แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.อ. มาตรา 78 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ทั้งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ เพราะจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพแต่เพียงว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยซื้อจากชาวม้งในเขตจังหวัดตากแล้วจะนำลักลอบเข้าไปยังกรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่งก็เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าชาวเขาที่อยู่ในเขตหลายจังหวัดบริเวณภาคเหนือของประเทศรวมทั้งจังหวัดตากเป็นแหล่งค้าส่งยาเสพติดให้โทษรายใหญ่และจำนวนมาก คำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตรา 100/2 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) ด้วย), 66 วรรคสอง (เดิม) จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 37 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมกับยึดได้เมทแอมเฟตามีน 19,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 606.653 กรัม แบ่งบรรจุในถุงพลาสติกสีฟ้า 100 ถุง มัดห่อกระดาษสีน้ำตาลมีพลาสติกหุ้มทับรวม 10 มัด เป็นของกลาง โดยของกลางดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ในช่องกระเป๋าด้านข้างของถุงกอล์ฟข้างละ 5 มัด วางอยู่ภายในที่เก็บของท้ายรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน วค 7163 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและขับมา และจำเลยที่ 2 นั่งคู่กับคนขับ และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจโทบุญฤทธิ์ สิงห์เถื่อน และสิบตำรวจโทวิชาญ มหาพันธ์ ผู้ร่วมตรวจค้นและจับกุมเบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวไปถึงด่านตรวจและถูกพยานทั้งสองกับพวกเรียกให้หยุดขอทำการตรวจค้นนั้น จำเลยที่ 1 ตัวสั่นแสดงอาการเป็นพิรุธ เมื่อตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ที่ถุงกอล์ฟซึ่งวางอยู่ภายในที่เก็บของท้ายรถแล้ว จำเลยทั้งสองได้ให้การยอมรับว่าร่วมกันไปซื้อเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมาจากชาวเขาเผ่าม้งในเขตจังหวัดตากในราคา 190,000 บาท และกำลังจะนำเข้าไปจำหน่ายที่กรุงเทพมหานคร พยานทั้งสองกับพวกจึงทำบันทึกการจับกุมขึ้นทันทีที่ด่านตรวจนั้นเอง ต่อจากนั้นได้นำตัวจำเลยทั้งสองพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางและของกลางอื่น ๆ ทั้งหมดตามบัญชีของกลางคดีอาญา ส่งมอบแก่ร้อยตำรวจเอกปฏิกรณ์ หาญหัตถกิจ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร และโจทก์มีร้อยตำรวจเอกปฏิกรณ์เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธโดยอ้างว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วย และแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ทำงานเป็นพนักงานขับรถของบริษัทโทเรไฟเบอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถประจำตัวให้นายคาซิฮิโร โตเกะ กรรมการผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทดังกล่าว ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของกลางคันเกิดเหตุให้นายคาซิฮิโรอยู่ ร้อยตำรวจเอกปฏิกรณ์จึงได้สอบปากคำนายคาซิฮิโรไว้ในฐานะพยาน ได้ความว่าปกติจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากนายคาซิฮิโรให้เป็นผู้ขับรถยนต์และดูแลรักษารถยนต์คันเกิดเหตุ หลังจากเลิกงานในแต่ละวันให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์กลับไปเก็บไว้ที่บ้านจำเลยที่ 1 แล้วนำไปรับนายคาซิฮิโรในตอนเช้า ก่อนวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 15 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์ไปขออนุญาตลาป่วยต่อนายคาซิฮิโรอ้างว่าจะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้วได้นำรถยนต์คันเกิดเหตุออกไปโดยนายคาซิฮิโรก็ไม่ได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวอีกดังปรากฏในรายละเอียดตามบันทึกคำให้การของนายคาซิฮิโร นอกจากนั้น ร้อยตำรวจเอกปฏิกรณ์ยังได้ทำการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งสองปรากฏว่ามีการใช้โทรศัพท์ติดต่อกันบ่อยมาในช่วง 3 เดือนก่อนถูกจับกุมตามหนังสืงแจ้งรายละเอียดการใช้โทรศัพท์ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 นำสืบและอ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้รับโทรศัพท์จากจำเลยที่ 2 ที่อยู่จังหวัดตากให้ไปช่วยขนย้ายสิ่งของให้เนื่องจากจำเลยที่ 2 จะย้ายไปอยู่กับบุตรสาวที่แต่งงานกับหลานของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2543 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์เก๋งคันเกิดเหตุออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดตาก ไปถึงเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น แต่จำเลยที่ 1 ไม่รู้จักบ้านของจำเลยที่ 2 จึงไปจอดรถรอในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งแล้วโทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 2 จนกระทั่งเวลา 3 ถึง 4 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ได้ไปเคาะกระจกรถคันเกิดเหตุ ขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังนอนคอยอยู่ในรถบอกว่าจะย้ายของไปไว้ที่รถของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 เปิดฝากระโปรงท้ายรถ จำเลยที่ 1 จึงเปิดฝากระโปรงท้ายรถให้จำเลยที่ 2 นำสิ่งของใส่โดยไม่ได้ลงไปดู แล้วจำเลยที่ 2 ได้เข้าไปนั่งในรถ ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์เก๋งออกไปเพื่อเดินทางกลับตามเส้นทางสายเก่าตามที่จำเลยที่ 2 บอก เป็นทำนองว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการที่จำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้าไปใส่ไว้ในช่องกระเป๋าด้านข้างของถุงกอล์ฟซึ่งวางอยู่ในที่เก็บของท้ายรถ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้กลับปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า