คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 914/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จำเลยสืบพยานเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาแล้วแต่คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลย ศาลเพิ่งพิพากษา ดังนี้ จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตอ้างสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าว เป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใส่ความโจทก์ เป็นละเมิด เรียกค่าเสียหายเป็นคดีที่มีมูลมาจากการที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยกระทำผิดในคดีอาญาข้อหาแจ้งความเท็จ ดูหมิ่นเจ้าพนักงานหมิ่นประมาท คดีนี้ จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องและคำให้การและตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมเมื่อระหว่าง พ.ศ. 2518 ถึง พ.ศ. 2519 โจทก์รับราชการในตำแหน่งราชพัสดุจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับเงินเดือนเดือนละ 2,370 บาท มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลที่ดินอาคารราชพัสดุ จัดเก็บค่าเช่าอาคารและที่ดินในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทวิบูลย์การเดินเรือ จำกัด บริษัทวิบูลย์การเดินเรือ จำกัด ได้เช่าที่ดินโฉนดที่ 2480 อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการจากกระทรวงการคลังมีกำหนด 10 ปี เพื่อสร้างตลาด โดยบริษัทปลูกสร้างอาคารและแผงลอย สิ่งปลูกสร้างตกเป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง แต่บริษัทมีสิทธิเก็บค่าเช่าในระหว่างอายุสัญญาเช่า จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์และตลาดสดแล้ว และได้ทำสัญญาเช่ากับกระทรวงการคลังตามเอกสารหมาย จ.14 มีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 19 เมษายน 2509 ถึงวันที่ 18 เมษายน 2518 นอกจากอาคารพาณิชย์และตลาดสดดังกล่าวจำเลยได้ปลูกสร้างอาคารริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 40 คูหาในที่ดินของกรมเจ้าท่าซึ่งอยู่หน้าที่ดินโฉนดที่ 2480 ของกรมธนารักษ์โดยได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าและกรมธนารักษ์แล้ว ก่อนที่สัญญาเช่าจะครบกำหนดบริษัทวิบูลย์การเดินเรือ จำกัด โดยจำเลยผู้จัดการได้มีหนังสือลงวันที่ 3 เมษายน 2519 ตามเอกสารหมาย ล.43 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอต่อสัญญาเช่าที่ดินและเช่าตลาดสดออกไปอีก โดยขอต่อสัญญาเช่าที่ดิน25 ปี และต่ออายุสัญญาเช่าตลาดสดออกไปอีก 10 ปี โดยอ้างว่า อาคาร ถนน และเขื่อนยังไม่เสร็จตามแบบแปลน และได้ลงทุนสร้างตลาดสดหมดเงินไปมากยังไม่อาจถอนทุนคืนได้ ระหว่างที่กระทรวงการคลังยังมิได้อนุมัติให้ต่ออายุสัญญาเช่าได้หรือไม่ ได้มีผู้เช่าช่วงอาคารราชพัสดุ ผู้เช่าแผงลอยในตลาดศรีสมุทรและตลาดปากน้ำได้ร้องเรียนต่อโจทก์ขอเป็นผู้เช่าโดยตรงจากกรมธนารักษ์โดยไม่ต้องเช่าช่วงจากจำเลยและก่อนจำเลยขอต่อสัญญาเช่า โจทก์ได้ทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการว่า จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์นอกเขตโฉนดที่ 2480 ของราชพัสดุ ริมตลิ่งในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังขอให้จังหวัดรายงานให้กระทรวงการคลังทราบ และจังหวัดได้รายงานให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังทราบตามเอกสารหมาย ล.4 ต่อมากระทรวงการคลังจึงได้มีหนังสือที่ กค.0403/9177 ลงวันที่ 16 เมษายน 2519 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการตามเอกสารหมาย จ.1 ให้จังหวัดสมุทรปราการมีหนังสือถึงบริษัทวิบูลย์การเดินเรือ จำกัด รื้อถอนอาคารชั้นเดียวจำนวน 40 หลังที่สร้างโดยมิได้รับอนุญาต รื้อถอนสะพานไม้ที่ใช้เป็นท่าเรือประมง รื้อถอนท่าเรือหางยาวท่าเรือข้ามฟากออกไปเสียจากที่ดินโฉนดที่ 2480 โดยด่วน และเมื่อครบสัญญาเช่าระหว่างบริษัทวิบูลย์การเดินเรือ จำกัด กับกระทรวงการคลังแล้วให้ผู้เช่าแผงลอยในตลาดศรีสมุทรและตลาดปากน้ำมาทำสัญญาเช่าโดยตรงกับทางราชการได้โจทก์ได้บันทึกต่อท้ายหนังสือดังกล่าวเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดว่า 1.เพื่อโปรดทราบ 2.แจ้งให้บริษัทวิบูลย์การเดินเรือทราบตามที่กระทรวงการคลังสั่งการ 3.