แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาสมรส ขอให้คืนของหมั้นและใช้ค่าเสียหายค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส เงินรับไหว้และสร้อยคอที่โจทก์ที่ 2 ซื้อให้โจทก์ที่ 3 จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมิได้ผิดสัญญาสมรส โจทก์มิได้เสียหายตามฟ้องวันชี้สองสถานคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ในประเด็นค่าเสียหายทั้งหมดตามฟ้องโจทก์ฝ่ายจำเลยตกลงยอมให้ศาลชี้ขาดไปตามฟ้อง ตามสิทธิในกฎหมายโดยจำเลยสละข้อเท็จจริงซึ่งยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ ดังนี้ ถือว่าเฉพาะแต่ประเด็นเรื่องค่าเสียหายเท่านั้นที่จำเลยยอมให้ศาลชี้ขาดไปได้ โดยจำเลยยอมสละข้อเท็จจริงที่ยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ แต่ประเด็นเรื่องผิดสัญญาสมรส จำเลยหาได้สละข้อต่อสู้อย่างใดไม่ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาสมรส เมื่อศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านประการใดว่าโจทก์ยังติดใจสืบพยานในประเด็นข้อนี้อยู่และโจทก์ก็มิได้นำสืบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างในฟ้องของตน จึงจะฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาสมรสมิได้
จำเลยได้กล่าวในอุทธรณ์แล้วว่า’คดีนี้โดยข้อเท็จจริงแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาสมรสแต่ประการใด’ ฉะนั้น ในการที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาสมรสหรือไม่ศาลอุทธรณ์ก็จำต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวน เมื่อโจทก์ผู้มีหน้าที่หรือภาระในการนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นว่าจำเลยผิดสัญญาสมรสตามฟ้องโจทก์หรือไม่ มิได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้เลยศาลอุทธรณ์ชอบที่จะยกหน้าที่หรือภาระในการนำสืบพิสูจน์ของโจทก์ขึ้นกล่าวอ้างเป็นข้อยกฟ้องโดยจำเลยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับภาระการพิสูจน์ได้หาเป็นการเกินคำขอของจำเลยในชั้นอุทธรณ์ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบิดาโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นบิดามารดาจำเลยที่ 3 โจทก์ที่ 1 ได้สู่ขอจำเลยที่ 3 จากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เพื่อให้สมรสกับโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ได้มอบเงิน 6,000 บาท เป็นของหมั้นให้จำเลยทั้งสาม และต่อมาโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 3 สมรสกันตามประเพณีแต่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมหลับนอนกับโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 รับตัวจำเลยที่ 3 ไปอยู่บ้านของโจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก็นำตัวจำเลยที่ 3 กลับไปอีกเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นสามีภริยากันโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนสมรสจำเลยที่ 3 ก็ประวิงผัดผ่อนเรื่อยมาโจทก์จึงขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินของหมั้น ใช้ค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส เงินรับไหว้ และสร้อยคอที่โจทก์ที่ 2 ซื้อให้จำเลยที่ 3แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ได้มีการสู่ขอและสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 3 จริง แต่ไม่มีการมอบเงินเป็นของหมั้นเมื่อสมรสแล้วโจทก์ที่ 2และจำเลยที่ 3 ได้อยู่กินเป็นสามีภริยาตลอดมา ต่อมาโจทก์ที่ 2 จากไปจำเลยที่ 3 มิได้ไปอยู่ด้วยเพราะจำเลยที่ 2 ไม่สบาย จำเลยที่ 3 ต้องดูแลช่วยเหลือโจทก์มิได้เสียหายตามฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า
1. ในวันประกอบพิธีสมรส ฝ่ายชายคือโจทก์ได้นำเงินสินสอดทองหมั้นมอบให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง คือจำเลยที่ 1-2 รับไปจำนวน 6,000 บาทจริง
2. ในประเด็นค่าเสียหายทั้งหมดตามฟ้องโจทก์ ฝ่ายจำเลยตกลงให้ศาลชี้ขาดไปตามฟ้อง ตามสิทธิในกฎหมายโดยจำเลยสละข้อเท็จจริงซึ่งยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ไม่จำต้องสืบพยาน และพิพากษาให้จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 คืนเงิน 6,000 บาทให้โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่าจำเลยได้ปฏิเสธฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งแล้ว แม้จำเลยจะมิได้ให้การถึงการจดทะเบียนสมรส ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยรับว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาสมรส ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยาน แต่เมื่อไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งและขอสืบพยาน คดีจึงเป็นอันยุติไม่ต้องสืบพยาน ประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาสมรสจำเลยปฏิเสธภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ เมื่อคดีไม่มีการสืบพยานจึงถือว่าโจทก์ไม่สามารถสืบให้สมฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่ศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาไว้ในวันชี้สองสถานนั้น หาใช่ว่าจำเลยสละข้อเท็จจริงซึ่งยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การทั้งหมดไม่ เพราะศาลชั้นต้นได้จดว่า ” ในประเด็นค่าเสียหายทั้งหมดตามฟ้องโจทก์ ฝ่ายจำเลยตกลงยอมให้ศาลชี้ขาดไปตามฟ้อง ฯลฯ โดยจำเลยยอมสละข้อเท็จจริงซึ่งยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ” จึงแสดงว่า เฉพาะแต่ประเด็นเรื่องค่าเสียหายเท่านั้นที่จำเลยยอมให้ศาลชี้ขาดไปได้ โดยจำเลยยอมสละข้อเท็จจริงที่ยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ แต่ประเด็นอื่นของเรื่องผิดสัญญาสมรสจำเลยหาได้สละข้อต่อสู้อย่างใดไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาสมรส เพราะประเด็นนี้จำเลยได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้วว่า จำเลยมิได้กระทำผิดสัญญาประการใด เมื่อศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านประการใดว่า โจทก์ยังติดใจสืบพยานในประเด็นข้อนี้อยู่ และเมื่อโจทก์มิได้นำสืบข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวอ้างในฟ้องของตน จึงย่อมจะฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาสมรสมิได้
จำเลยได้กล่าวในอุทธรณ์แล้วว่า “คดีนี้โดยข้อเท็จจริงแล้วย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาสมรสแต่ประการใด” ฉะนั้น ในการที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาสมรสตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ก็จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนเมื่อโจทก์ผู้มีหน้าที่หรือภาระในการนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นเรื่องนี้ มิได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้เลย ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะยกหน้าที่หรือภาระในการนำสืบพิสูจน์ของโจทก์ขึ้นกล่าวอ้างได้ หาเป็นการเกินคำขอของจำเลยในชั้นอุทธรณ์ไม่
พิพากษายืน