พนักงานของจำเลยหรือตัวแทนของจำเลยเป็นผู้ไปอธิบายรายละเอียดผลประโยชน์และเงื่อนไขของกรมธรรม์ให้นายทวีฟังที่บ้านของนายทวี เมื่อนายทวีได้รับฟังคำอธิบายของพนักงานจำเลยแล้วก็ตกลงใจที่จะเอาประกันชีวิตกับจำเลย พนักงานของจำเลยดังกล่าวจึงเอาคำขอเอาประกันชีวิตให้นายทวีลงลายมือชื่อ โดยนายสมศักดิ์เป็นผู้กรอกรายละเอียดในคำขอให้ จากนั้นพนักงานของจำเลยยังได้พานายทวีไปตรวจสุขภาพที่คลีนิคแพทย์ซึ่งตั้งอยู่ในตลาดน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว อีกด้วย ต่อจากนั้นพนักงานของจำเลยได้นำเอาคำขอเอาประกันชีวิตของนายทวีพร้อมด้วยรายงานของแพทย์ส่งให้สำนักงานใหญ่ของจำเลย ซึ่งต่อมาจำเลยตกลงรับประกันชีวิตกับนายทวี ถือได้ว่ามูลคดีจากการทำสัญญาประกันชีวิตรายนี้เกิดที่ภูมิลำเนาของนายทวี ตำบลวังน้ำเย็นอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดกบินทร์บุรีคือศาลชั้นต้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1)
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไป สัญญาประกันชีวิตตามฟ้องตกเป็นโมฆียะหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2534 นายทวีได้เคยให้นายแพทย์สมรักษ์จันทรา ตรวจรักษาร่างกาย จากการตรวจร่างกายประกอบกับการเอกซเรย์ปอดแล้ว พบว่านายทวีน่าจะเป็นวัณโรคปอดนายแพทย์สมรักษ์ได้รักษานายทวีต่อเนื่องกันประมาณ 5 เดือนแล้วนายทวีขาดการติดต่อ จนกระทั่งวันที่ 7 มีนาคม 2535นายทวีมาพบนายแพทย์สมรักษ์อีก มีอาการไอ หอบนายแพทย์สมรักษ์จึงทำการตรวจรักษาและให้ยาไปรับประทานต่อมานายทวีได้ทำคำขอเอาประกันชีวิตโดยนายสมศักดิ์พนักงานของจำเลยเป็นผู้กรอกรายละเอียดตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งคำขอดังกล่าวไม่ปรากฏว่านายทวีได้แจ้งว่า เคยเป็นวัณโรคปอดมาก่อน จำเลยจึงไม่ทราบว่านายทวีผู้เอาประกันชีวิตเคยเป็นวัณโรคปอด จนกระทั่งนายทวีถึงแก่กรรมแล้ว พนักงานของจำเลยถึงได้ตรวจสอบพบว่านายทวีเคยเป็นวัณโรคปอดก่อนทำคำขอเอาประกันชีวิตกับจำเลย เห็นว่า ในสัญญาประกันชีวิตนั้นการใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่งเป็นสำคัญ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่งก็บัญญัติว่า บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตนต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ การที่นายทวีผู้เอาประกันชีวิตป่วยเป็นวัณโรคปอดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็นเวลานานแต่มิได้แจ้งข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทราบเมื่อขอเอาประกันชีวิตซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิที่บอกล้างนิติกรรมดังกล่าวได้ โดยมิต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่ความตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใด ดังนั้นเมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยจึงชอบที่จะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้ เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาอันเป็นโมฆียะแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์