คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ด. พบโค 9 ตัว กำลังกินข้าวอยู่ในนาของตน จึงไล่ต้อนมาไว้ที่บ้านเพื่อจะเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของโค ต่อมาจำเลยกับ ศ.และพวกมาที่บ้านด.อ้างว่าโคเป็นของศ.พ่อตาของด.ไม่เชื่อ ได้พา ศ.ไปพบผู้ใหญ่บ้านศ. ทำบันทึกรับโคไป แล้วพวกของจำเลยไล่ต้อนโคทั้ง 9 ตัวไปโดยจำเลยขี่รถจักรยานยนต์ตามไป ปรากฏว่าโคเป็นของผู้เสียหาย ดังนี้ ฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335(7) วรรคแรก,83.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาโค 9 ตัว เป็นเงิน 25,500 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 83 ลงโทษจำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาโค25,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…มีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่โจทก์มีนายเดือน ชัยสามหมอ และนายประสิทธิ์พิมพา เป็นพยาน โดยนายเดือนเบิกความว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม2527 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา จำเลยกับพวกอีก 2 คน ทราบชื่อคนหนึ่งว่า นายศุกร์ สมชาติ ส่วนอีกคนไม่ทราบชื่อ มาหาพยานที่บ้านบอกว่าโค 9 ตัวซึ่งเข้าไปกินข้าวในนาและถูกพยานจับไว้เป็นของนายศุกร์จะขอคืน นายพันธ์ พิมพา พ่อตาของพยานไม่เชื่อ ได้พานายศุกร์ไปพบนายบุญมา ทายศรี ผู้ใหญ่บ้าน ขอให้นายบุญมาทำบันทึกให้นายศกร์รับโคไป พวกของจำเลยไล่ต้อนโคทั้ง 9 ตัวไปโดยจำเลยขี่รถจักรยานยนต์ตามไป นายประสิทธิ์ พิมพา ซึ่งเป็นพี่ภรรยาของนายเดือนกำลังเดินไปทำไร่ใกล้ ๆ บ้าน เห็นจำเลยขี่รถจักรยานยนต์พาชายขับรถยนต์ปิกอัพไปที่บ้าน ต่อมาอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงเห็นจำเลยขี่จักรยานยนต์ตามโคไป พยานทั้งสองรู้จักจำเลยมาก่อนเชื่อว่าจำจำเลยได้ นอกจากนี้นายบุญมาก็เบิกความว่า นายพันธ์พ่อตานายเดือนบอกว่านายลอยเป็นผู้พานายศุกร์มาขอโคคืน พยานรู้จักนายลอยดี และนายลอยในตำบลม่วงค่อมก็มีคนเดียวคือจำเลยนี้ พยานจึงเข้าใจว่าจำเลยเป็นคนพาไปโจทก์ยังมีนายดาบตำรวจเลิศผล ฉายัษฐิต หัวหน้าสถานีตำรวจตำบลม่วงค่อมเบิกความว่า ตอนเย็นวันที่ 31 ตุลาคม 2527 นายไล้ผู้เสียหายได้มาแจ้งว่า นายศุกร์กับจำเลยมาเอาโคของผู้เสียหายไปจากคอกของนายเดือน พยานโจทก์ทุกคนต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีข้อระแวงว่าจะแกล้งกล่าวหาปรักปรำจำเลย ที่จำเลยต่อสู้ว่า นายเดือนแกล้งปรักปรำเพราะจำเลยไปขัดผลประโยชน์และเพื่อให้นายเดือนรอดจากคดี ก็ไม่ทราบว่าผลประโยชน์และคดีอะไรเพราะจำเลยมิได้ซักค้านนายเดือนไว้ ยิ่งกว่านั้นในชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า เช้าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 6 นาฬิกา จำเลยขี่รถจักรยานยนต์ออกไปหาซื้อโคกระบือ กลับบ้านเวลา 8 นาฬิกา แล้วไม่ได้ออกไปไหนอีกเลย แต่ในชั้นศาลจำเลยเบิกความว่า จำเลยไปช่วยนายจรัล วงษ์ผง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลม่วงค่อม อำเภอชัยบาดาลจังหวัดลพบุรี ล้อมรั้วตั้งแต่เวลา 7 นาฬิกา จนถึง 14 นาฬิกาเป็นคำเบิกความที่แตกต่างกัน ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ร้อยตำรวจเอกบุญชู จุลเนตร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรีเบิกความว่า ได้ไปตามตัวนายศุกร์ตามที่อยู่ซึ่งปรากฏในเอกสารหมาย จ.3 ไม่พบตัวและได้สอบถามพนักงานฝ่ายปกครองเพื่อตรวจสอบทะเบียนบ้านปรากฏว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวมีอยู่จริง แต่ไม่มีชื่อนายศุกร์ สมชาติ ตามหนังสือที่ ลบ.0216/130 ลงวันที่ 28 มกราคม2528 เอกสารหมาย จ.6 ดังนั้นการที่จำเลยไม่พานายศุกร์ไปพบนายบุญมาผู้ใหญ่บ้านด้วยตนเองเป็นเพราะจำเลยรู้อยู่แล้วว่านายศุกร์ไม่ใช่เจ้าของโคเหล่านั้น จึงเป็นข้อพิรุธของจำเลยอีกประการหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า บันทึกของนายบุญมาผู้ใหญ่บ้าน เอกสารหมาย จ.3 ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะโคที่นายเดือนต้อนมาไว้ในคอกเป็นตัวผู้ 5ตัว ตัวเมีย 4 ตัว แต่ตามเอกสารดังกล่าวลงไว้ว่า เป็นโคตัวเมียทั้ง 9 ตัวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า นายบุญมาผู้ใหญ่บ้านไม่ได้ตรวจสอบโคที่นายเดือนขังคอกไว้ คงเขียนตามคำบอกของนายศุกร์ แม้ข้อความในเอกสารหมาย จ.3 จะไม่ตรงความจริงก็หาทำให้น้ำหนักลดลงไม่ นอกจากนี้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโคกินข้าวของนายเดือนเสียหาย 1 ไร่ ถ้าเก็บเกี่ยวจะได้ข้าวประมาณ 50 ถัง ราคาถังละประมาณ 30 บาท คิดเป็นเงิน 1,500บาท แต่นายเดือนเรียกค่าเสียหายจากพวกจำเลยเพียง 400บาท และให้พวกจำเลยซื้อสุราให้ 2 ขวด คำของนายเดือนจึงไม่สมเหตุผลนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุข้าวยังไม่ได้เกี่ยวนายเดือนว่าราคาข้าวไม่ถึงถังละ 30 บาท แม้โคจะลงไปกินข้าวในนา แต่ก็เชื่อว่าโคคงจะไม่เหยียบย่ำข้าวเสียหายหมดทั้งไร่ การที่นายเดือนรับค่าเสียหาย 400 บาทนับว่ามีเหตุผลอยู่ พยานหลักฐานโจทก์มั่นคงฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยโดยมิได้กำหนดวรรคนั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7)วรรคแรก นอกจากนี้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น’.

Share