แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายระบุว่า ซื้อขายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 65 ไร่ราคาไร่ละ 4,300 บาท แสดงว่าคู่สัญญาเจตนาถือเอาเนื้อที่ดินเป็นสาระสำคัญ เป็นการซื้อขายโดยกำหนดจำนวนเนื้อที่ดินไม่ใช่เป็นการซื้อขายเหมาที่ดินกันทั้งแปลง โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนโดยอ้างว่าจำเลยส่งมอบที่ดินน้อยกว่าที่ตกลงซื้อขายกัน เป็นเรื่องฟ้องให้คืนเงินฐานลาภมิควรได้ มิใช่ฟ้องให้รับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวน จึงต้องนำอายุความเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นเป็นประเด็นว่าคดีไม่ขาดอายุความเพราะเป็นการฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความลาภมิควรได้ จึงไม่เป็นการนอกเหนือคำฟ้องและคำฟ้องอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 11 หน้า 196 สารบบเล่ม 44เนื้อที่ประมาณ 65 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา จากจำเลย โจทก์ชำระราคาให้จำเลยครบถ้วน และจำเลยโอนทางทะเบียนสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์กับนางเง็กลั้ง เลิศมณีทวีทรัพย์ ภริยาโจทก์แล้วต่อมาปรากฏว่าที่ดินขาดจำนวน 26 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวาคิดเป็นเงิน 1,134,340 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การซื้อขายที่ดินตามฟ้องเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด โจทก์เข้าทำประโยชน์จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีการโต้แย้งสิทธิ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องเรียกเงิน 1,134,340บาท คืน เงินจำนวนดังกล่าวเกินไปจากสัญญา กรณีไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ที่ได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้แต่เป็นเรื่องซื้อขายในเรื่องหน้าที่และความรับผิดของผู้ขายในการส่งมอบทรัพย์สินขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466 มีอายุความฟ้องร้อง 1 ปี เมื่อส่งมอบที่ดินกันวันที่ 7 มิถุนายน 2533 นับถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน1,133,802.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ถึงแก่กรรม นายสรายุธเลิศมณีทวีทรัพย์ บุตรของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 11 หน้า 196สารบบเล่ม 44 หมู่ที่ 7 ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรีจังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ประมาณ 65 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวาให้โจทก์เป็นเงิน 2,838,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1จำเลยส่งมอบที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์ได้ชำระราคาแล้วต่อมาเดือนเมษายน 2535 โจทก์ยื่นคำขอเปลี่ยนหลักฐานทางทะเบียนที่ดินที่ซื้อขายจาก น.ส.3 เป็น น.ส.3 ก. และนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดที่ดินได้เนื้อที่ 39 ไร่ 2 งาน1 ตารางวา โจทก์จึงรู้ว่าเนื้อที่ดินขาดจำนวนไปเนื้อที่ 26 ไร่1 งาน 47 ตารางวา เป็นเงิน 1,133,802.50 บาท โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลย พิเคราะห์แล้วที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยได้ส่งมอบที่ดินครบถ้วนตามสัญญาแล้วนั้น เห็นว่า สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าเป็นการซื้อขายที่ดินตาม น.ส.3 ทะเบียนเล่ม 11 หน้า 196 สารบบเล่ม 44เนื้อที่ประมาณ 65 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา ในราคาไร่ละ 4,300 บาทเป็นเงิน 2,838,000 บาท ย่อมแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามีเจตนาถือเอาเนื้อที่ดินเป็นสาระสำคัญ เป็นการซื้อขายโดยกำหนดจำนวนเนื้อที่ดินไม่ใช่เป็นการซื้อขายเหมาที่ดินกันทั้งแปลง เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินนั้นแล้ว เนื้อที่ดินขาดไป 26 ไร่ 1 งาน47 ตารางวา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยส่งมอบที่ดินไม่ครบถ้วนตามสัญญา
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวน โจทก์รับมอบที่ดินเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2533 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 2 กรกฎาคม2535 เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าที่ดินบางส่วนจำนวน 1,133,802.50 บาท คืนโดยอ้างว่าจำเลยส่งมอบที่ดินน้อยกว่าที่ดินตามที่ตกลงซื้อขายกัน กรณีจึงเป็นเรื่องฟ้องจำเลยให้คืนเงินดังกล่าวฐานลาภมิควรได้ มิใช่เป็นการฟ้องจำเลยให้รับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนดังที่จำเลยฎีกา จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 467 มาบังคับไม่ได้ต้องนำอายุความเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419บัญญัติว่า ในเรื่องลาภมิควรได้นั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รู้ว่าที่ดินขาดจำนวนเมื่อเดือนเมษายน 2535 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 2 กรกฎาคม 2535ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับปัญหาเรื่องลาภมิควรได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการนอกเหนือจากคำฟ้องและคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องตั้งประเด็นว่า จำเลยส่งมอบที่ดินน้อยกว่าเนื้อที่ตามที่ตกลงซื้อขายกัน ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าที่ดินบางส่วนแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความว่าคดีโจทก์ขาดอายุความโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นเป็นประเด็นว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเป็นการฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ ดังนั้น การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการนอกเหนือคำฟ้องและคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน