คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3059-3060/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยกลับเข้าทำงาน มิใช่เพราะจำเลยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่เพราะโจทก์เลิกจ้างจำเลยเนื่องจากเหตุที่จำเลยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเหตุอื่น ๆ ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ฉะนั้นแม้ต่อมาสหภาพแรงงานถูกสั่งเลิกและจำเลยไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้นอีกต่อไป การกระทำของโจทก์ที่เลิกจ้างจำเลยก็ยังคงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในภายหลัง จึงหาทำให้คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สิ้นผลไปไม่
เมื่อการเลิกจ้างจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม.121(1) และ (2)แล้ว การกระทำของโจทก์จึงหาเป็นการใช้สิทธิของนายจ้างตามกฎหมายไม่ แม้โจทก์ยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ได้

ย่อยาว

โจทก์สำนวนแรกฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ร่วมกันเป็นผู้ลงนาม และให้การเลิกจ้างจำเลยที่ 12 มีผลตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2520 จำเลยที่ 12 ในสำนวนแรกกลับเป็นโจทก์ในสำนวนหลังฟ้องโจทก์สำนวนแรก ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิม ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนแรกให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คือรับจำเลยที่ 12เข้าทำงานเสมือหนึ่งว่าไม่เคยเลิกจ้าง โดยให้จ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายก่อนเลิกจ้าง คือเดือนละ 2,708 บาท ตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันรับกลับเข้าทำงาน โจทก์สำนวนแรกและจำเลยสำนวนหลังอุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์อุทธรณ์เป็นประการแรกว่า เมื่อนายทะเบียนสั่งเลิกสหภาพแรงงานสยามอินเตอร์คอนติเนนตัลตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2521 แล้ว จำเลยที่ 12 ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายต่อไป ฉะนั้นแม้คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่สั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ 12 กลับเข้าทำงานจะถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็มีผลเพียงวันที่ 23 กรกฎาคม 2521 หลังจากนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้โจทก์รับจำเลยที่ 12 เข้าทำงานอีก ข้อนี้ได้ความว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งที่ 110/2520 ลงวันที่ 13ธันวาคม 2520 วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 12 เนื่องมาจากเหตุที่จำเลยที่ 12 เป็นสมาชิกและกรรมการสหภาพแรงงานสยามอินเตอร์คอนติเนนตัลและจำเลยที่ 12 ในฐานะเลขานุการสหภาพแรงงานนั้นได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมจาก โจทก์ในกรณีที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและจำเลยที่ 12 ได้ขออนุญาตต่อทางราชการเพื่อเปิดประชุมสมาชิกทำการเลือกตั้งกรรมการสหภาพแรงงานดังกล่าวในวันที่ 26 สิงหาคม 2520 การเลิกจ้างจำเลยที่ 12 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 41(4) มีคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ 12 กลับเข้าทำงานตามเดิม กับให้จ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราสุดท้ายก่อนเลิกจ้างตั้งแต่วันที่เลิกจ้างถึงวันรับจำเลยที่ 12 กลับเข้าทำงาน ต่อมาวันที่ 10สิงหาคม 2521 นายทะเบียนสหภาพแรงงานประจำกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งให้เลิกสหภาพแรงงานสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23กรกฎาคม 2521 ดังนี้ เห็นว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ 12 กลับเข้าทำงาน มิใช่เพราะ จำเลยที่ 12 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแต่เพราะโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 12 เนื่องจากเหตุที่จำเลยที่ 12 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเหตุอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ฉะนั้นแม้ต่อมาสหภาพแรงงานสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ถูกสั่งเลิกและจำเลยที่ 12 ไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอีกต่อไป การกระทำของโจทก์ที่เลิกจ้างจำเลยที่ 12 ก็ยังคงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยที่ 12มิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในภายหลังจึงหาทำให้คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สิ้นผลไปไม่

โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยที่ 12 ถูกโจทก์เลิกจ้างเพราะเหตุที่มีพฤติกรรมไม่ชอบ ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายฝ่ายติดตามสืบสวนสอบสวนตลอดมาการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 12 จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม แต่เป็นการใช้สิทธิของนายจ้างโดยชอบธรรมและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้ว พิเคราะห์แล้ว ข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 12 เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่พอใจจำเลยที่ 12 ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ดำรงตำแหน่งกรรมการและเลขานุการของสหภาพแรงงานดังกล่าวได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ให้ปรับปรุงสภาพการจ้างเมื่อ พ.ศ. 2519 แต่ตกลงกันไม่ได้ และสหภาพแรงงานดังกล่าวได้นัดประชุมเพื่อเลือกกรรมการชุดใหม่ในวันที่ 26 สิงหาคม 2520 จำเลยที่ 12 ในฐานะเลขานุการสหภาพแรงงานนั้นเคยนำพนักงานรักษาความปลอดภัยของโจทก์ และนำนายสุเชาว์ แช่มบาง กรรมการสหภาพแรงงานดังกล่าวซึ่งถูกโจทก์เลิกจ้างไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ทั้งยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านการเลิกจ้างแม่ครัวของโจทก์ โดยเข้าเป็นกรรมการต่อรองจนโจทก์รับแม่ครัวเข้าทำงาน ครั้นวันที่ 12 สิงหาคม 2520 ก่อนถึงวันนัดประชุมเลือกกรรมการของสหภาพแรงงานดังกล่าว โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 12 เสียก่อน ศาลแรงงานกลางเห็นว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 12 เพราะเหตุเป็นสมาชิกและกรรมการสหภาพแรงงานสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล การเลิกจ้างจำเลยที่ 12เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121(1)(2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มิใช่เป็นเรื่องโจทก์เลิกจ้างเพราะไม่ไว้วางใจในความประพฤติและพฤติการณ์ของจำเลยที่ 12 เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องเหตุที่เลิกจ้างจำเลยที่ 12 เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมา จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่อ้างว่า การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 12เป็นการใช้สิทธิของนายจ้างนั้น เห็นว่า เมื่อการเลิกจ้างจำเลยที่ 12 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 121(1) และ (2) แล้ว การกระทำของโจทก์จึงหาเป็นการใช้สิทธิของนายจ้างตามกฎหมายไม่ แม้โจทก์ยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 12 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 46 ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 12 โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้”

พิพากษายืน

Share