คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248-15249/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้
จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก – จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด
เงินตามเช็คเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของโจทก์ที่ ธ. ในฐานะเลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพทำหนังสือขอให้โจทก์อนุมัติเพื่อนำไปชำระเงินยืมที่โครงการยืมเงินกลางของโจทก์มาใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จึงมิใช่เงินส่วนตัวของ ธ. ทั้ง ธ. ก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ซึ่งโจทก์จะต้องชำระหนี้ให้แก่ ธ. การที่ ธ. มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นกรณีที่ ธ. ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่รับเงินตามเช็คแล้วนำไปชำระเงินยืมให้แก่โจทก์ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเบียดบังไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 147 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91 92, 137, 147, 157, 161 และ 268 ให้จำเลยคืนเงิน 508,780 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้นับโทษของจำเลยในสำนวนหลังต่อจากโทษของจำเลยในสำนวนแรก
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้องทั้งสองสำนวน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำนวน 5 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 15 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในห้า คงจำคุก 12 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 473,350 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์และได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่การเงิน โดยรับผิดชอบในงานเบิก – จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืม และตัดยอดเงินยืม ในส่วนของงานเบิก – จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อเบิกจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการและพนักงานของโจทก์ โดยจำเลยจัดทำรายการโอนเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชัยภูมิ เพื่อให้ธนาคารโอนเงินเข้าบัญชีของข้าราชการและพนักงานของโจทก์แต่ละคนที่มีสิทธิจะได้รับประจำเดือนตุลาคม 2551 เดือนธันวาคม 2551 เดือนพฤษภาคม 2552 และเดือนมิถุนายน 2552 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อปี 2552 โจทก์ได้จัดทำโครงการต้นกล้าอาชีพขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สวาสดิ์ หัวหน้าโครงการได้ทำสัญญายืมเงินกลางของมหาวิทยาลัยโจทก์จำนวน 828,390 บาท ไปทดรองจ่ายในโครงการก่อน โจทก์อนุมัติให้ยืมเงินดังกล่าวได้ ต่อมานายชนสิทธิ์ เลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพได้ทำหนังสือถึงโจทก์ขออนุญาตจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 473,350 บาท เพื่อนำไปชำระเงินยืมบางส่วนที่กล่าวแล้วข้างต้น โดยจำเลยลงลายมือชื่อรับทราบในฐานะเจ้าหน้าที่การเงิน หลังจากโจทก์อนุมัติตามคำขอของนายชนสิทธิ์แล้ว จำเลยได้เขียนข้อความในเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่นายชนสิทธิ์ จำนวน 473,350 บาท โดยไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก จากนั้นจำเลยเป็นผู้นำเช็ค ไปเรียกเก็บเงิน ต่อมานายชนสิทธิ์ทำหนังสือแจ้งแก่โจทก์ว่า ยังไม่ได้รับเงินตามเช็คและยังไม่ได้คืนเงินยืมให้แก่โจทก์ โจทก์มีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทราบว่าจำเลยเป็นผู้เบิกเงินตามเช็คจำนวน 473,350 บาท ไปโดยไม่ได้นำไปล้างเงินยืมให้แก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของคู่ความฟังว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยหากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญระหว่าง “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” กับ “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” แล้ว จะเห็นได้ชัดว่า “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งสำเนาข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ แล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาดังที่โจทก์ฎีกาและศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และ 161 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และเนื่องจากจำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก – จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอมและมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยในกรณีจำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจำนวน 473,350 บาท ได้หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า เช็คสั่งจ่ายให้แก่นายชนสิทธิ์ สิทธิในการรับเงินตามเช็คจึงเป็นของนายชนสิทธิ์ โดยนายชนสิทธิ์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจำนวน 473,350 บาท แล้วไม่ได้มอบเงินดังกล่าวให้แก่นายชนสิทธิ์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยยักยอกเงินของนายชนสิทธิ์มิใช่เงินของโจทก์ โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า เงินจำนวน 473,350 บาท ตามเช็คเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของโจทก์ที่นายชนสิทธิ์ในฐานะเลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพทำหนังสือขอให้โจทก์อนุมัติเพื่อนำไปชำระเงินยืมในโครงการต้นกล้าอาชีพที่โครงการยืมเงินกลางของโจทก์มาใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จึงมิใช่เงินส่วนตัวของนายชนสิทธิ์ ทั้งนายชนสิทธิ์ก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ ซึ่งโจทก์จะต้องชำระหนี้ให้แก่นายชนสิทธิ์ การที่นายชนสิทธิ์มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นกรณีที่นายชนสิทธิ์ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่รับเงินตามเช็ค แล้วนำไปชำระเงินยืมให้แก่โจทก์ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเบียดบังไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้และแม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลก็ย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรา 352 วรรคแรก ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่จำเลยฎีกาต่อไปทำนองว่า เงินเดือนที่โอนเข้าบัญชีของจำเลยเกินกว่าสิทธิที่จำเลยจะได้รับประจำเดือนตุลาคม 2551 เดือนธันวาคม 2551 เดือนพฤษภาคม 2552 และเดือนมิถุนายน 2552 เป็นเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งเข้าทำงานใหม่และยังไม่ได้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชัยภูมิ จำเลยในฐานะเจ้าหน้าที่การเงินจึงแก้ปัญหาด้วยการให้ธนาคารโอนเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย จากนั้นจำเลยได้เบิกถอนเงินแล้วแจ้งให้พนักงานและลูกจ้างมาลงชื่อในสมุดคุมและรับเงินไปครบถ้วน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ในตอนเบิกความตอบคำถามค้านของทนายความโจทก์ จำเลยได้ยอมรับว่า อธิการบดีของโจทก์และหัวหน้างานการเงินของจำเลยไม่ว่าเป็นบุคคลใด ๆ ไม่เคยออกหนังสือ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอนุญาตให้จำเลยมีอำนาจรับเงินเดือนแทนพนักงานและลูกจ้างของโจทก์ซึ่งเข้าทำงานใหม่ ทั้งพนักงานและลูกจ้างของโจทก์ก็ไม่เคยมีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยนำเงินเดือนของตนไปเข้าบัญชีของจำเลย ดังนี้ การที่จำเลยจัดทำเอกสารทางการเงินเพื่อให้ธนาคารโอนเงินงบประมาณของโจทก์ที่จำเลยไม่มีสิทธิได้รับไปเข้าบัญชีของจำเลย จึงเป็นการกระทำโดยพลการโดยปราศจากอำนาจและไม่มีระเบียบหรือกฎหมายใดรองรับ คดีรับฟังได้ว่า จำเลยครอบครองเงินงบประมาณของโจทก์ประจำเดือนตุลาคม 2551 เดือนธันวาคม 2551 เดือนพฤษภาคม 2552 และเดือนมิถุนายน 2552 ไว้ในบัญชีของจำเลยแล้วเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก อีก 4 กระทง นอกเหนือจากความผิดฐานยักยอกเงินในโครงการต้นกล้าอาชีพที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์โดยอธิการบดีรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2552 การที่โจทก์ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 จึงเป็นเวลาเกิน 3 เดือน คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แล้วนั้น เห็นว่า แม้สำเนาบันทึกข้อความจะรับฟังได้ว่า โจทก์โดยอธิการบดีได้ทราบเรื่องความผิดพลาดในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือนประจำเดือนมิถุนายน 2552 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 ก็ตาม แต่วันดังกล่าว โจทก์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานผิดพลาดเป็นผู้ใด อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ ต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาบันทึกข้อความว่า โจทก์โดยอธิการบดีได้ทราบเรื่องที่จำเลยนำเช็คในโครงการต้นกล้าอาชีพไปเรียกเก็บเงินแล้วไม่นำเงินไปชำระเงินยืมของโจทก์เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 ดังนั้น การที่โจทก์ไปร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี จึงไม่เกินระยะเวลา 3 เดือน ตามกฎหมาย คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share