คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 921/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

(คำสั่งศาลฎีกาที่ 921/2536) ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 ข้อ 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 26ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 กำหนดวิธีพิจารณาพิเศษให้ศาลแพ่งดำเนินการพิจารณาคดีตามประกาศดังกล่าว โดยไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดด้วยตนเองได้ นอกจากทำความเห็นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ดังนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับผู้ร้องย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายในคดีดังกล่าวได้ เพราะตามความในข้อ 6ได้บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และอำนาจของศาลในการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายก็มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ ขณะที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติออกประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 เป็นช่วยเวลาที่ไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครองฉบับใดใช้บังคับ ต่อมาระหว่างที่ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับอยู่นั้น ไม่มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพ.ศ. 2534 ดังนั้น ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 26 ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534และจะขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพ.ศ. 2534 ไม่ได้ ตามหลักกฎหมายทั่วไป ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีจึงมีอำนาจหน้าที่พิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่เพียงใด ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย เว้นแต่จะมีบทกฎหมายใดโดยเฉพาะบัญญัติให้อำนาจ นี้ไปตกอยู่แก่องค์กรอื่น กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อที่ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534หรือไม่มิได้เกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534มาตรา 30 และถ้อยคำที่ว่า “การกระทำหรือการปฏิบัติ”ตามมาตรา 31 ก็ไม่หมายความรวมถึงบทบัญญัติของกฎหมายด้วย ทั้งขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสภาพไปแล้ว และแม้ในขณะที่ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหานี้ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534แล้ว แต่บทบัญญัติมาตรา 5 และ 206 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ก็แสดงว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะในปัญหาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 หรือไม่ เท่านั้น อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 หรือไม่จึงตกอยู่แก่ศาลตามหลักกฎหมายทั่วไป ดังนั้นศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องส่งไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณา คำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือคตส. ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 มีผลให้ทรัพย์สินที่ คตส.วินิจฉัยว่าได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นการลงโทษรับทรัพย์ในทางอาญาโดยที่มิได้ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงนำคดีไปฟ้องร้องให้เป็นอย่างอื่นได้ อำนาจของคตส.ดังกล่าวเป็นอำนาจเด็ดขาด แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับดังกล่าวโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 ก็ตามแต่บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ก็มิได้แก้ไขให้มีทางเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ คตส.ในข้อที่ว่านักการเมืองคนนั้น ๆมีทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติและร่ำรวยผิดปกติ ผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตเพราะตามข้อ 6 วรรคสาม (1)(2) เพียงแต่ให้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของ คตส.ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่แสดงให้ศาลว่าตนได้มาโดยชอบเท่านั้น อำนาจของ คตส.ดังกล่าวจึงเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยเป็นอำนาจของศาลในอันที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ประกาศฉบับดังกล่าวข้อ 2 และข้อ 6 จึงมีผลเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลให้มีอำนาจทำการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาล ย่อมขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลและการตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายจะกระทำมิได้ ทรัพย์สินของผู้ร้องที่ถูกยึด และตกเป็นของแผ่นดินตามคำวินิจฉัยของ คตส.เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาหรือมีเพิ่มขึ้นก่อนที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 26 ข้อ 6 ใช้บังคับ จึงเป็นการออกและใช้กฎหมาย ที่มีโทษในทางอาญาย้อนหลังไปลงโทษแก่ผู้ร้องซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติห้ามออกกฎหมายที่มีโทษในทางอาญาให้มีผล ย้อนหลัง เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันถือได้เป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยเมื่อประกาศฉบับดังกล่าว ข้อ 2 และข้อ 6 ขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 30จึงใช้บังคับมิได้เป็นเหตุให้คำวินิจฉัยของ คตส.ที่อาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนั้น ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534มาตรา 3 ไม่มีผลบังคับไปด้วย ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 32เป็นเพียงการรับรองโดยทั่วไปว่า ประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติมีผลให้ใช้บังคับได้เช่นกฎหมายเท่านั้นมิได้บัญญัติรับรองไปถึงว่าให้ใช้บังคับได้แม้เนื้อหาตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 เพราะปัญหาว่าประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติใช้บังคับได้เพียงใด ต่างกรณีกันกับปัญหาที่ว่าประกาศหรือคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 ใช้บังคับมิได้ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคแรกแล้ว จึงมิใช่กฎหมายที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 จึงไม่อาจนำมาตรา 222 มาบังคับใช้แก่กรณีนี้เพื่อให้ประกาศฉบับดังกล่าวข้อ 2 และข้อ 6 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2534 ไปได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องใจความว่า ผู้ร้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม 2531 ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2533ครั้นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้มีคณะบุคคลคณะหนึ่งโดย การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เรียกคณะบุคคลนี้ว่า”คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” มีชื่อย่อว่า รสช. ได้เข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลพลเอกชาติชายและประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2531 วุฒิสภาสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงพร้อมกัน แต่ยังให้ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายต่อไป ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2534 รสช. ได้ออกประกาศรสช. ฉบับที่ 26 แต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน” มีชื่อย่อว่า คตส.ประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ รวม7 คน มีพลเอกสิทธิ จิรโรนจ์เป็นประธานกรรมการ แล้ว รสช.ได้ออกประกาศ รสช.ฉบับที่ 45 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534แต่งตั้งกรรมการ คตส.เพิ่มขึ้นอีก 2 คน โดยกำหนดให้ คตส.มีอำนาจพิจารณารายชื่อนักการเมืองที่มีพฤติการณ์อันส่อแสดงให้เห็นได้ว่ามีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ ผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริต และให้ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้สาธารณชนทราบและให้รวบรวมทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้และทรัพย์สินอื่น ๆที่น่าเชื่อว่าเป็นของบุคคลดังกล่าว และพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลนั้น ๆ ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่และให้บรรดาทรัพย์สินที่ คตส.ตรวจสอบวินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดินซึ่ง คตส.ได้ประกาศรายชื่อผู้ร้องให้สาธารณชนทราบว่าเป็นผู้มีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติพร้อมทั้งมีคำสั่งให้อายัดและห้ามจำหน่ายโอนทรัพย์สินทั้งปวงของผู้ร้อง รวมทั้งของบุตรภริยาผู้ร้องด้วย หลังจากที่ คตส.ได้ประกาศรายชื่อว่าผู้ร้องเป็นผู้มีทรัพย์สินร่ำรวยเพิ่มขึ้นผิดปกติแล้ว ผู้ร้องได้ยื่นคำให้การแก้ข้อกล่าวหาของ คตส.ปฏิเสธ พร้อมทั้งชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องมิได้เป็นผู้มีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตอีกทั้งทรัพย์สินบางรายการตามข้อกล่าวหาของ คตส.ที่ปรากฏอยู่ในชื่อหรือในความครอบครองของบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นก็มิใช่เป็นของผู้ร้องแล้ว คตส.ได้แจ้งคำวินิจฉัยถึงผู้ร้องว่าผู้ร้องมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติเป็นจำนวนมากในนามบุคคลอื่นโดยไม่อาจอธิบาย และชี้แจงแหล่งที่มาได้โดยชอบรวมหลายรายการให้บรรดาทรัพย์สินเหล่านั้นตกเป็นของแผ่นดินตามประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534
ผู้ร้องเห็นว่าประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 จึงใช้บังคับมิได้ อีกทั้งคำวินิจฉัยของ คตส. ที่วินิจฉัยว่าผู้ร้องร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติและให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มาตรา 206ประกอบมาตรา 5 และตามบทบัญญัติแห่งประกาศ รสช. ฉบับที่ 26แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 มาตรา 3 เพื่อขอให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปว่าคำวินิจฉัยของ คตส. ที่เกี่ยวกับผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริงอันจำนำมาใช้บังคับมิได้ นอกจากนี้ ประกาศรสช. ฉบับที่ 26 ยังขัดต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ทั้งนี้เพราะแม้ประกาศฉบับดังกล่าวจะเป็นกฎหมายที่ออกโดย รสช.ผู้ควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วก็ตามแต่ต่อมา รสช. ก็ได้นำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ซึ่งเท่ากับ รสช.จำกัดอำนาจของตนเองให้อยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองดังกล่าวในส่วนของประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 จึงมีฐานะเป็นพระราชบัญญัติและต้องอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครอง กล่าวคือจะขัดหรือแย้งกับธรรมนูญการปกครองไม่ได้ซึ่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย” ดังนั้น นอกจากประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 จะต้องไม่ขัดต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรแล้ว ยังจะต้องไม่ขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มาตรา 5 ได้บัญญัติว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ฉะนั้นประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 อันมีฐานะเป็นพระราชบัญญัติจึงมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เช่นเดียวกันแต่เมื่อพิจารณาประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 แล้วจะเห็นว่าขัดกับประเพณีการปกครอง บทบัญญัติของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 จึงใช้บังคับไม่ได้ดังเหตุผลต่อไปนี้
1) ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อนี้ รสช. ก็ยอมรับนับถือประเพณีการปกครองดังกล่าวโดยเมื่อ รสช. ได้เข้าทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศรสช. ยังคงให้ศาลทั้งหลายมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายต่อไป แต่ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 กลับตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งคือ คตส.ให้มีอำนาจพิจารณาว่านักการเมืองคนใดมีพฤติการณ์อันส่อแสดงให้เห็นว่ามีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริต ให้ประธาน คตส. หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งประธาน คตส. มอบหมายมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ให้ส่งบัญชีทรัพย์สินหรือเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา และให้มีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลเหมือนคำพิพากษาของศาลคือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเท่ากับประกาศดังกล่าวตั้งศาลขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเหมือนเป็นศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพียงแต่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นเท่านั้น นอกจากนั้นตัวบุคคลใน คตส.ซึ่งมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีตามประกาศดังกล่าวซึ่งมีฐานะเสมือนเป็นผู้พิพากษาตุลาการก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และบางคนก็ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการคือเป็นข้าราชการการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญหลายฉบับห้ามมิให้เป็นตุลาการ ดังนั้น การที่ประกาศรสช. จัดตั้งศาลและให้ คตส.ที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้พิพากษาตุลาการมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่งเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะจึงเท่ากับดึงอำนาจตุลาการไปจากศาลยุติธรรม ซึ่งในระหว่างที่รสช. ควบคุมอำนาจการปกครองประเทศและประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 สิ้นสุดลง รสช. มีอำนาจที่จะออกประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ได้ แต่เมื่อมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 แล้วย่อมมีผลทำให้ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 นอกจากประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 จะตั้งคณะบุคคลขึ้นทำหน้าที่ศาลยุติธรรมแล้ว ประกาศฉบับดังกล่าวยังเป็นการให้อำนาจแก่บุคคลคณะหนึ่งมากกว่าบุคคลที่อยู่ในบังคับของกฎหมายทั่วประเทศ โดยให้คณะบุคคลดังกล่าวคือ คตส. มีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่มีเงื่อนเวลาสิ้นสุดแห่งการปฏิบัติหน้าที่กล่าวคือ คตส. สามารถใช้อำนาจทั้งในการสืบสวนสอบสวน การพิจารณาและวินิจฉัยเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลยุติธรรม โดยจะยืดเวลาการพิจารณาไปนานเท่าใดก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆบังคับของ คตส. เอง เป็นการมอบอำนาจให้ คตส. ใช้ดุลพินิจได้เพียงฝ่ายเดียวโดยปราศจากมาตรการพิจารณาที่แน่นอนก่อให้เกิดความลักลั่นและเลือกปฏิบัติ ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวสามารถจะทำได้ก็แต่ในระหว่างที่ รสช. ควบคุมอำนาจการปกครองประเทศไว้เท่านั้นแต่เมื่อมีการประกาศตั้งคณะรัฐบาลและใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 อำนาจดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลงในทันที
2) ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ได้ห้ามตั้งศาลขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น แต่ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 กลับตั้ง คตส.เป็นศาลขึ้นมาใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาเฉพาะการกระทำของบุคคลเพียง 25 คน จากคนที่อยู่ในบังคับของกฎหมายทั้งประเทศในคดีที่มีข้อหาว่าร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่โดยเฉพาะ เพราะเมื่อพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับบุคคล 25 คนนั้นแล้วประกาศฉบับดังกล่าวก็ให้ยุบเลิก คตส. ซึ่งเห็นได้ชัดว่าประกาศฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่แล้ว จึงขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มาตรา 188
3) ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าการบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขหรือเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลหรือกฎหมายวิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้แต่ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 กลับบัญญัติกำหนดวิธีการดำเนินคดีเฉพาะกับบุคคลเพียง 25 คน เป็นพิเศษโดยให้ตกไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของ คตส.แทนที่จะให้อยู่ในการพิจารณาของศาลในคดีแพ่งหรืออาญาในศาลชั้นต้นตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 14-17 นอกจากนั้นในการพิจารณาของ คตส. คตส. ยังใช้วิธีพิจารณาแก่คดีที่มีการกล่าวหาว่านักการเมืองร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ คือใช้อำนาจทางนิติบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์วิธีพิจารณาขึ้นเอง ใช้อำนาจบริหารโดยสั่งการไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐโดยตรง และใช้อำนาจตุลาการเรียกพยานบุคคลและเอกสารไปสอบสวนตรวจสอบ และรับฟังพยานบุคคลและเอกสารนั้น ๆ ลับหลังผู้ร้องโดยไม่ให้โอกาสผู้ร้องคัดค้านและชี้แจงตลอดจนซักค้านพยานบุคคล หรือตรวจสอบพยานเอกสารที่เป็นปรปักษ์ต่อผู้ร้องทั้งในการพิจารณาของ คตส.ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือทุจริตแต่อย่างใด แต่ คตส.กลับสันนิษฐานว่าผู้ร้องทุจริตและได้รับทรัพย์สินโดยมิชอบซึ่งผิดหลักในการวินิจฉัยคดี และนอกจากนั้นแทนที่จะวินิจฉัยเฉพาะว่าทรัพย์สินของผู้ร้องตกเป็นของแผ่นดินตามที่กำหนดไว้ในประกาศแต่ คตส. กลับใช้อำนาจอายัดทรัพย์และสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกกับทั้งสั่งการไปยังกระทรวงการคลังให้กรมสรรพากรพิจารณาเรียกเก็บภาษีจากจำนวนเงินฝากในบัญชีเงินฝากที่สันนิษฐานว่าเป็นของผู้ร้องด้วย ทั้ง ๆ ที่ศาลยุติธรรมเอง ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาโดยไม่มีขอบเขตดังที่ คตส.ดำเนินการ แม้ตามประกาศรสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 6 วรรคสาม จะให้สิทธิผู้ถูก คตส.วินิจฉัยว่าร่ำรวยผิดปกติมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบร้องขอต่อศาลแพ่งเพื่อพิสูจน์ว่าได้ทรัพย์สินมาโดยชอบก็ตามแต่เมื่อศาลแพ่งพิจารณาแล้ว ประกาศฉบับดังกล่าวก็กำหนดให้ศาลแพ่งทำความเห็นและส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาแทนที่จะให้ศาลแพ่งวินิจฉัยแล้วให้มีการอุทธรณ์ฎีกาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223, 247 ในการพิจารณาของศาลฎีกา ประกาศดังกล่าวก็บังคับให้ประธานศาลฎีกานำคดีเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 ทั้ง ๆ ที่มาตรา 140 ดังกล่าวบัญญัติให้เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาในการพิจารณาว่าเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดในคดีเรื่องใดโดยที่ประชุมใหญ่หรือไม่ จึงเท่ากับเป็นการกำหนดวิธีพิจารณาความขึ้นใหม่สำหรับคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534
4) ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ได้คุ้มครองเสรีภาพของประชาชนชาวไทยไว้ว่าบุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ แต่เมื่อพิจารณาข้อความในข้อ 2 และข้อ 6 ของประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ที่ให้ทรัพย์สินของนักการเมืองซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งการเมืองอื่นซึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน เท่ากับเป็นการริบทรัพย์อันเป็นการลงโทษทางอาญาแก่นักการเมืองผู้ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติเมื่อการริบทรัพย์สินเป็นโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18(5) จึงต้องตกอยู่ในประเพณีการปกครองประเทศไทยรวมทั้งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งไม่ปรากฏว่าเคยมีกฎหมายบัญญัติว่านักการเมืองใดร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้มาก่อน แต่ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 กลับกำหนดว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษทางอาญาไว้โดยให้ทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน จึงเป็นการบัญญัติกฎหมายกำหนดความผิดทางอาญา และกำหนดโทษทางอาญาย้อนหลังเอาโทษแก่ผู้ร้องอันเป็นการขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 และเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 อีกด้วย
5) แม้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 32 จะบัญญัติว่า “บรรดาการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งขอหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ได้กระทำประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ทั้งนี้ที่เกี่ยวกับการยึดและการควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใดหรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำประกาศหรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งรวมทั้งการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น ตลอดจนการกระทำของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดหรือควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินดังกล่าวเป็นการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นเพียงการรับรองว่าประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปได้เท่านั้น หากแต่มิได้เป็นการกำหนดว่าประกาศ รสช. ชอบด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534ฉะนั้น หากการกระทำหรือการปฏิบัติหรือกฎหมายใดที่ใช้บังคับอยู่ขัดหรือแย้งหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ย่อมเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้นเมื่อประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยตามที่กล่าวข้างต้น ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26จึงเป็นกฎหมายที่ขัดต่อไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยในขณะนั้นประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 จึงสิ้นผลบังคับทันทีในวันที่ 1 มีนาคม 2534 เมื่อมีการประกาศธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534มาใช้บังคับ
เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ประกาศใช้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2534 แม้จะได้มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯมาตรา 222 บัญญัติว่า “บรรดาประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือกฎหมายที่มีผลเป็นการแก้ไข หรือเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ออกใช้บังคับก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้หรือคำสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติทางบริหาร หรือทางตุลาการบรรดาที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้มีผลบังคับได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไปและคำประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางตุลาการการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ การตราพระราชบัญญัติตามมาตรานี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติงานของบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งได้กระทำไปตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว และให้บุคคลหรือคณะบุคคลนั้นได้รับความคุ้มครองผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องในทางใดมิได้” บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ก็คุ้มครองเพียงให้บรรดาประกาศหรือคำสั่งที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2534 มีผลบังคับได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อไปเท่านั้น มิได้มีผลให้ประกาศหรือคำสั่งที่สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญกลับคืนสภาพบังคับขึ้นมาอีกแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 สิ้นผลบังคับใช้ไปในวันที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534ประกาศใช้บังคับคือวันที่ 1 มีนาคม 2534 แล้ว การดำเนินการใด ๆตามประกาศฉบับดังกล่าวหลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2534 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ขัดต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน กรณีของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านใจความว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องด้วยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 (ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26) ข้อ 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ศาลไม่จำต้องรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาทั้งนี้เพราะสิทธิของผู้ร้องมีจำกัดตามประกาศรสช. ฉบับที่ 26 ซึ่งเป็นบทกฎหมายพิเศษเท่านั้น ไม่ใช่กรณีผู้ร้องมีข้อโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 อันเป็นบททั่วไป ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อพิสูจน์ว่าทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินนั้นตนได้มาโดยชอบเพียงประเด็นเดียวและเมื่อสามารถนำพยานมาแสดงต่อศาลให้เห็นว่าตนได้ทรัพย์สินมาโดยชอบ ศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นถ้าไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่าเป็นทรัพย์สินที่ตนได้มาโดยชอบให้ศาลยกคำร้อง ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลวินิจฉัยประเด็นอื่นในเรื่องกฎหมายไม่มีผลใช้บังคับเพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องอำนาจหน้าที่วิธีการวินิจฉัยเหตุผลในการวินิจฉัยคำวินิจฉัยและการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.ในเรื่องส่งความเห็นไปให้ตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และการพิจารณาวินิจฉัยของ คตส.ซึ่งพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะ รสช. ได้แต่งตั้งขึ้นโดยประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ที่วินิจฉัยให้ทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นทรัพย์สินของผู้ร้อง ทั้งที่อยู่ในนามผู้ร้องเอง ภริยา และบุตร รวมทั้งในนามบุคคลอื่นซึ่งถือไว้แทนผู้ร้องที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้นชอบด้วยเหตุผลข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทุกประการ
ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ใช้บังคับกับผู้ร้องมิได้นั้นผู้คัดค้านขอคัดค้านว่า ตามที่ รสช. ซึ่งมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์เป็นหัวหน้าคณะได้เข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศได้สำเร็จเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เวลา 11.30 นาฬิกานั้น เป็นผลให้คณะผู้ทำการยึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองสูงสุดมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือเป็นผู้มีอำนาจตรากฎหมายบังคับให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการแต่ผู้เดียวผลทางพฤตินัยและนิตินัยของการเข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศของ รสช. ถือว่าระบบการเมือง หรือกฎเกณฑ์การปกครองประเทศที่มีอยู่ขณะนั้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521เป็นอันสิ้นสุดลงพร้อมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521ก็สิ้นสุดลงด้วย และ รสช. ได้ออกประกาศโดยแจ้งชัดโดยออกประกาศรสช. ฉบับที่ 3 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี สิ้นสุดลง องคมนตรีคงดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไป ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายและประกาศรสช. ดังนั้น จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของ รสช. ว่าจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองประเทศในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ จัดระบบการเมืองและกฎเกณฑ์การปกครองประเทศ โดย รสช. เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารเอง ส่วนอำนาจตุลาการคงให้ศาลมีอำนาจในการพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป โดยหาก รสช. ใช้อำนาจนิติบัญญัติก็จออกเป็นประกาศ รสช. ให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติและหากใช้อำนาจบริหาร ก็จะออกเป็นคำสั่ง รสช. ให้มีผลบังคับใช้ในทางบริหารประกาศของ รสช.จึงเป็นกฎหมายเพราะผู้มีอำนาจปกครองประเทศในขณะนั้นได้ตราขึ้น มีฐานะและผลบังคับใช้เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติซึ่งตราขึ้นโดยสภานิติบัญญัติ ระหว่างที่ยึดและควบคุมอำนาจปกครองประเทศอยู่นั้น รสช. ได้ออกประกาศ รสช. หลายฉบับในขณะที่ยังมิได้มีธรรมนูญการปกครองประเทศประกาศใช้จะออกประกาศอย่างไรจึงไม่มีขอบเขตกำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและเหตุผล 2 ประการ คือความจำเป็นที่จะต้องออกประกาศใช้บังคับในขณะนั้น และเพื่อดำเนินการตามความมุ่งหมายในการยึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ฉะนั้น การที่ รสช.ได้ออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2534เรื่อง ให้อายัดและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินจึงเป็นการออกประกาศเพื่อดำเนินการตามความมุ่งหมายในการเข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศในครั้งนี้ ตามคำแถลงการณ์ของรสช. ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งแถลงการณ์ส่วนหนึ่งชี้แจงเหตุผลว่า เพราะพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยคณะผู้บริหารประเทศได้ฉวยโอกาสอาศัยอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง และพรรคพวกอย่างรุนแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนไม่สามารถหยุดยั้งได้ หากขืนปล่อยทิ้งไว้อาจสร้างความหายนะอย่างสูงที่สุดให้แก่ชาติบ้านเมืองได้ จึงเป็นเหตุความจำเป็นประการแรกที่จะต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศและเมื่อพิจารณาจากเหตุผลในการออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ปรากฏข้อความแสดงความมุ่งหมายว่ามีความประสงค์จะดำเนินการโดยเฉียบขาดกับนักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งทางการเมืองที่มีพฤติการณ์อันแสดงให้เห็นว่ามีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตจะพึงมีพึงได้ เพื่อมิให้ผู้ไม่สุจริตได้รับประโยชน์จากการฉ้อราษฎร์บังหลวง และเป็นการป้องกันมิให้มีการโยกย้ายทรัพย์สินที่ได้มาโดยทุจริต จึงให้ตั้ง คตส. ขึ้นประกอบด้วยพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจดำเนินการตามประกาศฉบับดังกล่าว
ประกาศ รสช. ที่ได้ประกาศใช้ในขณะที่ รสช. เป็นผู้มีอำนาจการปกครองประเทศอยู่ อันรวมถึงประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ด้วยจึงมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์จนกว่าจะได้มีพระราชบัญญัติออกมายกเลิก เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข นอกจากนั้นแล้ว จากบทบัญญัติในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ซึ่งประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศในเวลาถัดมา ได้มีบทบัญญัติรอบรับถึงผลของคำสั่งหรือประกาศ รสช. ฉบับต่าง ๆ ที่ได้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายไว้แล้วว่ายังมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อไป หากจะยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติดังที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 32 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มาตรา 222ดังนั้น ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ดังกล่าว จึงมิได้ขัดต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ตลอดจนมิได้ขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 มิใช่เป็นการตั้งศาลขึ้นเพื่อพิจารณาอรรถคดีเหมือนเป็นศาลยุติธรรม หรือเป็นการตั้งให้ คตส. มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทำนองเดียวกับผู้พิพากษา หรือเป็นการดึงอำนาจตุลาการไปจากศาลยุติธรรม ตลอดจนมิใช่เป็นการจัดตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ รวมทั้งมิใช่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลหรือวิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ อันเป็นการขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่อย่างใดเพราะประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 เป็นประกาศของคณะบุคคลผู้มีอำนาจปกครองประเทศในขณะนั้น ที่จะดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งการเมืองอื่นที่มีพฤติการณ์อันแสดงให้เห็นได้ว่ามีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตจะพึงมีพึงได้ อันเป็นจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งที่ รสช. ได้เข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ รสช. จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินตามประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 และตามประกาศดังกล่าวก็ต้องกำหนดให้ คตส. มีอำนาจหน้าที่ตลอดจนให้ความคุ้มครองต่าง ๆ อันเป็นวิธีการเพื่อให้การดำเนินการตามวัตถุประสงค์บรรลุผลถือได้ว่าประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 มีลักษณะเป็นกฎหมายพิเศษที่คณะผู้ปกครองประเทศใช้อำนาจเพื่อมุ่งรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนโดยส่วนรวมเช่นเดียวกับประมวลรัษฎากรที่มีลักษณะเป็นกฎหมายพิเศษ ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบภาษีและภายหลังแจ้งการประเมินให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรทราบแล้ว ถ้ามิได้ชำระหนี้ในกำหนดย่อมถือเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ให้อำนาจข้าหลวงประจำจังหวัด หรือนายอำเภอซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายบริหาร ที่จะสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ร้องรับผิดเสียภาษีอากร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและยึดถือปฏิบัติตลอดมา
ตามประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ที่ให้ทรัพย์สินที่ คตส. วินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ หรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดิน มิใช่เป็นการลงโทษอาญา คือ โทษริบทรัพย์สิน เพราะโทษริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ศาลเป็นผู้สั่งริบส่วนกรณีตามประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 นั้น คตส. มิได้มีอำนาจในการสั่งริบทรัพย์สินหรือสั่งให้ทรัพย์สินจำนวนใดตกเป็นของแผ่นดินได้เพราะอำนาจของ คตส. มีระบุไว้ในประกาศฉบับดังกล่าว ข้อ 2คือ อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่า บุคคลนั้นร่ำรวยผิด

Share