แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บริษัท ด. เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเหตุที่มีอยู่จริงและเป็นเจตนาของนายจ้างที่จะเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว ถือไม่ได้ว่านายจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยสำคัญผิด และแม้นายจ้างจะพบเหตุอื่น (ความผิดของโจทก์) ในภายหลังก็ไม่สามารถอ้างเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้อีก ถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้กลฉ้อฉลให้นายจ้างเลิกจ้าง ฉะนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ปกปิดข้อเท็จจริงอันเป็นการฉ้อฉลนายจ้างให้สำคัญผิด จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54
สัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัท ด. กับโจทก์สิ้นสุดลงและมีผลตามกฎหมายตามหนังสือเลิกจ้างเป็นต้นไป โดยบริษัท ค. ไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนการเลิกจ้างนั้นได้อีกแม้ภายหลังบริษัท ด. นายจ้างจะพบเรื่องที่อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงกรณีโจทก์ร่วมกับพวกก่อตั้งบริษัท อ. ประกอบกิจการแข่งขันกับนายจ้าง บริษัท ด. นายจ้างจะยกเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างอีกครั้งไม่ได้ เพราะความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างระหว่างบริษัท ด. กับโจทก์ได้สิ้นสุดไปแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2544 จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 71/2544 ว่า การที่โจทก์กับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทเด็มโก้ จำกัด ได้ก่อตั้งบริษัทอินฟรา พาวเวอร์เทค จำกัด ขึ้นก็เพื่อประกอบกิจการแข่งขันกับนายจ้างอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอย่างร้ายแรง แต่ปกปิดนายจ้างไว้ ต่อมานายจ้างเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากมีนโยบายลดอัตราพนักงานโดยจ่ายค่าชดเชยให้เพราะไม่ทราบเรื่องการกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันฉ้อฉลหลอกลวงนายจ้างให้เลิกจ้างโดยสำคัญผิด นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดในค่าชดเชยต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามคำร้อง โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการก่อตั้งบริษัทประกอบกิจการแข่งขันจะต้องเป็นการประกอบกิจการแข่งขันในทางธุรกิจอย่างแท้จริง มิใช่เพียงก่อตั้งบริษัทซึ่งประกอบกิจการอย่างเดียวกับนายจ้างเท่านั้น ทั้งโจทก์ไม่ได้ร่วมหลอกลวงนายจ้างให้เลิกจ้างแต่เป็นการกระทำของนายจ้างฝ่ายเดียวขอให้เพิกถอนคำสั่งข้างต้นของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 71/2544
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.1 ถึง 2.3 ความว่าโจทก์กับนายนพ สมโพธิ์ ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ร่วมกันปกปิดไม่รายงานความผิดของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์กับพวกร่วมกันก่อตั้งบริษัทอินฟราพาวเวอร์เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการเช่นเดียวกันและแข่งขันกับบริษัทเด็มโก้ จำกัด นายจ้างอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงให้นายจ้างทราบการปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลนายจ้างให้สำคัญผิด เป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชยให้นั้น เห็นว่า ในเรื่องนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าบริษัทเด็มโก้ จำกัด เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายตามที่ปรากฏในหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นเหตุที่มีอยู่จริงและเป็นเจตนาของนายจ้างที่จะเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวกรณีถือไม่ได้ว่านายจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยสำคัญผิด และแม้นายจ้างจะพบเหตุอื่น (ความผิดของโจทก์) ในภายหลังก็ไม่สามารถอ้างเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้อีกกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้กลฉ้อฉลให้นายจ้างเลิกจ้าง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายข้อ 2.4 ที่ว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม ที่ว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างนายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้” ข้อกฎหมายดังกล่าวใช้กับข้อเท็จจริงที่ว่าขณะนายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างรู้ดีอยู่แล้วว่าลูกจ้างได้กระทำผิดตามที่มาตรา 119 ระบุไว้ แต่นายจ้างมิได้นำเหตุแห่งการกระทำผิดดังกล่าวมาระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง และในกรณีนี้ขณะที่นายจ้างเลิกจ้างโจทก์นายจ้างไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดตามมาตรา 119 ของโจทก์ นายจ้างจึงไม่ได้ระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือเลิกจ้าง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติข้างต้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บริษัทเด็มโก้ จำกัด เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้กลฉ้อฉลให้นายจ้างสำคัญผิด สัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัทเด็มโก้ จำกัด กับโจทก์จึงสิ้นสุดลงและมีผลตามกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไป ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.1 โดยบริษัทเด็มโก้ จำกัด ไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนการเลิกจ้างนั้นได้อีก ฉะนั้น แม้ภายหลังบริษัทเด็มโก้ จำกัด นายจ้างจะพบเรื่องที่อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงกรณีโจทก์ร่วมกับพวกก่อตั้งบริษัทอินฟรา พาวเวอร์เทค จำกัด ประกอบกิจการแข่งขันกับนายจ้าง บริษัทเด็มโก้ จำกัด นายจ้างจะยกเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างอีกครั้งหาได้ไม่ เพราะความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างระหว่างบริษัทเด็มโก้ จำกัด กับโจทก์ได้สิ้นสุดไปแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน