คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9174/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแพ่งทั้งสองคดีในคดีก่อน จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 กับโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ให้ร่วมกันโอนที่ดินรวม 8 แปลง แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 จึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ โจทก์ร้องขอพิจารณาคดีใหม่ แต่ศาลยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว คดีแพ่งทั้งสองคดีในคดีก่อนจึงมีประเด็นเพียงว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีแพ่งทั้งสองคดีในคดีก่อนอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คดีนี้รูปคดีจึงเป็นเรื่องละเมิดซึ่งมีประเด็นว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฟ้องเท็จและเบิกความเท็จหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในภายหลังและศาลในคดีก่อนทั้งสองคดียังไม่ได้มีการวินิจฉัย ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งทั้งสองคดีดังกล่าว
อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์เป็นการโต้แย้งเรื่องอำนาจฟ้องมิได้ขอให้โจทก์ชนะคดี จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (2) ท้าย ป.วิ.พ. แต่โจทก์เสียมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เสียเกินมาให้โจทก์ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 36,641,932 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 830/2552 และ 601/2553 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งทั้งสองคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 กับโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ให้ร่วมกันโอนที่ดินรวม 8 แปลง แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 จึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ โจทก์ร้องขอพิจารณาคดีใหม่ แต่ศาลยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ในคดีแพ่งทั้งสองคดีดังกล่าว จึงมีประเด็นที่ศาลวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ ส่วนในคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 830/2552 และหมายเลขดำที่ 601/2553 ของศาลชั้นต้น อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายต้องสูญเสียที่ดินทั้ง 8 แปลงดังกล่าวและสิ่งปลูกสร้างคิดเป็นเงิน 36,641,932 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ คดีนี้รูปคดีจึงเป็นเรื่องละเมิด ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันฟ้องเท็จและเบิกความเท็จหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในภายหลังและศาลในคดีก่อนทั้งสองคดียังไม่ได้มีการวินิจฉัย ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งทั้งสองคดีดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยในข้ออื่นตามฎีกาของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์เป็นเรื่องโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องมิได้ขอให้โจทก์ชนะคดี จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (2) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่โจทก์เสียมา 200,000 บาท 200,100 บาท ตามลำดับ จึงเห็นควรคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เสียเกินมาให้โจทก์ ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ให้ศาลชั้นต้นคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาที่โจทก์เสียเกินมาให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share