ก่อนถูกจับกุมจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่กับบุตรเขยและบุตรสาวที่จังหวัดสมุทรปราการและประกอบอาชีพมีรถบรรทุกสิบล้อคอยรับจ้างขนของ ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เดินทางไปยังจังหวัดตากเพื่อจะนำเงินไปชำระหนี้สหกรณ์และได้ไปพักที่บ้านเพื่อน ระหว่างนั้นได้รับการติดต่อให้รับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนเข้าไปยังกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 จึงโทรศัพท์ติดต่อให้จำเลยที่ 1 ไปรับ นอกจากเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้วจำเลยที่ 2 ยังมีลังผ้า กระเป๋าผ้า และพัดลมใส่ไว้ในรถยนต์เก๋งคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับไปรับด้วย จำเลยที่ 2 ไปทำงานอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่ปี 2542 ในช่วงนั้นจำเลยที่ 1 ทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จากข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพและพักอาศัยประจำอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าขับรถยนต์เก๋งคันเกิดเหตุไปช่วยจำเลยที่ 2 ขนย้ายสิ่งของก็ไม่ปรากฏว่ามีสิ่งของมากมายหรือมีเหตุจำเป็นอันใดถึงขนาดต้องให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เก๋งจากกรุงเทพมหานครไปรับถึงจังหวัดตากในยามวิกาลเช่นนั้น ลำพังสิ่งของที่จำเลยที่ 2 นำใส่ไว้ในรถยนต์เก๋งคันเกิดเหตุก็เป็นสิ่งของที่จำเลยที่ 2 สามารถขนย้ายได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดายอยู่แล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าสิ่งของตามที่จำเลยที่ 2 อ้างมีอยู่จริงขณะถูกตรวจค้นจับกุม จะว่าจำเลยที่ 2 หลอกให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปรับเพื่อจำเลยที่ 2 จะได้นำเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนเข้าไปยังกรุงเทพมหานครก็เป็นการผิดปกติวิสัยและไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะจำเลยทั้งสองเกี่ยวดองกันเนื่องจากบุตรสาวของจำเลยที่ 2 อยู่กินเป็นสามีภริยากับหลานของจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็มิได้มีรถยนต์ใช้เองเป็นการส่วนตัวซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ย่อมจะทราบดีเช่นกัน ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่านอนอยู่ในรถขณะที่จำเลยที่ 2 ไปเคาะกระจกรถเรียกและให้เปิดฝากระโปรงท้ายรถเพื่อนำสิ่งของไปใส่ ก็เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ และไม่สมเหตุผลเพราะเป็นการผิดปกติวิสัยที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปรับจำเลยที่ 2 ถึงจังหวัดตาก แต่กลับไม่สนใจตรวจดูว่าจำเลยที่ 2 นำสิ่งของใดติดตัวมาด้วยถึงขนาดจำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะต้องนำรถยนต์เก๋งของนายจ้างขับไปรับจำเลยที่ 2 ถึงจังหวัดตากซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลโดยไม่ได้รับอนุญาตเช่นนั้น นอกจากนี้ โจทก์ยังมีรายละเอียดการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งสองที่ติดต่อกันบ่อยมากในช่วง 3 เดือนก่อนถูกจับกุมตามหนังสือแจ้งรายละเอียดการใช้โทรศัพท์มาส่งอ้างยืนยัน ซึ่งตามเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่าระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2545 ถึง 9 กรกฎาคม 2545 มีรายการใช้โทรศัพท์หมายเลข 01-4098419 ของจำเลยที่ 1 ติดต่อกับโทรศัพท์หมายเลข 09-6144370 ของจำเลยที่ 2 ประมาณ 300 ครั้ง และมีรายการใช้โทรศัพท์หมายเลข 09-6144370 ของจำเลยที่ 2 ติดต่อกับโทรศัพท์หมายเลข 01-4098419 ของจำเลยที่ 1 ประมาณ 70 ครั้ง อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การรับสารภาพ และแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองรู้ความเป็นไปในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตทั่วไปของแต่ละคนเป็นอย่างดี มิใช่ไม่คอยได้ติดต่อกันและไม่มีความสนิทสนมกันดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบ พยานจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนรู้เห็นเป็นใจและร่วมมือกับจำเลยที่ 2 ในการลักลอบขนเมทแอมเฟตามีนของกลางครั้งนี้โดยมิพักต้องคำนึงถึงว่าจำเลยที่ 1 จะได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมจริงหรือไม่เพียงใด ดังนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังโดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยที่ 2 มากกว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้หญิงและเป็นโรคหัวใจเรื้อรัง ทั้งคดีนี้เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นเหตุสมควรให้ศาลฎีกาลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 มากกว่ากึ่งหนึ่ง เป็นลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 สองในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 ปี 8 เดือน นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าเมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ทั้งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ เพราะจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพแต่เพียงว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยซื้อจากชาวม้งในเขตจังหวัดตากแล้วจะนำลักลอบเข้าไปยังกรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่งก็เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าชาวเขาที่อยู่ในเขตหลายจังหวัดบริเวณภาคเหนือของประเทศรวมทั้งจังหวัดตากเป็นแหล่งค้าส่งยาเสพติดให้โทษรายใหญ่และจำนวนมาก คำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตรา 100/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายใด ๆ ที่จะลดโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ได้มากกว่าที่ศาลล่างทั้งสองปรานีลดโทษให้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน