แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบเรื่องการย้ายภูมิลำเนาของโจทก์ พื่อให้จำเลยจัดส่งหนังสือแจ้งความแก่โจทก์ตามภูมิลำเนาใหม่ตรงกันข้ามในการยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษี โจทก์ระบุภูมิลำเนาเดิม แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ใช้ภูมิลำเนาเดิมเป็นภูมิลำเนาของโจทก์อีกแห่งหนึ่งโดยเฉพาะในการติดต่อกับจำเลยดังนี้การที่จำเลยส่งหนังสือแจ้งการประเมินแก่โจทก์ ณ ภูมิลำเนาเดิมจึงเป็นการส่งโดยชอบแล้ว การส่งหนังสือแจ้งความและหมายเรียกตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 36 วรรคแรก หมายความว่าหากมีการส่งโดยทางจดหมายไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ถือว่าเป็นการส่งที่ชอบแล้ว ส่วนผู้รับหนังสือไว้แทนกฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องมีอายุเกินยี่สิบปีซึ่งเป็นกรณีบังคับใช้เฉพาะในกรณีให้คนนำไปส่งเท่านั้น ดังนี้ เมื่อได้ความว่าบุรุษไปรษณีย์นำส่งหนังสือแจ้งรายการประเมินให้แก่เด็กหญิง ส. อายุ 14 ปีเศษซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ การส่งหนังสือดังกล่าวจึงชอบแล้ว การยื่นคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน มาตรา 26 นั้น จะต้องยื่นภายในเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความ หมายความถึงวันที่โจทก์หรือตัวแทนของโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งรายการประเมินนั่นเอง มิใช่ให้นับแต่วันที่โจทก์ทราบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 มีหนังสือแจ้งรายการประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีโรงเรือนถึงโจทก์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังบ้านเลขที่ 189 ถนนราชวิถี ซึ่งโจทก์มิได้อยู่นานแล้วคนรับใช้ของโจทก์เซ็นรับหนังสือไว้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2526โจทก์เพิ่งทราบเรื่องหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม2526 จึงได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนใหม่ภายในกำหนด จำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์แก่โจทก์ว่าโจทก์หมดสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ ขอให้เพิกถอนการประเมินเก็บภาษีที่ดินและโรงเรือน และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ว่าโจทก์หมดสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่
จำเลยทั้งสามให้การว่า ได้แจ้งรายการประเมินให้โจทก์ตามที่อยู่ในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน นางสาวสำราญผ่อนผาแดง รับหนังสือเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2526 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2526พ้นกำหนดเวลา 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงหมดสิทธิขอให้พิจารณาการประเมินใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในเรื่องการส่งหนังสือแจ้งรายการประเมินแก่โจทก์ชอบหรือไม่นั้น โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่บ้านเลขที่ 57/9 หมู่ที่ 2 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวางแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 แต่จำเลยส่งหนังสือแจ้งรายการประเมินไปยังภูมิลำเนาเดิมบ้านเลขที่ 189 ถนนราชวิถี แขวงดุสิต เขตดุสิตจึงเป็นการส่งที่ไม่ชอบ เห็นว่าโจทก์มิได้แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องการย้ายภูมิลำเนาของโจทก์ดังกล่าว เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จัดส่งหนังสือแจ้งความแก่โจทก์ตามภูมิลำเนาใหม่ ตรงกันข้ามในการยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในปี พ.