แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุรับจ้างบรรทุกหิน ดิน ทราย อันเป็นการทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง ภายใต้บังคับบัญชาของนายจ้าง ถึงแม้จำเลยที่ 2 จะจ่ายสินจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นรายเที่ยวก็เป็นแต่เพียงวิธีการคำนวณสินจ้างและกำหนดจ่ายสินจ้างเมื่องานได้ทำแล้วเสร็จหาทำให้อำนาจบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงไปไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยทั้งสองจึงต้องด้วยลักษณะจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 การที่จำเลยที่ 1ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เพื่อจะนำไปเก็บ ก็เป็นการปฏิบัติงานของนายจ้างตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปย่อมเป็นการกระทำในทางการที่จ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เด็กชายชัยโรจน์ พูลจันทร์ อายุ 13 ปี เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่ในความปกครองของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน น.ศ.05092 และได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ครอบครองหาผลประโยชน์รับจ้างบรรทุกหิน ดิน ทราย และใช้ในกิจการส่วนตัว กับได้ร่วมกันเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2519 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ได้ขับรถคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างไปตามถนนสายทุ่งสง – นครศรีธรรมราช ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 11 – 12 ซึ่งเป็นทางโค้งไปมาระหว่างช่องไหล่เขาและเป็นทางลาดลงสู่ที่ต่ำคดเคี้ยวไปมาซึ่งไม่สามารถมองเห็นรถที่แล่นสวนทางมาในระยะไกลได้ จำเลยที่ 1 ได้ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยขับด้วยความเร็วสูง ขับคร่อมเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนกินทางเข้าไปในเส้นทางของรถที่จะแล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้รถของจำเลยที่ 1 พุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์โดยสารที่แล่นสวนทางมาได้รับความเสียหายและผู้โดยสารคือเด็กชายชัยโรจน์ พูลจันทร์ บุตรโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสแขนขวาขาด จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก คดีถึงที่สุด การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาท แต่รถที่แล่นสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถของจำเลยที่ 1 ในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 1 โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ร่วมกันดำเนินกิจการใช้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุทั้งในกิจการส่วนตัวและรับจ้างหาผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งไม่ได้ร่วมกันจ้างจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาทคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 452/2520 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 5 (ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช) จะนำมายันจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้ จำเลยที่ 2 ได้ประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกบริษัทสินมั่นคง ประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ดำเนินกิจการใช้รถคันดังกล่าวหาประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิด และต่อสู้ว่าฟ้องเคลือบคลุมและคดีขาดอายุความจำเลยร่วมไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุ หากเป็นผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องรับผิด เพราะผู้เอาประกันภัยผิดเงื่อนไขและผิดสัญญาประกันภัย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเฉพาะที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายฎีกาเพียงข้อเดียวว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์บรรทุกได้รับสินจ้างจากจำเลยที่ 2 เป็นรายเที่ยว จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และเกิดเหตุขณะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เพื่อจะนำไปเก็บไม่อยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเองนำสืบรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุรับจ้างบรรทุกหิน ดิน ทราย อันเป็นการทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างภายใต้บังคับบัญชาของนายจ้าง ถึงแม้จำเลยที่ 2 จะจ่ายสินจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นรายเที่ยว ก็เป็นแต่เพียงวิธีการคำนวณสินจ้างและกำหนดจ่ายสินจ้างเมื่องานได้ทำแล้วเสร็จ หาทำให้อำนาจบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงไปไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยทั้งสองจึงต้องด้วยลักษณะจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เพื่อจะนำไปเก็บ ก็เป็นการปฏิบัติงานของนายจ้างตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไป ย่อมเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพียง 10,000 บาท ที่ศาลล่างให้จำเลยร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เกินไปกว่าจำนวนอันจะพึงต้องใช้ตามสัญญาศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 129,679 บาท โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดเพียง 10,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์