คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2234/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ใช้ระบบเกณฑ์สิทธิในการลงบัญชี โจทก์ต้องใช้ระบบดังกล่าวโดยตลอดการที่โจทก์สั่งซื้อสินค้าโจทก์ลงบัญชีโดยใช้ระบบเกณฑ์สิทธิ แต่ในการขายสินค้าโจทก์ใช้ระบบเงินสด ทำให้โจทก์มีรายจ่ายมากและรายรับน้อย การลงบัญชีย่อมไม่ถูกต้องและจะถือราคาสินค้าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้.
รายจ่ายเกี่ยวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิง โจทก์มิได้ลงบัญชีรายจ่ายไว้เพราะไม่สามารถหาหลักฐานมาแสดงได้ปรากฏว่าเหตุที่โจทก์ไม่สามารถหาหลักฐานมาแสดงได้เพราะใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันนั้น โจทก์ให้ผู้ขายน้ำมันส่งมอบไว้ยังหน่วยงานต่าง ๆ ของโจทก์และหน่วยงานดังกล่าวมิได้ส่งใบเสร็จรับเงินดังกล่าวมายังโจทก์ ซึ่งเป็นความบกพร่องของพนักงานของโจทก์เอง โจทก์จึงนำรายจ่ายเกี่ยวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้.
ราคาไม้แปรรูปควรจะต้องสูงกว่าราคาไม้ท่อนเพราะต้องรวมค่าจ้างแปรรูปไม้เข้าไว้ด้วย โจทก์ตีราคาไม้แปรรูปอันเป็นสินค้าคงเหลือเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีเพียงลูกบาศก์เมตรละ 80 บาท และตีราคาไม้ท่อนลูกบาศก์เมตรละ 900 บาท ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินตีราคาไม้แปรรูปลูกบาศก์เมตรละ 1,300 บาท โดยคิดจากราคาไม้ท่อนรวมกับค่าจ้างเลื่อยลูกบาศก์เมตรละ 400 บาท จึงชอบด้วยเหตุผล.
โจทก์ประกอบการค้าเลื่อยไม้ขายและโม่ หินขาย ตามสัญญาที่โจทก์ทำกับลูกค้าระบุว่าโจทก์เป็นผู้ขายหรือผู้รับจ้าง และต้องนำสินค้าคือไม้และหินไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อหรือผู้ว่าจ้าง ในสัญญาดังกล่าวไม่ได้แยกเรื่องการขนส่งไว้ และไม่อาจแยกได้ว่าราคาซื้อขายหรือราคาค่าจ้างรวมเอาค่าขนส่งไว้เท่าใด จึงเป็นลักษณะของสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจ้างทำของที่โจทก์จะต้องส่งของให้แก่คู่สัญญา โจทก์จึงต้องนำรายรับจากการขายหรือรับจ้างทำสินค้ามาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า จะแยกเสียภาษีการค้าเฉพาะราคาสินค้าโดยถือว่ารายได้จากการขนส่งโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้านั้นมิได้.
