คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิเลิกจ้างโดยทั่วไปย่อมเป็นสิทธิของนายจ้างและอยู่ในบังคับของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ คือต้องเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47หากโจทก์กระทำผิดดังกล่าวจริง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าทีจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า มีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ ที่ศาลแรงงานพิพากษาให้เลิกจ้างโจทก์ เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์มีพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจ จึงเป็นการวินิจฉัยคดีโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อความเป็นธรรมแก่ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างตามมาตรา 48 ซึ่งมีอำนาจวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 6 พฤศจิกายน 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่าเดิม และนับอายุงานต่อเนื่องด้วย หรือมิฉะนั้นให้จำเลยชำระเงินจำนวน 283,230.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวกับให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายและค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนรวมจำนวน 4,095 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตยักยอกเงินที่โจทก์เก็บจากลูกค้าของจำเลยเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 114,825.62 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี กับชำระเงินจำนวน 3,385บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 7พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงข้อเดียวว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดีหรือไม่ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ นำใบเสร็จไปเรียกเก็บเงินแล้วเบียดบังเอาเงินจำนวนนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัว มิได้อ้างเหตุแห่งความไม่ไว้วางใจเป็นเหตุเลิกจ้าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวอ้าง แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำตัวไม่น่าไว้วางใจ และมีเหตุสมควรที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สิทธิเลิกจ้าง โดยทั่วไปย่อมเป็นสิทธิของนายจ้างหรือสิทธิในทางจัดการ แต่สิทธิดังกล่าวจะต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 กล่าวคือ ต้องเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างได้ คดีนี้จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ซึ่งหากโจทก์กระทำผิดดังกล่าวจริง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลย(ที่ถูกน่าจะเป็นโจทก์) ทุจริตต่อหน้าที่จึงต้องพิจารณาต่อไปว่ามีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ สำหรับพฤติการณ์แห่งคดีนี้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์มีพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจ โจทก์จึงมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งศาลแรงงานกลางเห็นว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้เพราะปรากฏเหตุที่ไม่น่าไว้วางใจในการทำงานของโจทก์ หาใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ไม่ ซึ่งในทางเปรียบเทียบจะเห็นว่าหากจำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ตามข้อฎีกาของโจทก์เสียแล้ว ก็จะเป็นการริดรอนหรือจำกัดสิทธิของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง ย่อมเป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของนายจ้าง โดยเฉพาะการบริหารงานด้านบุคคลซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายติดตามมา ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยคดีโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อความเป็นธรรมทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 และมีอำนาจวินิจฉัยได้ หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดีไม่ ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share