คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3696/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายถึงความเสียหายว่า ผลแห่งการกระทำละเมิดครั้งนี้ทำให้รถจักรดีเซล ตู้รถบรรทุกน้ำมัน ป้ายจราจรทางบกของโจทก์ได้รับความเสียหาย คือรถจักรดีเซลเลขที่ 524 เสียหายเป็นเงิน 6,750 บาท รถ บทค.เลขที่ 1097 เสียหายเป็นเงิน 1,867.50 บาท รถ บทค. เลขที่ 976เสียหายเป็นเงิน 317.50 บาทป้ายจราจรทางบกของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 914.50 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 9,849.50 บาท เป็นการบรรยายถึงความเสียหายโดยแจ้งชัดแล้วว่าทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินค่าเสียหายเท่าใดส่วนรายละเอียดเสียหายอย่างใดนั้น เป็นเรื่องที่จะนำสืบให้ปรากฏในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายจึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดไม่จำกัด จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ 6 ล้อ ก.ท.ก-9270 และรถยนต์บรรทุก ก.ท.ก-6890 ซึ่งเกิดเหตุคดีนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 ที่ 2โดยยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนถ้ารถทั้งสองคันกระทำละเมิดให้ผู้อื่นเสียหาย ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2520 เวลาประมาณ 13.40 นาฬิกานายเฉลิมและนายปรีชาลูกจ้างผู้ขับขี่รถทั้งสองคันในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง จอดรถขวางทางรถไฟที่ทางตัดผ่านถนนอาจณรงค์ แขวงคลองตัน เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้ขับรถจักรดีเซลสับเปลี่ยนเลขที่ 524 ลากรถพ่วงจำนวน 24 ตู้ บรรทุกน้ำมันจากองค์การเชื้อเพลิงมุ่งหน้าจะไปสถานีแม่น้ำ ซึ่งได้ห้ามล้อฉุกเฉินแล้ว แต่ขบวนรถหยุดไม่ทันรถไฟของโจทก์จึงชนรถยนต์ดังกล่าวทำให้ รถจักรดีเซล ตู้รถบรรทุกน้ำมันป้ายจราจรทางบกของโจทก์ได้รับความเสียหาย คือรถจักรดีเซล เลขที่ 524เสียหายเป็นเงิน 6,750 บาท รถ บทค. เลขที่ 1097 เสียหายเป็นเงิน1,867.50 บาท รถ บทค. เลขที่ 976 เสียหายเป็นเงิน 317.50 บาทและค่าเสียหายของฝ่ายบำรุงทาง (เพราะทางที่เกิดรถชนกันมีป้ายจราจรทางบกของโจทก์ปักไว้เสียหายด้วย) เป็นเงิน 914.50 บาทรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 9,849.50 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉย จึงขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดคือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2520 ถึงวันฟ้องโดยโจทก์ขอคิดเพียง 11 เดือน เป็นเงิน 684.02 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชดใช้เงินแก่โจทก์ 10,533.52 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 9,849.50 บาท นับแต่วันถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า รถยนต์บรรทุก ก.ท.ก-9270 เป็นของจำเลยที่ 1 ส่วนรถยนต์บรรทุก ก.ท.ก-6890 ไม่ใช่ของจำเลยทั้งสองวันเกิดเหตุรถของจำเลยมิได้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง หากต้องรับผิดจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถดังกล่าวก็ต้องเป็นผู้รับผิดแทน ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้ง ทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ก-9270 ในนามบุคคลอื่นซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดเท่านั้นมิได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ก-6890 ผู้ขับขี่รถยนต์ทั้งสองคันมิใช่ลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และมิได้ก่อให้เกิดละเมิดแก่รถไฟของโจทก์ หากแต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างโจทก์ จำเลยทั้งหมดไม่ต้องรับผิด หากต้องรับผิดก็ไม่เกิน 500 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะจำเลยที่ 3 ไม่ทราบได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถไฟของโจทก์นั้นเสียหายอย่างใด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 9,849.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ฯลฯ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาเกี่ยวกับดอกเบี้ยยังไม่ถูกต้อง พิพากษาแก้เกี่ยวกับคิดดอกเบี้ยให้ตรงกับคำขอท้ายฟ้อง

จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงความเสียหายว่าผลแห่งการกระทำละเมิดครั้งนี้ทำให้รถจักรดีเซล ตู้รถบรรทุกน้ำมันป้ายจราจรทางบกของโจทก์ได้รับความเสียหาย คือ รถจักรดีเซลเลขที่ 524 เสียหายเป็นเงิน 6,750 บาท รถ บทค. เลขที่ 1097 เสียหายเป็นเงิน 1,867.50 บาท รถ บทค. เลขที่ 976 เสียหายเป็นเงิน 317.50 บาท ป้ายจราจรทางบกของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 914.50 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 9,849.50 บาท เป็นการบรรยายถึงความเสียหายโดยแจ้งชัดแล้วว่าทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินค่าเสียหายเท่าใด ส่วนรายละเอียดเสียหายอย่างใดนั้น เป็นเรื่องที่จะนำสืบให้ปรากฏในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายจึงไม่เคลือบคลุม

พิพากษายืน

Share