ทำสัญญาเช่าให้กับผู้เช่าแผงลอยโดยตรง โดยได้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นคือนายอนันต์ อนันตกูล ทราบเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2519 ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2519 โจทก์ในตำแหน่งราชพัสดุจังหวัดสมุทรปราการทำการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการจึงได้มีหนังสือที่ สป.29/7295 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2519 ตามเอกสารหมาย จ.2 ถึงผู้จัดการบริษัทวิบูลย์การเดินเรือ จำกัด ให้ปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงการคลัง โดยให้รื้อถอนอาคารที่อ้างว่าปลูกสร้างโดยไม่รับอนุญาตและให้บริวารออกไปจากอาคารชั้นบนอาคารตลาดศรีสมุทร วันที่ 10 มิถุนายน 2519 จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 10 มิถุนายน 2519 ตามเอกสารหมาย จ.8 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังออกไปอีก 25 ปี โดยอ้างเหตุผลทำนองเดียวกับหนังสือลงวันที่ 3 เมษายน 2519 และจำเลยได้ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า ก่อนที่จำเลยจะได้รับหนังสือจากนายปรีชา ขำศิริ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2519 ให้จำเลยรื้ออาคารที่ปลูกสร้างโดยหาว่าปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต นายปรีชาทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย นายปรีชาได้จัดให้เช่าแผงลอยเป็นการไม่ชอบเพราะบริษัทยังเป็นผู้เช่าตลาดและได้ขอต่ออายุสัญญาเช่ากับกระทรวงการคลังอยู่ จึงขอให้สั่งระงับการดำเนินการให้เช่าแผงลอยของโจทก์และอนุมัติให้บริษัทวิบูลย์การเดินเรือ จำกัด ได้ต่ออายุสัญญาเช่าได้ ระหว่างที่กระทรวงการคลังยังมิได้อนุมัติให้บริษัทวิบูลย์การเดินเรือ จำกัด เช่าแผงลอยต่อไปหรือไม่ กรมธนารักษ์ได้มีคำสั่งที่ 184/2519 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2519 แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีนายบุญเชิด ศรีปานเลขานุการกรมธนารักษ์ เป็นประธานกรรมการทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและสอบสวนทางวินัยโจทก์ตามที่จำเลยร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2519 จำเลยได้ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนที่กรมธนารักษ์ตั้งขึ้น มีใจความสำคัญว่า โจทก์ปฏิบัติมิชอบโดยเก็บหนังสือที่กระทรวงการคลังสั่งการไปยังจังหวัดสมุทรปราการตามหนังสือที่ กค.0403/9177 ลงวันที่ 16 เมษายน 2519 ไม่ให้จำเลยทราบกลับเอาหนังสือดังกล่าวไปโรเนียวแจกพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดสดทั้งสองแห่งอ้างว่า จำเลยหมดสัญญากับกระทรวงการคลังแล้ว ให้พวกผู้เช่ามาทำสัญญากับราชพัสดุจังหวัด โดยโจทก์มีพฤติการณ์ตั้งตัวแทนไปเจรจากับพวกผู้เช่าแผงเรียกเงินค่าเช่าแผงแผงละ 5,000 บาท พฤติการณ์ของโจทก์ไม่บริสุทธิ์ ไม่น่าจะมีการตั้งตัวแทน ทำให้เกิดการรีดไถประชาชน จำเลยทราบว่าตัวแทนเหล่านี้มีการแบ่งผลประโยชน์ที่เก็บได้และแบ่งให้โจทก์ด้วย จำเลยมีความรู้สึกว่าจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโจทก์โจทก์ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการบังหน้าหากินเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงโจทก์ถือโอกาสทำในระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดพักร้อน รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 คณะกรรมการได้ทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ไม่ให้ความเสมอภาคและเป็นธรรมแก่ประชาชน ยอมให้ผู้อื่นแสวงหาประโยชน์ พฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริต แต่พยานหลักฐานไม่ปรากฏชัด คณะกรรมการเห็นว่าโจทก์มีมลทินและมัวหมอง และปรากฏว่านอกจากโจทก์ถูกจำเลยร้องเรียนแล้ว โจทก์ยังถูกนายเสมา พันธ์โชติ ร้องเรียนขอความเป็นธรรมอันเกี่ยวกับการขอเช่าที่ดินราชพัสดุด้วยอีกเรื่องหนึ่ง ผลที่สุดกรมธนารักษ์ได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2519 ที่บริษัทวิบูลย์การเดินเรือ จำกัด โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการขอต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินและตลาดสดนั้น กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ ว่าไม่อนุมัติให้ต่ออายุสัญญาเช่าตลาดสด แต่ส่วนที่ดินที่กำหนดให้สร้างอาคารรวม 5 คูหานั้น กรมธนารักษ์อนุญาตให้บริษัทดำเนินการปลูกสร้างอาคารเฉพาะส่วนนี้ต่อไป นอกจากโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งแล้ว โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครเหนือตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1769/2520 คดีหมายเลขแดงที่ 16083/2524 กล่าวหาจำเลยว่าแจ้งความเท็จ ดูหมิ่นเจ้าพนักงานและหมิ่นประมาทโจทก์ ศาลแขวงพระนครเหนือพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนและคดีอาญาดังกล่าวนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว

โจทก์ฎีกาเป็นข้อแรกว่า จำเลยได้ไปร้องเรียนกล่าวหาโจทก์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและยังไปให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนโจทก์จนโจทก์ถูกออกจากงาน ข้อความที่จำเลยร้องเรียนนั้นไม่เป็นความจริงการกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิด ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วปัญหาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่ามูลละเมิดซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ นอกจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งแล้วโจทก์ได้ฟ้องจำเลยขอให้ศาลลงโทษในทางอาญาด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ได้บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ในคดีอาญาศาลฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิและส่วนได้เสียของจำเลยตามทำนองคลองธรรม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง และคดีได้ถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้น คดีนี้จึงต้องฟังว่าจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์

โจทก์ฎีกาว่า จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 16083/2524 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ภายหลังที่โจทก์จำเลยสืบพยานเสร็จแล้วเป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวน แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวน โจทก์ไม่เห็นด้วย เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรค 3 ได้บัญญัติอนุญาตให้คู่ความซึ่งไม่ได้ระบุอ้างพยานไว้และประสงค์จะขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ก่อนพิพากษาคดี หากมีเหตุสมควรโดยไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบ หรือไม่ทราบว่ามีอยู่ หรือมีเหตุสมควรอื่นใด โดยยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างเสียก่อน คดีนี้สืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จวันที่ 17 สิงหาคม 2524 และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 16 ตุลาคม 2524 เวลา 8.30 นาฬิกา ส่วนคดีอาญาศาลแขวงพระนครเหนือได้พิพากษาคดีวันที่ 21 กันยายน 2524 จึงเห็นได้ว่าจำเลยไม่สามารถอ้างก่อนหน้านี้ได้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตอ้างสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งอนุญาต ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยคดีนี้จึงมิใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวนดังที่โจทก์อ้าง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาต่อไปว่า โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ฐานละเมิดไม่ได้ฟ้องกล่าวหาจำเลยกระทำผิดในทางอาญา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โจทก์ไม่เห็นด้วย เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวหาโจทก์ว่าทำให้บริษัทวิบูลย์การเดินเรือ จำกัด ของจำเลยเสียหาย และจำเลยยังได้ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนกล่าวหาโจทก์ว่าโจทก์ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการหากินเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงเอาเงินเข้ากระเป๋าตนเอง เป็นการใส่ความโจทก์ คณะกรรมการสอบสวนหลงเชื่อถ้อยคำอันเป็นเท็จของจำเลยได้เสนอสั่งปลดโจทก์ออกจากตำแหน่ง และโจทก์ยังได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หมิ่นประมาทต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ตามคดีหมายเลขดำที่ 1769/2520 ด้วย ฉะนั้น ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายเป็นคดีนี้จึงเป็นคดีที่มีมูลมาจากการที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยกระทำผิดในคดีอาญานั่นเอง คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาอีกว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจเรียกสำนวนคดีอาญามาประกอบการวินิจฉัยโดยโจทก์จำเลยมิได้ขอให้ศาลอุทธรณ์เรียกสำนวนมาเห็นว่า คดีนี้จำเลยได้อ้างสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาของศาลแขวงพระนครเหนือเป็นพยานหลักฐานต่อศาลชั้นต้น แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีอาญาดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจที่จะเรียกสำนวนคดีอาญามาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาทแทนจำเลย

Share