คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยแบ่งพื้นที่บางส่วนภายในห้างสรรพสินค้าให้ธนาคาร ธ. เช่าประกอบกิจการธนาคารเพื่อเป็นการจูงใจลูกค้าให้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลย ถือได้ว่าผู้เอาประกันภัยของโจทก์ที่เข้าไปใช้บริการธนาคาร ธ. เป็นลูกค้าที่มาใช้บริการของห้างสรรพสินค้าจำเลยด้วย การที่จำเลยซึ่งประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าและให้บริการ จำเลยต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจ เป็นแรงจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าและใช้บริการ โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถที่กว้างขวางมีปริมาณเพียงพอ ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าในการใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลย ดังนั้น จำเลยย่อมมีหน้าที่จัดการดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของผู้มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลย เมื่อจำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยแจกบัตรและควบคุมดูแลการเข้าออกของรถยนต์ลูกค้า เป็นการเปิดโอกาสให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย จึงถือว่าจำเลยกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยจากจำเลยได้ จำเลยทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้กับจำเลยร่วม ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ระบุความรับผิดในเรื่องผลกระทบจากผู้มาเยือนและยานพาหนะในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยซึ่งความเสียหายดังกล่าวรวมถึงความสูญหายด้วย การที่รถยนต์ของลูกค้าสูญหายในบริเวณพื้นที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าแม้จะเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกแต่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกต้องรับผิดในความสูญหาย จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 486,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 480,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 486,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 480,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มกราคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์และจำเลยร่วมและระหว่างจำเลยและจำเลยร่วมให้เป็นพับ และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า นายภูเบศน์ เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ฒฐ 3517 กรุงเทพมหานคร จากธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้จากนายภูเบศน์ โดยมีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2556 นายภูเบศน์ ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาบางพลี ของจำเลยแล้วเข้าไปใช้บริการที่ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาบิ๊กซี ผู้เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าของจำเลย เมื่อนายภูเบศน์กลับมาที่ลานจอดรถปรากฏว่ารถยนต์ที่จอดไว้สูญหายโดยคนร้ายลักเอาไป ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์สูญหายให้แก่ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเงิน 480,000 บาท จำเลยเอาประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้กับจำเลยร่วม
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณที่จอดรถของห้างสรรพสินค้าของจำเลยและเข้าไปใช้บริการที่ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเช่าพื้นที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยเป็นการเข้าไปใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าธนาคารธนชาต (จำกัด) มหาชน เช่าพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลย เพื่อประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ และวันที่ 25 สิงหาคม 2556 นายภูเบศน์ ผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์เข้ามาจอดที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าของจำเลยและเข้าไปทำธุรกรรมทางการเงินโดยชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคารดังกล่าวนั้น เห็นว่าพื้นที่ห้างสรรพสินค้าดังกล่าวนอกจากจะเป็นกิจการค้าปลีกของห้างสรรพสินค้าของจำเลยแล้ว จำเลยยังแบ่งพื้นที่บางส่วนภายในห้างสรรพสินค้าเพื่อให้ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เช่าเพื่อประกอบกิจการธนาคารเพื่อเป็นการจูงใจลูกค้าให้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลย ถือได้ว่านายภูเบศน์ผู้เอาประกันภัยเป็นลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการของห้างสรรพสินค้าของจำเลยด้วย เพราะห้างสรรพสินค้าของจำเลยได้ประโยชน์จากการเปิดพื้นที่ให้ธนาคารดังกล่าวเช่าอันเป็นการจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยเพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่นายภูเบศน์ผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เข้ามาจอดในบริเวณที่จอดรถของจำเลยและเข้าไปใช้บริการที่ธนาคารดังกล่าว จึงถือได้ว่านายภูเบศน์ผู้เอาประกันภัยนั้นเป็นลูกค้ามาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลยด้วย
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดแก่ผู้เอาประกันภัยและโจทก์ผู้รับประกันภัยหรือไม่ โดยที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดเพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ในการรับฝากรถของผู้เอาประกันภัยก็ดีและไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายหน้าที่ตามสัญญาหรือหน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนที่จะต้องดูแลรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยที่นำเข้ามาจอดที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยและใช้บริการเพื่อป้องกันมิให้มีคนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย สำหรับการที่จำเลยต้องจัดสร้างที่จอดรถให้แก่ลูกค้านั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารไม่มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินรวมถึงรถยนต์ที่เข้ามาจอดที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าของจำเลย ดังนั้นแม้จำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยมาคอยดูแลรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยและมีคนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยไป ก็ไม่ถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยและโจทก์ผู้รับประกันภัยด้วย นั้น เห็นว่า การที่จำเลยซึ่งประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ จำหน่ายสินค้าและให้บริการจำเลยต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจ เป็นแรงจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าและใช้บริการห้างสรรพสินค้า อันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถที่กว้างขวางมีปริมาณเพียงพอสะดวกสบายย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าในการเข้าใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลย ดังนั้นจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องจัดการดูแลรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สินของผู้มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลยรวมทั้งมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าตามสมควร มิใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการเช่นผู้เอาประกันภัยที่เข้าไปใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยต้องเสี่ยงภัยจากการโจรกรรมรถยนต์เพียงฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยแจกบัตรจอดรถและควบคุมดูแลการเข้าออกของรถยนต์ของลูกค้ารวมทั้งรถยนต์ผู้เอาประกันภัย อันเป็นการเปิดโอกาสให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยไป จึงถือว่าจำเลยกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง เมื่อคนร้ายลักรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยไป จึงถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ผู้รับประกันภัย และโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิในการเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้พร้อมดอกเบี้ย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยหรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า สัญญาประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมนั้น จำเลยอยู่ในฐานะผู้บริโภค กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวกำหนดให้จำเลยร่วมต้องรับผิดเมื่อมีความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในสถานประกอบการ หรือเกิดจากการใช้สถานประกอบการโดยจำเลยร่วมจะต้องรับผิดในส่วนที่เกินความเสียหายส่วนแรกจำนวน 196,524 บาท ต่ออุบัติเหตุในแต่ละครั้ง นั้น เห็นว่า การตีความกรมธรรม์ประกันภัยต้องตีความตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญา โดยข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ระบุความคุ้มครองการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้ในกรณี การเสียชีวิต บาดเจ็บและความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัยหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยในทางการที่จ้างหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นในสถานที่ประกอบการ จากการประกอบการซึ่งเป็นความรับผิดของผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ระบุความรับผิดในเรื่องผลกระทบจากผู้มาเยือนและยานพาหนะในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์จากผลกระทบส่วนบุคคล (รวมถึงยานพาหนะและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยซึ่งความเสียหายดังกล่าวหมายความรวมถึงความสูญหายด้วยตามนิยามศัพท์ข้อ 11.11 และไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามข้อ 10.19 เมื่อรถยนต์ของลูกค้าสูญหายในบริเวณพื้นที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยแม้จะเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกแต่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ระบุถึงความรับผิดส่วนแรกว่า ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจำเลยจะต้องรับผิดในความเสียหายส่วนแรกเป็นเงิน 196,524 บาท ของความเสียหายในแต่ละครั้งและจำเลยร่วมต้องรับผิดเฉพาะความเสียหายส่วนที่เกิน 196,524 บาท เท่านั้น โดยจำเลยร่วมไม่ได้นำสืบหักล้างว่ากรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดเฉพาะในส่วนที่เกิน 196,524 บาท ดังนั้นจำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 283,476 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2557 ที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยยกฟ้องจำเลยร่วมมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมร่วมกับจำเลยรับผิดชำระเงิน 283,476 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 283,476 บาท นับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี (วันที่ 19 มีนาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share