แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาคงมีเพียงว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ และใครประมาทมากกว่ากันอันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยและจำเลยได้อุทธรณ์ไว้แล้ว เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ และบทบัญญัติอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดมูลหนี้ละเมิดขึ้นนั้น ป.พ.พ. มาตรา 442 วางหลักให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งการที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนแค่ไหน เพียงใดนั้น ศาลย่อมที่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่นำสืบมาว่าฝ่ายจำเลยหรือผู้ตายประมาทมากน้อยกว่ากันอย่างไรและเพียงใดด้วย จึงจะเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 61, 151, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายจุมพล นางจิราภรณ์ บิดามารดาของนายศุภชัย ผู้ตายและนางสาวเนติมา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291) โดยเรียกนายจุมพล นางจิราภรณ์และนางสาวเนติมาว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 1,340,726 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 3 เป็นเงิน 159,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยมิได้กระทำประมาทจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 61, 151, 157 การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 ปี และปรับ 15,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 4 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 1,329,656 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 3 เป็นเงิน 84,845 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ที่ถูก แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2) เป็นเงิน 739,656 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถบรรทุกสิบล้อล้ำช่องเดินรถโดยไม่ให้สัญญาณไฟหรือสัญญาณใด ๆ เพื่อให้บุคคลที่ขับรถผ่านไปมามองเห็นได้ชัดเจน เป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มีโจทก์ร่วมที่ 3 นั่งซ้อนท้ายชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว จนผู้ตายถึงแก่ความตายและโจทก์ร่วมที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสตามรายงานชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้องและผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า หากผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความไม่ประมาทและระมัดระวังอย่างเพียงพอดีแล้ว ย่อมไม่ขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อที่จำเลยจอดอยู่ในเวลากลางวันในสถานที่ที่มองเห็นได้ชัด พฤติการณ์แห่งคดีจึงต้องฟังว่า ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยนั้น เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะวินิจฉัยในประเด็นนี้ไว้ว่า เมื่อคดีส่วนอาญาจำเลยไม่อุทธรณ์ข้อเท็จจริงย่อมผูกพันจำเลยในส่วนแพ่งว่าจำเลยจอดรถบรรทุกสิบล้อโดยไม่ให้สัญญาณใด ๆ เพื่อให้บุคคลที่ขับรถผ่านไปมามองเห็นได้ชัดเจน อันเป็นการฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นฝ่ายประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและโจทก์ร่วมที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส อุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ จึงฟังไม่ขึ้นก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญาคงมีเพียงว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ และใครประมาทมากกว่ากัน อันเป็นพฤติการณ์ที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยและจำเลยได้อุทธรณ์ไว้แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้วินิจฉัยให้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดมูลหนี้ละเมิดขึ้นนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 วางหลักไว้ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือ ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และมาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งการที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนแค่ไหน เพียงใดนั้น ศาลย่อมจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่นำสืบมาว่าฝ่ายจำเลยหรือผู้ตายประมาทมากน้อยกว่ากันอย่างไรและเพียงใดด้วย จึงจะเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่นั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น และเมื่อปรากฏว่าข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ ศาลชั้นต้นก็ยังไม่ได้วินิจฉัยให้ด้วย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะไม่ต้องเสียเวลาย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยในประเด็นนี้ใหม่อีก ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้สิ้นกระแสความไปเสียทีเดียว ส่วนจำเลยเบิกความว่า บริเวณจุดเกิดเหตุพยานเคยใช้เป็นที่จอดรถมานานประมาณ 3 ถึง 4 ปีแล้ว บริเวณดังกล่าวมีแสงสว่างพอจะมองเห็นได้ว่ามีรถยนต์จอดอยู่ ช่วงก่อนและขณะเกิดเหตุพยานก็ได้เปิดสัญญาณไฟท้ายรถไว้โดยตลอดมิใช่เพิ่งจะเปิดหลังจากเกิดเหตุแล้ว และได้เข้ามอบตัวหลังเกิดเหตุประมาณ 2 ชั่วโมง ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจได้เรียกญาติผู้ตายและผู้บาดเจ็บมาเจรจากับพยาน แต่ตกลงกันไม่ได้เนื่องจากญาติผู้ตายและผู้บาดเจ็บเรียกค่าเสียหายสูงถึง 1,500,000 บาท เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาใกล้พลบค่ำ ยังไม่มืด ทัศนวิสัยบริเวณที่เกิดเหตุสามารถมองเห็นได้ในระยะไม่ไกลมากนั้น หากผู้ตายเปิดไฟด้านหน้ารถไว้จริงดังที่โจทก์ร่วมที่ 3 เบิกความ หรือหากจำเลยเปิดสัญญาณไฟท้ายรถไว้จริงดังที่จำเลยเบิกความ ผู้ตายก็ย่อมจะสามารถมองเห็นรถบรรทุกสิบล้อได้ และหากผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังที่โจทก์ร่วมที่ 3 เบิกความ ผู้ตายก็คงจะห้ามล้อรถจักรยานยนต์ที่ขับมาได้ทันก่อนที่จะชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อซึ่งจอดอยู่ในที่โล่งและสามารถมองเห็นได้ในระยะไม่ไกลนัก การที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว โดยไม่ปรากฏว่ามีการห้ามล้อหรือปรากฏให้เห็นว่ามีร่องรอยการห้ามล้อในที่เกิดเหตุเลย แสดงว่าผู้ตายคงจะขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วที่เกินกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอย่างแน่แท้และคงจะไม่ได้เปิดไฟด้านหน้ารถไว้ด้วย จึงไม่สามารถมองเห็นรถบรรทุกสิบล้อซึ่งจอดอยู่ริมถนนซอยดังกล่าวได้ พฤติการณ์ของผู้ตายแสดงว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วสูง โดยไม่ใช้ความระมัดระวังชะลอความเร็ว เมื่อขับมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมีแสงสว่างไม่มากนัก จึงไม่สามารถมองเห็นรถบรรทุกสิบล้อที่จอดอยู่และไม่สามารถห้ามล้อได้ทันจนเกิดเหตุขึ้น ถือได้ว่าผู้ตายกระทำการโดยประมาทด้วย เหตุที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อที่จอดอยู่ข้างทางจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและสภาพของที่เกิดเหตุแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ตายได้กระทำโดยประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลย เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างทำละเมิดต่อกันเท่า ๆ กัน ค่าเสียหายจึงย่อมเป็นพับกันไป กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของทั้งโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยในส่วนที่โต้แย้งกันเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนอีก ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8