ศ. 2524, 2525 และ 2526 ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 โจทก์ระบุภูมิลำเนาไว้ว่าอยู่บ้านเลขที่ 189ถนนราชวิถี แขวงดุสิต เขตดุสิต ซึ่งแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ใช้สถานที่นี้เป็นภูมิลำเนาของโจทก์อีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะในการติดต่อกับจำเลยที่โจทก์อ้างว่าลอกที่อยู่ดังกล่าวจากแบบฟอร์มแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินฉบับเก่า ๆ นั้น ไม่มีเหตุผลรับฟัง ดังนั้น การที่จำเลยส่งหนังสือแจ้งการประเมินแก่โจทก์ไปยังบ้านเลขที่ 189 ถนนราชวิถี แขวงดุสิต เขตดุสิต จึงเป็นการส่งไปยังภูมิลำเนาของโจทก์โดยชอบแล้ว โจทก์ฎีกาอีกประการหนึ่งว่าเด็กหญิงสำราญ ผ่อนผาแดง ซึ่งเป็นคนลงลายมือชื่อในใบตอบรับเอกสารหมาย ล.4 ล.5 และ ล.6 ไว้แทนโจทก์ อายุยังไม่ถึง20 ปี ทำให้การส่งหนังสือแจ้งรายการ ประเมินเป็นการไม่ชอบเห็นว่า ตามมาตรา 36 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 บัญญัติไว้ว่า “หนังสือแจ้งความและหมายเรียกตามพระราชบัญญัตินี้จะให้คนนำไปส่งหรือจะส่งโดยทางจดหมายไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ ถ้าให้คนนำไปส่งเมื่อผู้ส่งไม่พบผู้รับไซร้ จะส่งให้แก่บุคคลใด ซึ่งมีอายุเกินยี่สิบปีที่อยู่ในบ้านเรือนหรือสำนักการค้าของผู้รับก็ได้ และการส่งเช่นนี้ให้ถือว่าเป็นการพอเพียงตามกฎหมาย” ซึ่งมีความหมายว่า หากมีการส่งโดยทางจดหมายไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ถือว่าเป็นการส่งที่ชอบแล้ว ส่วนผู้รับหนังสือไว้แทนกฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องมีอายุเกินยี่สิบปี ซึ่งเป็นกรณีบังคับใช้เฉพาะในกรณีให้คนนำไปส่งเท่านั้น โจทก์มิได้แย้งว่าการนำส่งของบุรุษไปรษณีย์เป็นการไม่ชอบ จึงถือได้ว่าการนำส่งของบุรุษไปรษณีย์เป็นการชอบด้วยกฎหมายตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้แล้ว เมื่อโจทก์ส่งหนังสือแจ้งรายการประเมินถูกต้องตามมาตรา 36 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และได้ความว่าบุรุษไปรษณีย์ได้นำส่งให้แก่ผู้แทนของโจทก์รับไว้โดยถูกต้องแล้ว โดยเด็กหญิงสำราญผู้รับก็มีอายุ 14 ปีเศษ ดังนั้นจึงฟังได้ว่าการส่งหนังสือแจ้งรายการประเมินถึงโจทก์เป็นการชอบแล้ว
ในเรื่องโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ภายในกำหนดตามกฎหมายหรือไม่นั้น พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินมาตรา 26 บัญญัติไว้มีใจความว่า การยื่นคำร้องต้องยื่นภายในเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความ ซึ่งย่อมหมายถึงวันที่โจทก์หรือตัวแทนของโจทก์ให้รับหนังสือแจ้งรายการประเมินนั่นเอง กฎหมายมิได้กำหนดให้นับแต่วันที่ทราบดังที่โจทก์ฎีกา ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นชัดว่าโจทก์ทราบเมื่อวันใด คงมีตัวโจทก์ปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่าเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2526 ยังไม่เกินกำหนด15 วันนับแต่โจทก์ได้รับทราบหนังสือแจ้งการประเมิน โจทก์ไปยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังจึงเห็นว่าต้องถือเอาวันที่ 28 กรกฎาคม 2526 ซึ่งเป็นวันที่ตัวแทนของโจทก์ลงลายมือชื่อรับหนังสือไว้ในใบตอบรับเอกสารหมาย ล.4ถึง ล.6 เป็นวันที่โจทก์ได้รับแจ้งความตามนัยแห่งมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามเอกสารหมาย ล.8 เมื่อวันที่ 26สิงหาคม 2526 เป็นเวลาล่วงพ้นเกินกว่ากำหนดสิบห้าวันแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ภายในกำหนดตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 900 บาทแทนจำเลยทั้งสาม”