แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าตลอดจนกฎกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกตามความแห่งพระราชบัญญัตินี้มิได้บังคับให้ต้องสอบสวนผู้เช่าในกรณีที่ผู้ให้เช่าขอเข้าอยู่ในห้องเช่าการสอบสวนในที่นี้ก็คือสอบสวนความจำเป็นของผู้ให้เช่าที่จะต้องเข้าอยู่ในห้องของตนที่ให้เช่าโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับความจำเป็นของผู้เช่าฉะนั้นเมื่อคณะกรรมการสอบสวนผู้ให้เช่าแล้วลงมติไปโดยมิได้สอบสวนผู้เช่าเลยเช่นนี้จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ผู้ให้เช่าจะร้องเท็จหรือปิดบังคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับเรื่องขอเข้าอยู่ในห้องเช่าอย่างใดนั้นมิได้เกี่ยวข้องกับกรรมการฯ อย่างใดเมื่อคณะกรรมการได้ลงมติไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วผู้เช่าจะอ้างเรื่องร้องเท็จนั้นมาทำลายมติของคณะกรรมการฯ ไม่ได้
ผู้ให้เช่าจะเข้าอยู่ในห้องเช่าต้องขอมติคณะกรรมการเมื่อคณะกรรมการฯ ลงมติให้ความยินยอมแก่ผู้ให้เช่าแล้วผู้เช่าก็ไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯต่อไป (พอได้รับมติผู้ให้เช่าก็ใช้สิทธิตามมติผู้เช่าไม่ยอมออก ผู้ให้เช่า จึงฟ้องขับไล่จำเลยโดยอ้างมติคณะกรรมการฯ ผู้ให้เช่าตายลงระหว่างพิจารณาก่อนได้เข้าอยู่ในห้องเช่า) แม้ผู้ให้เช่าจะยังอยู่หรือตามไปก็ตามผู้เช่าจะอ้างความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ ต่อไปไม่ได้ภรรยาของผู้ให้เช่าจำเลยร่วมจึงไม่จำเป็นต้องร้องขอความยินยอมจากคณะกรรมการฯ ใหม่มติของคณะกรรมการฯ ในกรณีนี้ไม่เกี่ยวกับสิทธิเฉพาะตัวของผู้ให้เช่า
ผู้ใดมีส่วนได้เสียตามกฎหมาย ในผลแห่งคดีใด อาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดโดยยื่นคำร้องขอต่อศาล
ย่อยาว
ห้องพิพาทเลขที่ 57 และ 59 โจทก์เป็นผู้เช่าแล้ว นายวาทซื้อมาจากเจ้าของเดิมและได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าโดยอ้างเหตุที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จว่าไม่มีที่อยู่คณะกรรมการ (จำเลย) หลงเชื่อยินยอมให้นายวาทเข้าอยู่ในห้องพิพาทและนายวาทได้ฟ้องขับไล่โจทก์ คดีอยู่ระหว่างพิจารณา
โจทก์จึงฟ้องจำเลยว่า มติให้ความยินยอมของคณะกรรมการ (จำเลย)นายวาทได้มาโดยไม่สุจริต และจำเลยมิได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงโดยมิได้สอบสวนโจทก์หรือให้โจทก์ชี้แจงโต้แย้ง จึงขอให้ศาลพิพากษาว่ามติของจำเลยดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ขอให้เพิกถอนและแสดงว่ามติเช่นนั้นใช้ยันโจทก์ผู้เช่าไม่ได้
นางบุญชู เป็นภรรยานายวาทร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมอ้างว่านายวาทถึงแก่กรรมแล้ว ได้รับมรดกความเรื่องฟ้องขับไล่โจทก์
จำเลยโต้แย้งว่าผู้ร้องสอดไม่มีส่วนได้เสียกับคณะกรรมการฯ (จำเลย) ไม่ควรอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นสั่งว่าผู้ร้องสอดจะเกิดสิทธิได้ใช้ห้องพิพาทตามมติของคณะกรรมการฯ (จำเลย) สิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 วรรค 1 จึงอนุญาต
จำเลยที่ 1 ถึง 7 ต่อสู้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องสอบสวนผู้เช่า มติของคณะกรรมการฯ เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจในกฎหมาย
นางบุญชู ต่อสู้ทำนองเดียวกับจำเลยที่ 7
โจทก์ร้องว่านางบุญชูจะเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีไม่ได้ เพราะคดีนี้ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตายและมติของคณะกรรมการฯ เป็นสิทธิเฉพาะนายวาทผู้เดียวเมื่อตายไปแล้ว สิทธิอันนี้ย่อมระงับไปนางบุญชูต้องไปร้องขอมติใหม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าศาลจะทำลายล้างมติของคณะกรรมการฯ (จำเลย)ไม่ได้เป็นเรื่องดุลพินิจ และมตินั้นเด็ดขาดย่อมยุติไปแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องในปัญหา 2 ข้อ ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา และวินิจฉัยแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า
เรื่องที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางบุญชูเข้าเป็นจำเลยร่วมนั้นโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) คำร้องของโจทก์ฉบับนั้น (30 มีนาคม 2496) เป็นแต่เพียงขอให้ศาลรับวินิจฉัยประกอบคดีโจทก์เท่านั้นไม่ได้แสดงชัดเจนว่าเป็นการโต้แย้งเพื่ออุทธรณ์ต่อไป ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัย อนึ่ง พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่ามิได้บัญญัติห้ามในเรื่องรับมรดกความ เมื่อนายวาทตายการรับมรดกความต้องเป็นไปตามกฎหมายธรรมดา คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา ศาลสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายรวม 4 ข้อ เท่านั้น
ฎีกาของโจทก์ข้อ 1 ที่ว่า คณะกรรมการฯ ลงมติไปโดยมิได้สอบสวนผู้เช่านั้นจะเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ ตลอดจนกฎกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัตินี้มิได้มีบทบัญญัติบังคับไว้ให้ต้องสอบสวนผู้เช่าก่อนเลย อนึ่งการสอบสวนเพื่อลงมติในกรณีนี้ก็คือสอบสวนความจำเป็นผู้ให้เช่าที่จะต้องเข้าอยู่ในห้องของตนโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับความจำเป็นของผู้เช่า และได้มีการสอบสวนเช่นว่านี้แล้วจึงเป็นมติที่ชอบ
ข้อ 2 ที่นายวาทยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการฯ ให้เข้าใจผิดนั้น จะเป็นเหตุให้โจทก์อ้างเพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนมติของคณะกรรมการฯ ได้หรือไม่เห็นว่าเรื่องร้องเท็จหรือปิดบังความจริงนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการฯ แต่อย่างใด เมื่อได้ลงมติไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จะอ้างเรื่องร้องเท็จนั้นมาทำลายมติของคณะกรรมการฯ ไม่ได้
ข้อ 3 เมื่อนายวาทตายแล้วมติของคณะกรรมการฯ ย่อมระงับไปหรือรับมรดกแทนกันได้ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าผู้ให้เช่าจะเข้าอยู่ในห้องเช่าต้องขอมติคณะกรรมการฯ เมื่อคณะกรรมการฯ ลงมติให้ความยินยอมแก่นายวาทแล้ว โจทก์ผู้เช่าก็ไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าต่อไป แม้นายวาทจะยังอยู่หรือตายไปก็ตาม โจทก์จะอ้างความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าต่อไปไม่ได้ นางบุญชู จำเลยร่วม จึงไม่จำเป็นจะต้องร้องขอความยินยอมจากคณะกรรมการฯ ควบคุมค่าเช่าใหม่ คดีไม่มีปัญหาในเรื่องมติของคณะกรรมการฯ จะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนายวาทหรือไม่
ข้อ 4 ที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้นางบุญชู เข้าเป็นจำเลยร่วมเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยโดยอ้างว่าโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) นั้นไม่ถูกต้องเพราะเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไปแล้วโจทก์ได้ยื่นคำร้อง (ฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2496) อธิบายเหตุผลคัดค้านเป็นการร้องโต้แย้งคำสั่งนั้นโดยตรงอยู่แล้ว แต่ปัญหาข้อนี้ไม่อาจทำให้ผลแห่งคำพิพากษาต้องเปลี่ยนไปประการใด ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ในชั้นนี้โดยเห็นว่านางบุญชูมีส่วนได้เสียตามกฎหมาย ในผลแห่งคดีเรื่องนี้ ย่อมมีสิทธิร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2)ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน