แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การปล้นทรัพย์ซึ่งกระทำต่อทรัพย์อันมีเงินสด เครื่องทองรูปพรรณ สินค้าต่างๆ พระเครื่อง เหรียญหลวงพ่อต่างๆ และพระเขมรซึ่งมิได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ทวิ
การที่ ส. และ ช. จำเลยมีปืนติดตัวมาในการปล้มทรัพย์เพื่อใช้เป็นอาวุธประหารผู้ที่ต่อสู้ขัดขืนเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ฯลฯ เมื่อคนร้ายอื่นเข้าจับตัว บ. เจ้าทรัพย์ บ. ขัดขืนสะบัดหลุดและกระโดดลงจากบ้าน แล้วจำเลยทั้งสองใช้ปืนที่นำติดตัวไปยิง บ.คนละนัด เป็นเหตุให้ บ. ตายสมดังเจตนาของตน แม้ไม่ปรากฏว่ากระสุนปืนที่ถูก บ. นั้นเป็นกระสุนปืนของ ส. หรือ ช. จำเลยก็ถือว่า ส. และ ช. จำเลยร่วมกันฆ่า บ. ตามมาตรา 289 (6) และ (7) (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1383/2514)
จำเลยมีความผิดตามมาตรา 289 (6) และ (7) และมาตรา 340 วรรคสุดท้าย ตามที่แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิบัติซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ศาลลงโทษตามมาตรา 289 (6) และ (7) ได้ตามนัยมาตรา 90
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่าจำเลยทั้งสองสำนวนกับพวกอีก ๑๒ คนมีปืนลูกซองยาว ปืนลูกซองพกสั้นและลูกระเบิดมือเป็นอาวุธติดตัวไป บังอาจร่วมกันปล้นเอาทรัพย์สินต่างๆ ของนางแฉล้ม เด่นกระจ่าง นายสง่า สร้อยทอง ปรากฏรายละเอียดตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องไปโดยทุจริต ในการปล้นทรัพย์ดังกล่าวจำเลยทั้งสองสำนวนกับพวกใช้อาวุธปืนที่ติดตัวไปบังคับขู่เข็ญบุคคลที่อยู่ในบ้าน มิให้ร้องเอะอะขัดขืน และยิงนายบุญยัง เด่นกระจ่าย ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า ปรากฏตามรายงานชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้องสำนวนแรก แล้วจำเลยกับพวกยังได้บังคับขู่เข็ญ คุม นายสง่า สร้อยทอง นางละมัย เด่นกระจ่าย นางสาวประไพ เด่นกระจ่าง และนายสำเนียง สร้อยทอง ให้ไปส่งจำเลยกับพวกอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ เพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และเพื่อปกปิดการกระทำผิดนั้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๔๐, ๓๕๐ ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่นางแฉล้ม เด่นกระจ่าย และนายสง่า สร้อยทอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองสำนวนร่วมกันปล้นทรัพย์ของนางแฉล้มและนายสง่าและร่วมกันฆ่านายบุญยังจริงตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองสำนวนทุกคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๔๐, ๓๔๐ ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสองสำนวนทุกคน ให้จำเลยทั้งสองสำนวนร่วมกันใช้ราคาทรัพย์แก่นางแฉล้มและแก่นายสง่า
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่านายสุนิจจำเลยและนายชื่อจำเลยเป็นคนร้ายที่ปล้นทรัพย์ของนางแฉล้ม โดยนายสุนิจจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้ปืนสั้นยิงนายบุญยัง และนายชื่นจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้ปืนยาวยิงนายบุญยัง และพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่านายสมพงษ์จำเลยและนายจรัญจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่านายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๔๐, ๓๔๐ ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการปล้นทรัพย์รายนี้กระทำต่อทรัพย์ซึ่งมีเงินสด เครื่องทองรูปพรรณ สินค้าต่างๆ พระเครื่อง เหรียญหลวงพ่อแดง เหรียญหลวงพ่อเอีย เหรียญหลวงพ่อเทศและพระเขมร มิได้กระทำต่อทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ วรรคแรก นายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ทวิ ส่วนการที่นายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยใช้ปืนลูกซองยิงนายบุญยังคนละ ๑ นัด แต่กระสุนปืนถูกนายบุญยังเพียงนัดเดียวโดยไม่ปรากฏว่ากระสุนปืนที่ถูกนายบุญยังนั้นเป็นกระสุนปืนของนายสุนิจจำเลยหรือของนายชื่นจำเลยนั้น เห็นว่าการที่นายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยมีปืนติดตัวมาในการปล้นทรัพย์ เพื่อใช้เป็นอาวุธประหารผู้ที่ต่อสู้ขัดขืน เพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ เพื่อปกปิดความผิดฐานปล้นทรัพย์ของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดฐานปล้นทรัพย์ของตน เมื่อคนร้ายอื่นเข้าจับตัวนายบุญยัง นายบุญยังขัดขืนโดยสะบัดหลุดกระโดดลงจากบ้านแล้วนายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยใช้ปืนที่นำติดตัวไปยิงนายบุญยังคนละ ๑ นัดเป็นเหตุให้นายบุญยังถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของตนแล้ว แม้ไม่ปรากฏว่ากระสุนปืนที่ถูกนายบุญยังนั้นเป็นกระสุนปืนของนายสุนิจจำเลยหรือนายชื่นจำเลย ถือว่านายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยร่วมกันฆ่านายบุญยังตามประมวลกฎหมายอาญ มาตรา ๒๘๙ (๖) และ (๗) เทียบตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๘๓/๒๕๑๔ ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดพัทลุงโจทก์ นายหมีดหรือริม หนานนุ้ย กับพวก จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่านายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๘๙ (๖) และ (๗) และ ๓๔๐ วรรคสุดท้าย ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๖) และ (๗) ตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้ประหารชีวิตนายสุนิจจำเลยและนายชื่นจำเลย ยกฟ้องโจทก์เฉพาะนายสมพงษ์จำเลยและนายจรัญจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์