แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2539 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนประชาสโมสร ขอนแก่น จำนวนสองฉบับ ฉบับละ 200,000 บาท ฉบับแรกลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 ฉบับที่สองลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่ากระจก อะลูมิเนียมและอุปกรณ์ที่จำเลยซื้อไปจากโจทก์ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปฝากเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยถนนศรีจันทร์ เพื่อให้เรียกเก็บเงินแทนตามวิธีการของธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับ ฉบับแรกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 ฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 โดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่า ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น หรือถอนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนออกจากบัญชีอันพึงให้ใช้เงินตามเช็คนั้นจนจำนวนเงินเหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้หรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้เรียงกระทงลงโทษทุกกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การนับอายุความคดีอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด จะนำการนับอายุความตามกฎหมายทั่วไปมาใช้เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยไม่ได้ คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 3 เดือน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงขาดอายุความ เห็นว่า กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน