คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9213/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้และห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ฯลฯ ดังนั้นเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 2 จึงหมดอำนาจที่จะจัดการหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตน อำนาจดังกล่าวย่อมตกแก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนจำนองที่ดินแก่ผู้คัดค้านในวันที่29 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การจดทะเบียนจำนองจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนการจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 แก่ผู้คัดค้านจึงเสียเปล่าเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันคู่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24เป็นบทบังคับเด็ดขาด แม้ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนรับจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 ในเวลาที่ยังไม่ประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและผู้คัดค้านไม่ทราบว่าก. คือ จำเลยที่ 2 ที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามประกาศดังกล่าว ผู้คัดค้านก็ไม่อาจยกความสุจริตขึ้นอ้างเพื่อลบล้างบทกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อการจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2เป็นโมฆะจึงเป็นความเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรกไม่มีผลใด ๆ เกิดขึ้นตามกฎหมาย ในกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าที่ดินของจำเลยที่ 2 จำนองเพื่อประกันการชำระหนี้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านไม่อาจอ้างได้ว่ามีสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้ จึงไม่มีกรณีที่จะให้ผู้คัดค้านได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยให้ผู้คัดค้านได้รับการชดใช้หนี้เงินกู้และหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้ร้องในฐานลาภมิควรได้ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการจำนองที่ผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2534 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 2 ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นนายกรัณย์ งามรัตนกาญจน์หรือโกสุมาภาได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 42809 และ 42810พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้คัดค้าน เป็นประกันหนี้อันเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 ไว้เด็ดขาด จำเลยที่ 2ไม่มีอำนาจกระทำได้เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 22 และมาตรา 24แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาจำนองดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินโฉนดทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและกลับสู่ฐานะเดิม โดยให้ผู้คัดค้านไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนา
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ทราบว่านายกรัณย์ งามรัตนกาญจน์หรือโกสุมาภา กับจำเลยที่ 2จะเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2531นายกรัณย์ งามรัตนกาญจน์หรือโกสุมาภา เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับผู้คัดค้านและต่อมาเมื่อวันที่29 พฤศจิกายน 2532 ได้ทำสัญญากู้เงินจำนวน500,000 บาท และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน500,000 บาท จากผู้คัดค้าน โดยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่42809 และ 42810 เป็นประกันในวงเงิน 1,000,000 บาทผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินดังกล่าวโดยสุจริตไม่ทราบว่านายกรัณย์มีชื่อเดิมว่านายเกรียงไกร ดำรงค์ไชยและไม่ทราบว่านายกรัณย์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเพราะในประกาศของผู้ร้องที่โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดปรากฏชื่อจำเลยที่ 2 คือนายเกรียงไกร ดำรงค์ไชยไม่ปรากฏชื่อนายกรัณย์ งามรัตนกาญจน์หรือโกสุมาภาทั้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2532 ซึ่งถือว่าคนทั่วไปทราบคำสั่งในวันดังกล่าว ขอให้ยกคำร้อง และหากวินิจฉัยว่าการจำนองเป็นโมฆะ ขอให้ผู้ร้องชำระหนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่นายกรัณย์กู้ยืมไปจากผู้คัดค้านซึ่งยอดหนี้ค้างถึงวันที่ 7 มกราคม 2534 รวมเป็นเงิน1,136,371.58 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมในฐานลาภมิควรได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่42809 และ 42810 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2กับผู้คัดค้านโดยให้ผู้คัดค้านไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากไม่ไปให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านจดทะเบียนรับจำนองที่ดิน2 โฉนดของจำเลยที่ 2 ก่อนทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 2 แม้จะทราบชื่อเดิมของจำเลยที่ 2 หรือไม่ก็ตามการจดทะเบียนจำนองได้กระทำโดยสุจริต จึงสมบูรณ์ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน พิพากษากลับให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีชื่อเดิมว่านายเกรียงไกร ดำรงค์ไชย ต่อมาเปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่ว่านายกรัณย์ งามรัตนกาญจน์หรือโกสุมาภา โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2ให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดเมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2532 และลงประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่26 ธันวาคม 2532 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2531 จำเลยที่ 2ได้ใช้ชื่อและนามสกุลใหม่เปิดบัญชีกระแสรายวันกับผู้คัดค้าน สาขาซอยจารุรัตน์ ต่อมาวันที่29 พฤศจิกายน 2532 ได้ทำสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้คัดค้าน โดยจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 42809 และ 42810 เป็นประกันการชำระหนี้แก่ผู้คัดค้าน
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่ผู้คัดค้านภายหลังถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจะมีผลตามกฎหมายหรือไม่เห็นว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้และห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ฯลฯ ดังนั้นเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532จำเลยที่ 2 จึงหมดอำนาจที่จะจัดการหรือกระทำการใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน อำนาจดังกล่าวย่อมตกแก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนจำนองที่ดินแก่ผู้คัดค้านในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การจดทะเบียนจำนองจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนการจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 แก่ผู้คัดค้านจึงเสียเปล่าเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันคู่กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2ไว้ก่อนวันที่ 26 ธันวาคม 2532 ซึ่งเป็นวันที่ลงประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นการกระทำก่อนวันที่ถือว่าผู้คัดค้านได้ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดถือว่าได้จดทะเบียนจำนองโดยสุจริตนิติกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลายดังกล่าวข้างต้นเป็นบทบังคับเด็ดขาด แม้จะรับฟังว่าผู้คัดค้านได้จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในเวลาที่ยังไม่ประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและผู้คัดค้านไม่ทราบว่านายกรัณย์ งามรัตนกาญจน์หรือโกสุมาภาคือจำเลยที่ 2 ที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามประกาศดังกล่าวผู้คัดค้านก็ไม่อาจยกความสุจริตขึ้นอ้างเพื่อลบล้างบทกฎหมายดังกล่าวได้ ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น ที่ผู้คัดค้านแก้ฎีกาว่า หากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการจดทะเบียนจำนองเป็นโมฆะ ก็ขอให้สั่งผู้ร้องใช้เงินตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 2 รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาทเศษพร้อมดอกเบี้ยจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แก่ผู้คัดค้านเพื่อให้ผู้คัดค้านกลับคืนสู่ฐานะเดิมในฐานลาภมิควรได้นั้น เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยว่าการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ จึงเป็นความเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรก ไม่มีผลใด ๆ เกิดขึ้นตามกฎหมายในกรณีเช่นนี้จึงไม่ถือว่าที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 จำนองเพื่อประกันการชำระหนี้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านไม่อาจอ้างได้ว่ามีสิทธิใด ๆเหนือที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้จึงไม่มีกรณีที่จะให้ผู้คัดค้านได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยให้ผู้คัดค้านได้รับการชดใช้หนี้เงินกู้และหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้ร้องในฐานลาภมิควรได้ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการจำนองที่ผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอนได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share