วัตถุพลอยได้จากการเลื่อยไม้จำพวกขี้เลื่อย ปีกไม้และเศษไม้ โจทก์ขายไปบ้างมีคนมาขอโจทก์ก็ให้ไปบ้าง พนักงานของโจทก์เก็บไปเป็นประโยชน์ส่วนตนบ้าง จึงมิใช่เป็นของไม่มีมูลค่าตาม ป. รัษฎากร มาตรา 79(1)(ข)บัญญัติให้รายรับจากการค้าประเภทโรงเลื่อยให้หมายความรวมถึงมูลค่าของผลิตภัณฑ์และวัตถุพลอยได้ด้วยดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินรายรับของโจทก์จากวัตถุพลอยได้ดังกล่าวจึงชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้ศาลสั่งงดเรียกเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ และเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสี่สำนวนให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งงดเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการโม่หิน ค้าหิน แปรรูปไม้ เลื่อยไม้ ค้าไม้ และทำเหมืองแร่ เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2521และประเมินให้โจทก์เสียภาษีดังกล่าวพร้อมทั้งเงินเพิ่มเบี้ยปรับตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ของทั้งสี่สำนวน โจทก์อุทธรณ์การประเมินปรากฏตามคำอุทธรณ์เอกสาร ล.23 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามคำวินิจฉัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3ของทั้งสี่สำนวน การประกอบกิจการจำหน่ายไม้และหิน โจทก์แยกรายรับที่ได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นรายรับจากการขายไม้และหินประเภทที่สองรายรับจากการขนส่งไม้และหินรายรับประเภทที่สองคือการขนส่งไม้และหินของโจทก์ที่ขายให้แก่ลูกค้า สำหรับสินค้าคงเหลือสิ้นปีของโจทก์ โจทก์ลงปริมาตรไม้ไว้ถูกต้องแต่ตีราคาในงบที่ยื่นแสดงการเสียภาษีลูกบาศก์เมตรละ 80 บาท ต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานคำนวณไว้ คือ ลูกบาศก์เมตรละ 1,300 บาท ปีกไม้และขี้เลื่อยที่เหลือจากการรับจ้างเลื่อยไม้หรือแปรรูปไม้ของโจทก์โจทก์ไม่เคยนำมาลงเป็นรายรับของบริษัท โจทก์ยื่นชำระภาษีสำหรับปี พ.ศ. 2521 ตามแบบ อ.1 แล้ว แต่เจ้าพนักงานไม่ยอมรับ อ้างเหตุว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินไว้แล้ว
ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามอุทธรณ์ของโจทก์มีประเด็นเดียวว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน จำเลยที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ใช้ระบบเกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายรับแต่ในการลงบัญชีเมื่อโจทก์ยังไม่ได้รายรับมาจริง โจทก์จึงจำเป็นต้องใช้ระบบเงินสดนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ใช้ระบบเกณฑ์สิทธิในการทำบัญชีโจทก์จำต้องใช้ระบบดังกล่าวโดยตลอดหากในการสั่งซื้อสินค้า โจทก์ลงบัญชีโดยใช้ระบบเกณฑ์สิทธิ แต่ในการขายสินค้าโจทก์กลับใช้ระบบเงินสดเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการไม่ถูกต้อง เนื่องจากจะทำให้มีรายจ่ายมาก แต่รายรับมีน้อย โจทก์จึงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิบัติเช่นนั้นได้ อีกทั้งเมื่อได้พิเคราะห์การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนที่เกี่ยวกับรายรับตามที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่าลงไว้ไม่ถูกต้อง ก็ปรากฏอยู่ในคำให้การของนายพรชัย เวสสานนท์ สมุห์บัญชีของบริษัทโจทก์ในขณะเกิดเหตุซึ่งให้ไว้ต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีปรากฏตามเอกสารหมาย ล.6แผ่นที่ 1 และ 2 ข้อ 1 ถึงข้อ 4 ล้วนระบุว่าโจทก์รับเงินมาในปี 2521 ซึ่งไม่ได้นำลงบัญชี หรือลงบัญชีไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินนำรายรับที่โจทก์ยังไม่ได้รับไว้มาคำนวณให้โจทก์เสียภาษีแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวโจทก์อุทธรณ์มาลอย ๆ ว่า รายรับดังกล่าวโจทก์ยังไม่ได้รับเป็นเพียงการคาดคะเนของเจ้าพนักงานประเมินนั้น ขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อที่สองว่า รายจ่ายเกี่ยวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่โจทก์มิได้ลงบัญชีรายจ่ายไว้ เนื่องจากขณะที่เจ้าพนักงานประเมินและในชั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์ยังไม่สามารถหาหลักฐานมาแสดงได้ แต่โจทก์ได้ส่งหลักฐานเป็นพยานต่อศาลแล้ว จึงชอบที่จะได้รับการหักให้เป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเพราะโจทก์ได้ใช้จ่ายไปจริง ข้อนี้นายพรชัยพยานโจทก์เบิกความว่า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่หลักฐานเอกสารขาดหายไปเพราะเหตุการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงโจทก์ต้องนำเงินไปจ่ายที่บริษัทขายน้ำมันก่อน แล้วระบุให้ส่งน้ำมันไปยังหน่วยงานต่าง ๆ บริษัทผู้ขายน้ำมันจะนำใบเสร็จหรือใบรับเงินค่าน้ำมันตามจำนวนที่ส่งมอบไว้แก่หน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งเข้าใจว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ได้นำส่งหลักฐานที่ได้รับไว้มายังบริษัทโจทก์หลักฐานดังกล่าวจึงขาดหายไป เห็นว่ากรณีเช่นนี้แสดงว่าโจทก์มีหลักฐานการชำระเงินเพียงแต่ขาดหายไปบ้าง ซึ่งก็เป็นเพราะความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ของโจทก์เอง และโจทก์ก็ไม่สามารถหาหลักฐานใบรับเงินที่ขาดหายไปนั้นมาแสดงต่อศาลได้ ส่วนหนังสือของบริษัทเซลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ผู้ขายน้ำมันให้โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งนายทรงศักดิ์ เทวธีระรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายขายส่วนภูมิภาคของบริษัทเซลล์แห่งประเทศไทย จำกัด มาเบิกความประกอบเป็นพยานโจทก์นั้น เป็นเพียงหลักฐานการซื้อน้ำมันทั้งหมดของโจทก์ในปี 2521 มิใช่เฉพาะส่วนที่หลักฐานขาดหายไป และไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวนใดบ้างที่โจทก์มีหลักฐานอยู่แล้วจำนวนใดที่หลักฐานขาดหายไป ทั้งไม่สามารถจะแยกให้เห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงที่หลักฐานขาดหายไปเป็นจำนวนเท่าใด อันจะนำมาคิดหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี จะคิดหักเป็นค่าใช้จ่ายตามเอกสารหมาย จ.5 ทั้งหมดดังที่โจทก์อุทธรณ์หาได้ไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
โจทก์อุทธรณ์ข้อที่สามเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือของโจทก์ว่าพนักงานของโจทก์บกพร่องคิดคำนวณปริมาตรไม้เป็นลูกบาศก์ฟุต แต่ลงรายการเป็นลูกบาศก์เมตร โจทก์เพิ่งทราบความบกพร่องดังกล่าวจึงได้ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า โจทก์น่าจะได้ตรวจสอบรายการต่าง ๆ ให้ถูกต้องก่อนที่จะได้ส่งหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมิน และในการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อีกชั้นหนึ่งด้วย หากมีการผิดพลาดดังที่โจทก์อ้าง ก็น่าจะตรวจพบเห็นได้โดยง่ายและชี้แจงหรือโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานประเมิน หรือต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้น ตรงกันข้ามในคำอุทธรณ์ของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.23 โจทก์โต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าสินค้าคงเหลือเป็นสินค้าเก่าค้างมานาน เป็นสินค้าที่เสื่อมคุณภาพและขายไม่ออก จึงคำนวณตามสภาพความเป็นจริงซึ่งหมายความว่าราคาที่โจทก์คำนวณไว้ต่ำนั้นเป็นเพราะสินค้าเสื่อมคุณภาพ และขายไม่ออก และโจทก์ยืนยันว่าคำนวณราคาตามสภาพความเป็นจริง ในรายการไม้ท่อนโจทก์ก็ระบุปริมาตรไม้เป็นลูกบาศก์เมตรเช่นกันโดยโจทก์มิได้โต้แย้งว่าผิดพลาดอย่างใดดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าหน่วยปริมาตรของไม้ที่ระบุไว้ในบัญชีนั้นผิดพลาดดังที่โจทก์อ้าง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 6 ว่าโจทก์ตีราคาไม้แปรรูปไว้ลูกบาศก์เมตรละ 80 บาท ไม้ท่อนลูกบาศก์เมตรละ 900 บาท ซึ่งราคาไม้แปรรูปควรจะต้องสูงกว่าราคาไม้ท่อนเพราะต้องรวมราคาค่าจ้างแปรรูปไม้เข้าไว้ด้วย ที่เจ้าพนักงานประเมินตีราคาไม้แปรรูปลูกบาศก์เมตรละ 1,300 บาท โดยคิดจากราคาไม้ท่อนลูกบาศก์เมตรละ 900 บาท รวมกับค่าจ้างเลื่อยลูกบาศก์เมตรละ 400 บาทจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อที่สี่เกี่ยวกับเรื่องภาษีการค้ากรณีแรกว่าโจทก์ประกอบการขนส่งควบคู่กันไปกับการขายสินค้า โจทก์คิดแยกราคาสินค้าและราคาขนส่งต่างหากจากกัน ในส่วนรายได้จากการขนส่งนั้น โจทก์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าโจทก์มีตัวอย่างสัญญาเอกสารหมาย จ.2, จ.3, จ.7, จ.8 และ จ.9 เป็นพยานหลักฐานแต่ปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวล้วนระบุว่าโจทก์เป็นผู้ขายหรือผู้รับจ้างโดยโจทก์จะต้องนำสินค้าคือไม้และหินไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้ว่าจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาทั้งสิ้น ซึ่งย่อมเป็นลักษณะของสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจ้างทำของแล้วแต่กรณีไม่ปรากฏว่ามีการแยกเรื่องการขนส่งไว้ ทั้งไม่อาจแยกได้ว่าราคาซื้อขายหรือราคาค่าจ้างที่ระบุไว้นั้น รวมเอาราคาค่าขนส่งไว้เป็นจำนวนเท่าใด จึงเป็นลักษณะของการขายของหรือรับจ้างทำของแล้วแต่กรณีโดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องส่งของให้แก่คู่สัญญาด้วยเท่านั้นหาได้แยกเรื่องการขนส่งไว้ต่างหากดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงต้องนำรายรับจากการขายหรือรับจ้างนำสินค้าดังกล่าวมาคำนวณเสียภาษีการค้าตามกฎหมาย ส่วนอีกกรณีหนึ่งเกี่ยวกับวัตถุพลอยได้จากการเลื่อยไม้จำพวกขี้เลื่อย ปีกไม้ และเศษไม้ โจทก์อุทธรณ์ว่าเป็นของไม่มีราคา จะถือเป็นรายได้ของโจทก์ที่จะนำไปคำนวณเป็นรายรับในการเสียภาษีไม่ได้นั้น นายชิต ถนอมแป่ง พยานโจทก์เบิกความว่า ไม้ฟืนซึ่งเป็นเศษไม้และปลายไม้ โจทก์ได้ขายไปบ้างแต่ไม่มากจะมีการลงบัญชีหรือไม่ พยานไม่ทราบ ทั้งโจทก์อุทธรณ์ว่าเมื่อมีคนมาขอโจทก์ก็ให้ และพนักงานของโจทก์เก็บไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเหล่านี้ แสดงว่าวัตถุพลอยได้ดังกล่าวมิใช่เป็นของไม่มีมูลค่าเสียทีเดียว จึงเห็นว่า กรณีต้องด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 79(1) (ข)ซึ่งมีใจความเกี่ยวกับการค้าประเภทโรงเลื่อยว่า รายรับจากการค้าประเภทนี้ให้หมายความรวมถึงมูลค่าของผลิตภัณฑ์และวัตถุพลอยได้ด้วยดังนั้น ในการคิดภาษีการค้าจึงต้องคำนวณรายรับรวมถึงมูลค่าของวัตถุพลอยได้ดังกล่าวด้วย เห็นว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินรายรับของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ไม่มีเจตนาหลักเลี่ยงภาษีแต่เกิดจากความผิดพลาดของพนักงานของโจทก์ จึงสมควรได้ลดเบี้ยปรับนั้น เห็นว่าข้ออ้างที่ว่าเกิดจากความผิดพลาดดังกล่าวนั้นรับฟังไม่ได้ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีโดยละเอียดแล้ว ไม่มีเหตุสมควรที่จะลดเบี้ยปรับให้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน

Share