คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีผู้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้ผู้ขอจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่น หรือเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลายนั้นเองก็ตาม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้หรือไม่ แล้วทำความเห็นเสนอศาลและศาลมีอำนาจสั่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 106,107,108
เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งให้จำเลย (ลูกหนี้) เสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ (เจ้าหนี้) โดยวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนี้ คำพิพากษาดังกล่าวไม่ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาล (ในคดีล้มละลาย)เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอศาลและศาลมีคำสั่งตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะคิดดอกเบี้ยทบต้นหลังจากวันฟ้องไม่ได้ ก็ย่อมมีอำนาจที่จะทำความเห็นและมีคำสั่งเช่นนั้น

ย่อยาว

ธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมเป็นเงิน 887,870 บาท 51 สตางค์ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ซึ่งศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจคำขอรับชำระหนี้และสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าลูกหนี้ต้องรับผิดในจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระเงิน 144,533 บาท 84 สตางค์ และดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องคดีย่อมถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันเลิกกัน ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเวลา 12 ปี 1 เดือน เป็นเงิน 269,193 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 4,751 บาท 50 สตางค์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 418,478 บาท 34 สตางค์ ควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวส่วนที่ขอเกินมา 491,392 บาท 17 สตางค์ให้ยกเสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นเงิน 418,478 บาท 34 สตางค์ตามมาตรา 130(8) ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสียตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 887,870 บาท 51 สตางค์ ตามที่ได้ยื่นคำขอไว้

รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่าธนาคารกรุงไทยจำกัด เจ้าหนี้ได้จดทะเบียนรวมกิจการระหว่างธนาคารมณฑล จำกัด กับธนาคารเกษตร จำกัด เข้าด้วยกัน ใช้ชื่อใหม่ว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2509 ธนาคารมณฑล จำกัด ได้ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 616/2506 เนื่องจากลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ศาลแพ่งได้พิพากษาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์2506 ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ 144,533 บาท 84 สตางค์ และดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องคือวันที่ 22 พฤศจิกายน 2505 จนถึงวันชำระเสร็จ และค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความ 1,000 บาท ลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาและลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้จึงได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2516 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2517 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 883,119 บาท 01 สตางค์ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 4,751 บาท 50 สตางค์ รวมทั้งสิ้น 887,870 บาท 51 สตางค์ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ ก็ตามต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และมาตรา 105 บัญญัติว่าในการตรวจคำขอรับชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือบุคคลใดมาสอบสวนเรื่องหนี้สิน แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้ต่อศาลพร้อมทั้งรายงานว่ามีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ประการใดหรือไม่ เป็นที่เห็นได้ว่า เมื่อมีผู้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้ผู้ขอจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นหรือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลายนั้นเอง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้หรือไม่แล้วทำความเห็นเสนอศาล และศาลมีอำนาจสั่งตามบทบัญญัติของมาตรา 106, 107, 108 แสดงว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอื่นไม่ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาล ฉะนั้น แม้หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระเป็นหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 616/2506 ของศาลแพ่งซึ่งให้จำเลย (ลูกหนี้ในคดีล้มละลาย) เสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ (เจ้าหนี้) โดยวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาล เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอศาลและศาลมีคำสั่งตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะคิดดอกเบี้ยทบต้นหลังจากวันฟ้องไม่ได้ ก็ย่อมมีอำนาจที่จะทำความเห็นและมีคำสั่งเช่นนั้น

พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

Share