คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 345/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยตกลงกับโจทก์ว่าจะจัดซ่อมรถให้เสร็จภายใน20วันนับแต่วันเกิดเหตุแต่จำเลยซ่อมไม่เสร็จโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาการซ่อมและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ทำการซ่อมรถยนต์ให้เป็นที่เรียบร้อยใช้การได้ดีเหมือนเดิมเป็นการปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์ประกันภัยครบถ้วนไม่ได้ผิดสัญญาซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เฉพาะว่าจำเลยได้ปฎิบัติผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่จัดซ่อมรถคันพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่เท่ากันมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ซ่อมรถให้เสร็จภายใน20วันนับแต่วันเกิดเหตุตามที่ตกลงกับโจทก์ไว้ด้วยคำสั่งของศาลชั้นต้นในการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาโจทก์มิได้โต้แย้งไว้ประเด็นข้อพิพาทจึงยุติตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดโจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226เมื่อไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยผิดสัญญาซ่อมรถกับโจทก์หรือไม่จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายในส่วนที่เกี่ยวกับค่ารถแท็กซี่ที่โจทก์ฟ้องเรียกโดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาซ่อมรถ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัยมิใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดเหตุเมื่อจำเลยผิดสัญญาประกันภัยและเป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา203วรรคหนึ่งโจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันก็ตามแต่เมื่อไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้ซ่อมรถและเรียกให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดศาลก็ชอบที่จะกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องได้ โจทก์เรียกค่าเสียหายในส่วนที่จำเลยซ่อมรถล่าช้าทำให้ราคารถยนต์ต่ำลงเนื่องจากรัฐบาลประกาศลดการเก็บภาษีรถยนต์นั้นเป็นการอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาซ่อมรถไม่เสร็จภายในกำหนดเมื่อไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยผิดสัญญาซ่อมรถกับโจทก์หรือไม่จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายในส่วนนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียน1 ช-7449 กรุงเทพมหานคร และเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวกับจำเลย โดยจำเลยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนไม่เกิน400,000 บาท เพื่อความเสียหายหรือสูญหายใด ๆ ต่อรถยนต์ดังกล่าวรวมทั้งอุปกรณ์ที่ติดประจำ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2534รถยนต์ของโจทก์ชนกับรถบรรทุก ทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยได้นำรถยนต์โจทก์ไปซ่อมที่อู่ ป. เก๋งยนต์ โดยจำเลยตกลงว่าจะซ่อมให้เสร็จภายใน 20 วันนับแต่วันเกิดเหตุ แต่ปรากฏว่ามิได้ซ่อมให้เสร็จตามสัญญา โจทก์จึงรับรถยนต์จากอู่ ป. เก๋งยนต์ไปซ่อมที่บริษัทฮอนด้าคาร์ส์ (ประเทศไทย) จำกัด การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 451,596บาท พร้อมดอกเบี้ย 14,900 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 466,496 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 451,596 บาท นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2534 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียน1 ช-7449 กรุงเทพมหานคร จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้ให้อู่ ป.เก๋งยนต์ซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้อยู่ในสภาพดีเหมือนเดิม โดยโจทก์ได้ตรวจสอบสภาพรถจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้รับรถจากอู่ ป.เก๋งยนต์ไป ถือว่าจำเลยปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์ประกันภัยโดยครบถ้วน การที่โจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวไปซ่อมที่บริษัทฮอนด้าคาร์ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในภายหลังเป็นเรื่องที่โจทก์ซ่อมและตกลงราคาค่าซ่อมกับบริษัทฮอนด้าคาร์ส์ (ประเทศไทย)จำกัด ตามลำพัง เป็นการผิดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถ ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้นกรมธรรม์ประกันภัยระบุไม่คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดส่วนราคารถยนต์ลดต่ำ เนื่องจากรัฐบาลประกาศลดภาษีนั้นไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าเช่ารถแท็กซี่วันละ 300 บาท เป็นเวลา 171 วัน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินค่ารถแท๊กซี่ในแต่ละวันที่โจทก์จ่ายตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2534จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอสำหรับค่าเสียหายที่เกี่ยวกับการเช่ารถแท็กซี่ของโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยเพียงประการเดียว แต่ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานผิดสัญญาว่าจะซ่อมแซมรถยนต์โจทก์ให้เสร็จภายในกำหนด 20 วัน การที่จำเลยไม่ซ่อมรถให้เสร็จเป็นการผิดสัญญา จำเลยมิได้ให้การ เท่ากับจำเลยยอมรับตามข้อหา ต้องฟังว่าจำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายในส่วนที่เกี่ยวกับค่ารถแท็กซี่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัยไม่ได้ฟ้องฐานละเมิด จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนอกคำฟ้องไม่ชอบ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับข้อนี้ว่า จำเลยตกลงกับโจทก์ว่า จะจัดซ่อมรถให้เสร็จภายใน 20 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ แต่จำเลยซ่อมไม่เสร็จโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาการซ่อม และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ทำการซ่อมรถยนต์ให้เป็นที่เรียบร้อยใช้การได้ดีเหมือนเดิม เป็นการปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์ประกันภัยครบถ้วน ไม่ได้ผิดสัญญา ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อนี้ว่า จำเลยได้ปฎิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่จัดซ่อมรถคันพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นได้ว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เฉพาะว่าจำเลยได้ปฎิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย โดยไม่จัดซ่อมรถคันพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่เท่านั้น มิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ซ่อมรถให้เสร็จภายใน 20 วัน นับแต่วันเกิดเหตุตามที่ตกลงกับโจทก์ไว้ด้วย คำสั่งของศาลชั้นต้นในการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์มิได้โต้แย้งไว้ประเด็นข้อพิพาทจึงยุติตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด และโจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226เมื่อไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยผิดสัญญาซ่อมรถกับโจทก์หรือไม่จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายในส่วนที่เกี่ยวกับค่ารถแท็กซี่เพราะโจทก์ฟ้องเรียกค่ารถแท็กซี่โดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาซ่อมรถโจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดเหตุเป็นต้นไปนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัย หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดไม่ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดเหตุ แต่การที่จำเลยไม่ยอมซ่อมรถให้แก่โจทก์จนแล้วเสร็จถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาประกันภัยและในกรณีเช่นนี้เป็นกรณีที่เวลาอันจะถึงชำระหนี้มิได้กำหนดไว้แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง โจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันก็ตาม แต่ทางพิจารณาก็ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้ซ่อมรถและเรียกให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องนั้นจึงชอบแล้ว โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่าจำเลยซ่อมรถล่าช้าทำให้รัฐบาลลดการเก็บภาษี ทำให้โจทก์ขายรถได้ในราคาต่ำกว่าที่ควรจะได้ จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ด้วย เห็นว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายในส่วนนี้โดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาซ่อมรถไม่เสร็จภายในกำหนด เมื่อไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยผิดสัญญาซ่อมรถกับโจทก์หรือไม่ ดังวินิจฉัยข้างต้น จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายในส่วนนี้
พิพากษายืน

Share