คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3350/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประเพณีของธนาคารจะให้วงเงินรับจำนองทรัพย์ต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงสำหรับราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเพียงการประมาณราคาเพื่อนำมาคำนวณค่าธรรมเนียม ในกรณียึดแล้วไม่มีการขาย และเพื่อดูว่าทรัพย์สินที่ยึด เพียงพอที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นการ ประเมินแบบคร่าว ๆ มิใช่ประเมินตามราคาท้องตลาดที่แท้จริง แต่การขายทอดตลาดผู้ทอดตลาดอาจคำนวณราคาโดยอาศัยวงเงิน ที่โจทก์รับจำนองประกอบกับประเพณีของธนาคารที่จะรับจำนอง ในวงเงินที่ต่ำกว่าราคาทรัพย์ที่แท้จริงและจำเลยไม่จำเป็น ต้องคัดค้างการประเมินราคาของเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะประเมินราคาให้เหมาะสม โดยให้ขายได้ราคาสูงสุดเท่าที่จะสามารถประมูลขายได้ เมื่อพฤติการณ์น่าเชื่อว่าหากมีการประกาศขายใหม่จะมี ผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้ การอนุญาตให้ขายของเจ้าพนักงาน บังคับคดีในครั้งนี้จึงมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการ ขายทอดตลาด เป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 153 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 ซึ่งศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงาน บังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,012,485.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ11.75 ต่อปี ของต้นเงิน 1,786,733.74 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 6 เดือนแต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 140524พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 และทำการขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นเงิน 1,500,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ราคาที่ขายต่ำกว่าความเป็นจริงมากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอยู่ในทำเลที่ดี การคมนาคมสะดวกเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยสามารถขายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000,000บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาทรัพย์ต่ำกว่าราคาจริงและเป็นการขายครั้งแรก การขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 1,500,000 บาท เกินกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นราคาที่เหมาะสมแล้วจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องเพื่อประวิงคดีและมีเจตนาให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่ต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ขายทอดตลาดโจทก์เคยรับจำนองจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นเงิน 1,800,000 บาท ซึ่งการขายทอดตลาดกระทำหลังจากการรับจำนองเกินกว่า 3 ปี แล้ว ในการประมูลโจทก์ผู้ประมูลให้ราคาสูงสุด 1,500,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งประเมินไว้เพียง 1,345,000 บาทและเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขาย จำเลยที่ 1 ร้องคัดค้านการขายครั้งนี้ เห็นว่า ตามประเพณีของธนาคารจะให้วงเงินรับจำนองทรัพย์ต่ำกว่าราคาที่เป็นจริง อีกทั้งทรัพย์ที่ขายทอดตลาดคดีนี้เป็นที่ดินและอาคารทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น อยู่ติดถนนซอยการคมนาคมสะดวกเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยด้วยแล้ว จึงน่าเชื่อว่าราคาทรัพย์ดังกล่าวย่อมสูงกว่าวงเงินที่โจทก์รับจำนองประกอบกับการขายครั้งนี้เป็นการขายทอดตลาดครั้งแรก ผู้ทอดตลาดน่าจะพอเห็นได้ว่าราคาขายผู้สูงราคาสูงสุดนั้นยังไม่พอเพียง หากถอนทรัพย์จากการขายทอดตลาดครั้งนี้แล้วประกาศขายทอดตลาดใหม่ อาจได้ราคาสูงกว่าที่โจทก์เสนอราคาในครั้งแรกดังที่จำเลยที่ 1 คัดค้านไว้ก็ได้การที่โจทก์อ้างว่าไม่จำเป็นที่หลักประกันจะต้องมีมูลค่าสูงกว่ายอดวงเงินจำนองเพราะธนาคารโจทก์ได้พิจารณาถึงฐานะของจำเลยที่ 1ในขณะขอสินเชื่อว่าเป็นบุคคลผู้มีฐานะดีและมีชื่อเสียงในสังคมมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ และเป็นลูกค้าที่ดินกับโจทก์มาก่อน โจทก์จึงยอมให้วงเงินกู้แก่จำเลยที่ 1 สูงกว่าราคาหลักประกันนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีอะไรที่เป็นหลักประกันที่จะนำมาชำระหนี้ให้โจทก์มากกว่าทรัพย์สินที่จำนองไว้แก่โจทก์ เมื่อพิจารณาจากราคาของหลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าราคาประมาณ 3,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาจำนองที่โจทก์ให้วงเงินไว้ 1,800,000 บาท ประมาณหนึ่งเท่าตัว ก็สมเหตุสมผลกับประเพณีการให้วงเงินของธนาคารเป็นปกติแล้ว และสำหรับราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเพียงการประมาณราคาเพื่อนำมาคำนวณค่าธรรมเนียมในกรณียึดแล้วไม่มีการขาย และเพื่อดูว่าทรัพย์สินที่ยึดเพียงพอที่จะบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นการประเมินราคาแบบคร่าว ๆ มิใช่ประเมินตามราคาท้องตลาดที่แท้จริงแต่การขายทอดตลาดนั้นผู้ทอดตลาดอาจคำนวณราคาโดยอาศัยวงเงินที่โจทก์รับจำนองประกอบกับประเพณีของธนาคารที่จะรับจำนองในวงเงินที่ต่ำกว่าราคาทรัพย์ที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 ก็หาจำเป็นที่จะต้องคัดค้านการประเมินราคาของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะประเมินราคาให้เหมาะสมตามที่กล่าวมาแล้ว โดยให้การขายได้ราคาสูงสุดเท่าที่จะสามารถประมูลขายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513บัญญัติว่า “เมื่อใดผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้ทอดตลาดอาจถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดได้”ศาลฎีกาพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แล้วน่าเชื่อว่าหากมีการประกาศขายใหม่จะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้ การอนุญาตให้ขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งนี้จึงมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อมาตรา 513 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบมาตรา 308 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสามให้อำนาจศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share