คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ล. รู้ตัวว่าตนเป็นโรคไตวายร้ายแรง แต่ละเว้นไม่เปิดเผยความจริงทำให้จำเลยเข้าทำสัญญายอมรับประกันชีวิตล. โดยไม่ทราบการเป็นโรคไตร้ายแรงดังกล่าว ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 เมื่อจำเลยบอกล้างภายในกำหนดแล้ว สัญญาย่อมตกเป็น โมฆะ ดังนี้โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของนางละม่อม ซึ่งต่อมาถึงแก่กรรมด้วยโรคไตวายขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 125,920.16 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 122,550 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า นางละม่อมรู้อยู่แล้วว่าตนป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังที่ร้ายแรงมาก แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยถึงข้อความจริงนี้ให้จำเลยได้ทราบ สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับนางละม่อมจึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยทราบข้อความจริงได้บอกล้างสัญญาไปแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน122,550 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่า นางละม่อมผู้เอาประกันภัยรู้หรือไม่ว่าขณะที่ขอเอาประกันชีวิตนั้นตนป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังร้ายแรงมากและปกปิดความจริงไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่านางละม่อมรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นโรคไตจากแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนขณะรักษาอาการผ่าตัดไส้ติ่ง และเชื่อได้ต่อไปว่านางละม่อมรู้ตัวว่าโรคไตวายมีอาการร้ายแรงเพราะหลังจากรักษาไส้ติ่งเพียงเดือนเศษ นางละม่อมได้ขอทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์กับจำเลยโดยทำฉบับแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2526ฉบับที่สองเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2526 ปรากฏตามเอกสารหมายปล.1, ปล.2 กับยังได้ความอีกว่าในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2526นางละม่อมได้ทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทไทยประสิทธิ์ประกันภัย จำกัด อีกสัญญาหนึ่งด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนให้เห็นว่า นางละม่อมรู้ตัวว่าเป็นโรคไตวายร้ายแรงก่อนที่จะขอเอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์คดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะหรือไม่เห็นว่าโรคดังกล่าวเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งเวลาขอเอาประกันชีวิตนางละม่อมจะต้องแจ้งให้จำเลยทราบโดยการกรอกข้อความแสดงว่าเป็นโรคไตในใบขอเอาประกันชีวิตแต่นางละม่อมละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงโดยไม่กรอกข้อความในเอกสารดังกล่าว ปรากฏตามข้อ 3(จ) ในเอกสารหมาย ปล.1 และ ปล.2 ทั้งนี้เพื่อแสดงว่านางละม่อมไม่เคยป่วยด้วยโรคไตวายร้ายแรง ซึ่งจำเลยนำสืบว่า หากจำเลยทราบก็จะไม่เข้าทำสัญญารับประกันชีวิตของนางละม่อมเด็ดขาดในข้อนี้นายแพทย์บรรณสิทธิ์เบิกความว่าโรคไตของนางละม่อมไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่พอจะมีทางรักษาให้ทรงตัวอยู่ได้ จึงสนับสนุนให้เห็นว่าถ้าจำเลยได้ทราบก็จะไม่เข้าทำสัญญาประกันชีวิตนางละม่อม การที่นางละม่อมละเว้นไม่เปิดเผยความจริงทำให้จำเลยเข้าทำสัญญายอมรับประกันชีวิตนางละม่อมโดยไม่ทราบการเป็นโรคไตร้ายแรงดังกล่าว ทำให้สัญญาเป็นโมฆียะตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865จำเลยจึงมีสิทธิบอกล้างได้ ซึ่งจำเลยก็ได้บอกล้างนิติกรรมภายในกำหนดแล้วโดยจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2527 และบอกล้างไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 15 เดือนเดียวกันนิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตได้”
พิพากษายืน

Share