แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พนักงานสอบสวนไม่มีส่วนได้เสียหรือสนิทสนมกับฝ่ายใดถ้อยคำมีน้ำหนัก การที่จำเลยตอบคำถามพนักงานสอบสวนว่าจำเลยได้รับฝากทรัพย์ 7 รายการจากโจทก์ เป็นการกล่าวขึ้นโดยสมัครใจไม่มีผู้ใดแนะนำ คำพนักงานสอบสวนจึงรับฟังได้โจทก์ฟ้องว่าฝากทรัพย์ 3 รายการไว้แก่จำเลยและจำเลยยังไม่คืนให้ จำเลยให้การรับว่าโจทก์ฝากไว้จริงแต่โจทก์มาขอคืนและจำเลยได้คืนให้โจทก์ไปหมดแล้ว ดังนี้จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่าได้คืนทรัพย์แก่โจทก์ตามที่อ้าง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนทรัพย์ตามฟ้อง 11 รายการให้โจทก์ หากไม่คืนให้ใช้ราคาเป็นเงิน 272,600 บาทแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่ต้องคืนทรัพย์รายการที่ 1 ตามฟ้องหากจำเลยไม่คืนทรัพย์รายการที่ 2 ถึงที่ 11 ก็ให้ใช้ราคา 228,200 บาท แก่โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ฝากทรัพย์รายการที่ 2 ถึงที่ 8 ไว้แก่จำเลยหรือไม่ และจำเลยคืนทรัพย์รายการที่ 9 ถึงที่ 11 ให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ ในปัญหาประการแรกโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า นายสมพงษ์สามีจำเลยเล่นการพนัน เคยยืมเงินโจทก์บ่อย ๆ บางครั้งนำทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์ไปเสียพนัน โจทก์จึงฝากทรัพย์รายการที่ 1 ถึงที่ 8 อันเป็นของหมั้นไว้แก่จำเลยพร้อมกับทรัพย์รายการที่ 9 ถึง 11 เห็นว่าจำเลยมิได้นำสืบปฏิเสธเรื่องนายสมพงษ์เล่นการพนัน ตามพฤติการณ์มีเหตุให้โจทก์ต้องฝากทรัพย์สินไว้แก่จำเลยจริง โจทก์ยังมีพันตำรวจโทบริบูรณ์ วาราชนนท์ สารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม และพลตำรวจสมชาย เรืองแสนเบิกความเป็นพยานสอดคล้องกับถ้อยคำของโจทก์ว่า เมื่อพันตำรวจโทบริบูรณ์สอบถามจำเลยถึงทรัพย์สิน 11 รายการที่โจทก์อ้างว่าฝากจำเลยไว้ ตอนแรกจำเลยตอบว่าได้รับฝากไว้จริง แต่จำเลยได้จำหน่ายไปหมดสิ้นแล้ว ต่อมาญาติจำเลยพูดกับพันตำรวจโทบริบูรณ์ว่า ความจริงทรัพย์รายการที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นทรัพย์สินที่จำเลยจะมอบให้คู่สมรสเป็นทุน แต่เมื่อเลิกกันแล้วก็ไม่ยอมให้ จำเลยจึงกลับบอกว่าเป็นญาติจำเลยกล่าว พันตำรวจโทบริบูรณ์ให้พลตำรวจสมชายบันทึกไว้ตามคำจำเลยตอนหลัง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 พันตำรวจโทบริบูรณ์และพลตำรวจสมชายไม่มีส่วนได้เสียหรือสนิทสนมกับฝ่ายใด ถ้อยคำมีน้ำหนัก การที่จำเลยตอบคำถามพันตำรวจโทบริบูรณ์ว่าได้รับฝากทรัพย์รายการที่ 2 ถึงที่ 8 ไว้ เป็นการกล่าวขึ้นโดยสมัครใจไม่มีผู้ใดแนะนำ ทั้งเจือสมทางนำสืบของโจทก์ น่าเชื่อว่าถูกต้องตามความจริงฝ่ายจำเลยยื่นคำให้การไว้ว่าทรัพย์รายการที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย ไม่เคยนำไปหมั้นโจทก์ ทรัพย์สินดังกล่าวนี้จำเลยได้มอบให้โจทก์และนายสมพงษ์ไปทำทุนขายรังนก โจทก์ไม่ได้นำมาฝากจำเลย แต่ในชั้นนำสืบจำเลยเบิกความว่าทรัพย์รายการที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นของหมั้น นายสมพงษ์ได้นำทรัพย์ดังกล่าวนี้มาฝากจำเลยไว้ก่อนจะไปเที่ยวต่างประเทศ ครั้นกลับมานายสมพงษ์ได้เอาคืนไปและได้นำไปขายนำเงินไปลงทุน เป็นการแตกต่างกับคำให้การที่ยื่นไว้ทั้งแตกต่างกับถ้อยคำจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก คดีฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่าโจทก์ได้ฝากทรัพย์รายการที่ 2 ถึงที่ 8 ไว้แก่จำเลยจริง ส่วนปัญหาประการที่ 2 ที่ว่าจำเลยคืนทรัพย์รายการที่ 9 ถึงที่ 11 ให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่นั้น โจทก์ฟ้องว่าเมื่อปลายเดือนมกราคม 2523 โจทก์ฝากทรัพย์รายการที่ 9 ถึงที่ 11 ไว้แก่จำเลย และจำเลยยังไม่คืนให้ จำเลยให้การรับว่าโจทก์ได้นำทรัพย์รายการที่ 9 ถึงที่ 11 มาฝากไว้แก่จำเลยจริง แต่โจทก์มาขอคืนและจำเลยได้คืนให้โจทก์ไปหมดแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่าได้คืนทรัพย์แก่โจทก์ตามที่อ้าง ปรากฏว่าจำเลยมีตัวจำเลยปากเดียวเบิกความว่าโจทก์ไม่ได้เป็นคนนำทรัพย์รายการที่ 9 ถึง 11 มาฝากแก่จำเลย แต่นายสมพงษ์เป็นคนนำมาฝาก และโจทก์ได้มาเอาคืนไปแล้ว ส่วนนายสมพงษ์พยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่าโจทก์นำทรัพย์รายการที่ 9 ถึง 11 ไปฝากจำเลยไว้หรือไม่ทราบ เห็นได้ว่าทางนำสืบของจำเลยแตกต่างกับคำให้การและพยานจำเลยเบิกความแตกต่างกัน ทั้งข้อที่ว่าโจทก์ได้เอาทรัพย์รายการที่ 9 ถึง 11 คืนไปแล้วนั้น จำเลยก็เบิกความลอย ๆ โจทก์เอาไปเมื่อใด ที่ไหน มีผู้ใดรู้เห็นบ้างก็ไม่ปรากฏ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนัก โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่าจำเลยยังไม่ได้คืนทรัพย์รายการที่ 9 ถึงที่ 11 ให้แก่โจทก์ โดยได้ยืนยันเช่นนี้ตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ฝากทรัพย์รายการที่ 2 ถึงที่ 8 ไว้แก่จำเลย และจำเลยยังไม่ได้คืนทรัพย์รายการที่ 9 ถึงที่ 11 ให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,500 บาท แทนโจทก์