แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานขับรถของจำเลยมีเวลาทำงานตามปกติแน่นอนตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกาถึง 17 นาฬิกาดังนั้น ระยะเวลาทำงานที่นอกเวลาปกตินี้ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยการที่นายจ้างทำสัญญางดเว้นไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2521 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถ เวลาทำงานปกติคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8 ถึง 17 นาฬิกา เวลาพัก12 ถึง 13 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2535 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ทำงานมาเกินกว่า 3 ปี แล้ว มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 43,950 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 7,325 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 439,500 บาททั้งจำเลยมีข้อกำหนดจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างที่ออกจากงานโจทก์มีอายุงานถึง 13 ปี 9 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับร้อยละ 75 ของค่าจ้างอัตราสุดท้าย 7,325 บาท คูณด้วยอายุงานเป็นปีโดยนับปีที่ 6 เป็นปีแรก ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยเป็นเงินจำนวน 43,950 บาท แต่จำเลยไม่จ่ายให้ ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา กล่าวคือเริ่มปฏิบัติงานโดยไปรับรถและขับรถให้ผู้จัดการชาวญี่ปุ่นของจำเลยตั้งแต่เวลา 6.30 นาฬิกาทุกวัน และในเวลาเย็นหลังเลิกงานจำเลยให้โจทก์อยู่คอยขับรถไปส่งผู้จัดการชาวญี่ปุ่นกลับที่พักทุกวัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำงานล่วงเวลาจากจำเลยตั้งแต่เวลา 6.30 นาฬิกาถึง 8 นาฬิกา และตั้งแต่เวลา 17 นาฬิกาจนกระทั่งส่งผู้จัดการชาวญี่ปุ่นของจำเลยกลับถึงที่พัก แต่จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์เพียงชั่วระยะเวลา 17 นาฬิกา ถึงเวลาที่โจทก์ขับรถออกจากบริษัทจำเลย จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ขาดไป 2 ชั่วโมง30 นาทีทุกวัน โจทก์ขอคิดค่าล่วงเวลาจากจำเลยนับแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2533 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2535 โดยนับแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2533 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2533 โจทก์ทำงานล่วงเวลาในวันทำการปกติเป็นเวลา 214 วัน คิดเป็นชั่วโมงทำงานล่วงเวลา 535 ชั่วโมง และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2535 คิดเป็นชั่วโมงทำงานล่วงเวลา 590 ชั่วโมง รวมชั่วโมงทำงานล่วงเวลา 826 ชั่วโมง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติอัตราชั่วโมงละ 85.75 บาท รวมเป็นค่าล่วงเวลาจำนวน 37,814.28 บาท การที่จำเลยไม่ชำระเงินดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินบำเหน็จ และค่าเสียหาย และในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจากต้นเงินค่าล่วงเวลานับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไป ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาจำนวน 37,814.28 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ จ่ายค่าชดเชยจำนวน 43,950 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 7,325 บาทเงินบำเหน็จจำนวน 43,950 บาท ค่าเสียหายจำนวน 439,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2535 ไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถตั้งแต่เดือนเมษายน 2521 จนถึงเดือนมกราคม 2535 จริงระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ได้ประพฤติฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของจำเลยเป็นประจำซึ่งจำเลยเคยลงโทษโจทก์ด้วยการทำทัณฑ์บนและมีหนังสือเตือนหลายครั้ง หลังจากลงโทษ โจทก์ไม่ได้ปรับตัวให้ดีขึ้นแต่กลับประพฤติตนฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับของจำเลยหนักขึ้นเรื่อยต่อมาประมาณปลายเดือนมกราคม 2535 โจทก์ได้กระทำผิดต่อระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายตลอดจนเงินบำเหน็จแก่โจทก์สำหรับค่าล่วงเวลา โจทก์ได้ตกลงกับจำเลยไว้ตั้งแต่วันแรกที่โจทก์เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยแล้วว่า ช่วงเวลาที่โจทก์ขับรถรับผู้จัดการจากบ้านมาทำงานและขับรถรับผู้จัดการจากที่ทำงานกลับบ้านไม่ถือว่าเป็นเวลาทำงาน และให้ถือเป็นเวลาการเดินทางมาทำงานและเดินทางกลับบ้านตามปกติของโจทก์ส่วนการที่โจทก์ได้ทำงานไปนอกเหนือจากการขับรถรับส่งผู้จัดการโจทก์ได้เบิกและรับค่าล่วงเวลาไปถูกต้องทุกครั้ง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยครั้งสุดท้ายทำหน้าที่พนักงานขับรถได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,325บาท เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2535 โจทก์มีอาการมึนเมาสุราจนไม่สามารถขับรถไปส่งผู้บังคับบัญชากลับบ้านได้ตามหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าว และค่าเสียหาย โจทก์และจำเลยตกลงกันตามเอกสารหมาย ล.15 ว่าการขับรถรับส่งผู้จัดการจากบ้านมาที่ทำงาน และขับรถรับส่งผู้จัดการจากที่ทำงานกลับบ้านไม่ถือว่าเป็นเวลาทำงานถือเป็นการเดินทางมาทำงานและเดินทางกลับบ้านตามปกติของโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาในช่วงเวลาดังกล่าวและจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มีความผิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าแม้โจทก์จำเลยจะตกลงกันว่าการขับรถรับผู้จัดการจากบ้านมาที่ทำงานและขับรถส่งผู้จัดการจากที่ทำงานกลับบ้านไม่ถือเป็นเวลาทำงานและให้ถือว่าเป็นเวลาเดินทางมาทำงานและเดินทางกลับบ้านตามปกติของโจทก์ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.15แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงตกเป็นโมฆะจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์นั้นข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นลูกจ้างพนักงานขับรถของจำเลย มีเวลาทำงานตามปกติแน่นอนตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกาถึง 17 นาฬิกา ศาลฎีกาเห็นว่า ระยะเวลาทำงานที่นอกเวลาปกตินี้ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยการที่นายจ้างทำสัญญางดเว้นไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลา แต่โจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาเป็นจำนวนเท่าใดเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยมา สมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้อนี้ใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะประเด็นในเรื่องค่าล่วงเวลาและให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาในประเด็นเรื่องดังกล่าวใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง