คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การออกจากงานเพราะครบเกษียณอายุ 60 ปีตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ไม่ใช่กำหนดระยะเวลาจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน และไม่ใช่ออกเพราะทำผิด จึงเป็นการ เลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยแม้เงินบำนาญที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างจะสูงกว่าค่าชดเชย ก็เป็นเงินคนละประเภท ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอยู่

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยแก่โจทก์แต่ละสำนวนตามจำนวนที่กำหนด มีความเห็นแย้งว่าควรยกฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์เป็นประการแรกว่า โจทก์ทั้งห้าสำนวนทราบดีอยู่แล้วว่าต้องออกจากงานเมื่อเกษียณอายุคือเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามระเบียบการฉบับที่ 83 ของจำเลย ซึ่งตรงกับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ระยะเวลาทำงานของโจทก์นับจากวันจ้างกันจนถึงเกษียณอายุสามารถคำนวณได้ว่าจ้างกันกี่ปี กี่เดือนถือได้ว่าจำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานโดยมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนแล้วไม่อยู่ในบังคับที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อโจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ระยะเวลานับจากวันจ้างกันจนถึงโจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์อาจคำนวณได้ว่ากี่ปี กี่เดือน ดังจำเลยอ้าง แต่เมื่อตามระเบียบการฉบับที่ 83 ของจำเลยก็ดี ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ก็ดี มิได้กำหนดให้โจทก์จำเลยต้องผูกพันจ้างกันจนกว่าโจทก์จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติพนักงานของจำเลยและของรัฐวิสาหกิจเป็นการทั่วไป ระยะเวลาดังกล่าวก็หาใช่กำหนดระยะเวลาการจ้างไม่ โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ข้อ 2 อันจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เมื่อเลิกจ้าง

จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า การที่โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุเป็นการสิ้นสภาพการจ้างโดยปริยายเมื่อโจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้าโดยอายุของโจทก์ มิใช่สืบเนื่องมาจากมูลเหตุใด ๆ ที่จะต้องมีการพิจารณาและตัดสินใจของจำเลย จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 พิเคราะห์แล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 46 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์ออกจากงาน กำหนดว่า “การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 457 ฯลฯ” ดังนี้ การเลิกจ้างจึงหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากระทำด้วยวิธีใด โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ หามีข้อยกเว้นสำหรับกรณี ที่ลูกจ้างต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุหรือนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเนื่องจากมูลเหตุใด ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยการพิจารณาและตัดสินใจของนายจ้างไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ข้อ 46 วรรคสอง แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2521 ระบุความหมายของ”การเลิกจ้าง” ว่า “รวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุ”แต่เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) มิได้กำหนดให้รวมถึงกรณี ลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุด้วย แสดงว่าประกาศฉบับหลังไม่ประสงค์ให้การออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างนั้น เห็นว่า ไม่เป็นการแน่นอนดังจำเลยอ้าง ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเมื่อโจทก์ครบเกษียณอายุคือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามข้อ 446 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว

จำเลยอุทธรณ์เป็นการสุดท้ายว่า เงินบำนาญที่โจทก์ทั้งห้าได้รับไปตามระเบียบการของจำเลย ฉบับที่ 67 เป็นเงินผลประโยชน์ที่มีความหมายเช่นเดียวกับค่าชดเชย และมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีกพิเคราะห์แล้ว ได้ความว่าระเบียบการธนาคารอออมสิน ฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน ให้คำนิยามของ “บำนาญ” ไว้ในข้อ 2(6)ว่า หมายความว่า เงินตอบแทนความชอบที่ได้ปฏิบัติงาน ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนและตามระเบียบการดังกล่าว ข้อ 13 พนักงานของจำเลยที่ออกจากงานโดยการลาออกก็มีสิทธิได้รับบำนาญได้ หากมีอายุงาานมากกว่า 25 ปี และลาออกโดยไม่มีความผิดและไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก ดังนี้ เห็นได้ว่าบำนาญตามระเบียบการของจำเลยเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ทั้งมีหลักเกณฑ์และวิธีการแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามกฎหมาย เงินบำนาญที่โจทก์ได้รับจึงเข้าลักษณะเป็นประเภทอื่นต่างหากจากค่าชดเชย เมื่อบำนาญไม่เป็นค่าชดเชยแล้วแม้มีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยก็หาทำให้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยอีกไม่”

พิพากษายืน

Share