คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เช่าซื้อรถพิพาทจากจำเลยในราคา 500,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 100,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงแบ่งชำระเป็นรายเดือนโจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหลายงวดรวมเป็นเงิน 50,000 บาทได้มีการทำบันทึกข้อตกลงไว้ที่สถานีตำรวจว่า โจทก์จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างให้จำเลย ฝ่ายจำเลยจะไปต่อทะเบียนเสียภาษีรถพิพาทให้โจทก์ โดยนัดกันในวันที่ 15 มีนาคม 2530 ข้อความดังกล่าวแสดงว่าโจทก์จำเลยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นข้อสาระสำคัญ ดังนั้น จะถือว่าโจทก์ผิดนัดผิดสัญญาไม่ได้ จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุนี้ยังไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำขึ้นใหม่ ครั้งถึงวันนัดโจทก์เตรียมตั๋วแลกเงินจำนวน 50,000 บาทไป แต่ฝ่ายจำเลยไม่ได้นำทะเบียนรถมาอ้างว่าจำเลยไปติดต่อเจ้าหน้าที่แล้วแต่ยังไม่ได้ทะเบียนมาจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงและผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและผลแห่งการบอกเลิกสัญญาย่อมทำให้คู่ความแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ โจทก์ต้องคืนรถพิพาทให้จำเลยและต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สอยรถพิพาทให้จำเลยส่วนจำเลยก็ต้องคืนค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ โจทก์เช่าซื้อรถพิพาทจากจำเลยแล้วได้ทำการซ่อมแซมรถพิพาทโดยเปลี่ยนเฟืองท้ายโช้กอับ เพลากลาง และเปลี่ยนเบาะใหม่การซ่อมแซมดังกล่าวมิใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเล็กน้อย แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรเพื่อรักษารถพิพาทให้อยู่ในสภาพใช้งานและรับส่งคนโดยสารได้ จำเลยต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 547

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2528 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์โดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียน 10-0266 นครศรีธรรมราช จากจำเลยในราคา500,000 บาท ชำระราคาในวันทำสัญญา 100,000 บาท ที่เหลือแบ่งชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 15,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน หลังจากนั้นชำระเดือนละ 10,000 บาท เรื่อยไปจนกว่าจะครบ โจทก์ได้รับรถจากจำเลยแล้วต้องปรับปรุงซ่อมแซมหลายอย่างเป็นเงิน 127,160 บาทและซื้อเบาะเปลี่ยนใหม่ 27 ตัว เป็นเงิน 7,000 บาท นับแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยเรื่อยมาจนถึงเดือนตุลาคม 2529 โจทก์ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อเพราะรถยังต่อทะเบียนเสียภาษีไม่ได้ สำนักงานขนส่งจังหวัดนครศรีธรรมราชอ้างว่าเลขคัสซีไม่ถูกต้อง ครั้งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2530โจทก์นำรถออกรับส่งคนโดยสารอีกครั้งจึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเมื่อเสียค่าปรับแล้วจำเลยมายึดรถคืนไป อ้างว่าโจทก์ค้างค่าเช่าซื้อ3 งวด ติดต่อกัน โจทก์จำเลยจึงตกลงกันว่าโจทก์จะนำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด เป็นเงิน 50,000 บาท ไปชำระให้จำเลยในวันที่15 มีนาคม 2530 และในเวลาเดียวกันจำเลยจะต้องต่อทะเบียนเสียภาษีรถให้โจทก์เป็นที่เรียบร้อยด้วย ต่อมาเมื่อถึงวันนัด โจทก์ได้เตรียมเงิน 50,000 บาท เป็นตั๋วแลกเงินธนาคารออมสินไปชำระให้จำเลย แต่จำเลยกลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมต่อทะเบียนเสียภาษีให้โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยต้องรับผิดใช้เงินค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระให้จำเลยแล้ว 250,000 บาท กับค่าซ่อมแซมรถ127,160 บาท ค่าซื้อเบาะใหม่ 7,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น484,160 บาท แต่โจทก์ยอมให้จำเลยหักเป็นค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถเป็นเงิน 100,000 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องคืนให้โจทก์ 384,160 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินให้โจทก์ 384,160 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อโดยผิดนัดชำระงวดที่ 9 วันที่ 15 กันยายน 2529 จำเลยยังไม่บอกเบิกสัญญา กลับผ่อนผันให้โจทก์ แต่โจทก์ผิดนัดในงวดที่ 12, 13 และ 14อีก จำเลยจึงมีสิทธิเข้าครอบครองรถและริบเงินค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระให้จำเลยในวันที่ 15 มีนาคม 2530 โจทก์นำตั๋วแลกเงินธนาคารออมสิน สั่งจ่ายนางช่วย ลิ้มวงศ์ เพื่อมอบให้แก่จำเลยแต่โจทก์และนางช่วยไม่สลักหลังโอนให้จำเลย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเป็นอันระงับจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้โจทก์ ส่วนเรื่องการต่อทะเบียนเสียภาษีรถนั้น หลังจากโจทก์รับมอบรถจากจำเลยแล้ว โจทก์ได้ทำการติดต่อขอต่อทะเบียนเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2529 ด้วยตนเอง ส่วนการต่อทะเบียนเสียภาษีประจำปี 2530 นั้นโจทก์ดำเนินการด้วยตนเองอีก แต่มีเหตุขัดข้องเนื่องจากโจทก์ซ่อมแซมรถหลายอย่างเลขคัสซีจึงไม่ถูกต้อง ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงไม่สามารถจัดการให้ได้ จำเลยจึงไปให้การยืนยันและยินยอมแต่ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานครมาตรวจสภาพจึงทำให้ล่าช้าไปกว่ากำหนด โจทก์จึงเอาสาเหตุนี้มาบอกเลิกสัญญา สำหรับค่าซ่อมแซมรถเป็นการซ่อมแซมตามปกติตามสภาพของการใช้รถเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ไม่มีสัญญาให้ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้ออกค่าซ่อมแซม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 189,160 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์55,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จำเลยมีว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดในค่าซ่อมแซมรถคันพิพาทหรือไม่เพียงใด ในประเด็นแรกข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เคยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรถคันพิพาทหลายงวดรวมเป็นเงิน 50,000 บาท ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงไว้ที่สถานีตำรวจปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2, จ.4 และ จ.7 มีข้อความโดยสรุปว่าโจทก์จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง 50,000 บาท ให้จำเลยและฝ่ายจำเลยจะไปต่อทะเบียนเสียภาษีรถให้โจทก์ให้แล้วเสร็จ โดยนัดกันในวันที่ 15 มีนาคม 2530 ข้อความดังกล่าวแสดงว่าโจทก์จำเลยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นข้อสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนั้นจะถือว่าโจทก์ผิดนัดผิดสัญญาไม่ได้ จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุนี้ยังไม่ได้ แต่ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำขึ้นกันใหม่ดังกล่าว แต่ครั้งถึงวันนัดวันที่15 มีนาคม 2530 โจทก์ได้เตรียมตั๋วแลกเงินจำนวน 50,000 บาทซึ่งมีชื่อนางช่วย ลิ้มวงศ์ ในตั๋วแลกเงินนางช่วยเบิกความว่าสามารถที่จะสลักหลังโอนไปได้เลย โจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.2 แล้ว แต่ฝ่ายจำเลยไม่ได้นำทะเบียนรถมาอ้างว่าจำเลยไปติดต่อเจ้าหน้าที่แล้วยังไม่ได้ทะเบียนมา จึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดข้อตกลง ซึ่งย่อมมีผลเท่ากับว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อเพราะโจทก์ไม่สามารถใช้สอยทรัพย์ที่เช่าซื้อตามสัญญาได้ตามปกติ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และผลแห่งการบอกเลิกสัญญาย่อมทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมกล่าวคือโจทก์ต้องคืนรถคันพิพาทให้จำเลย และต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สอยรถคันพิพาทให้แก่จำเลยด้วย ส่วนจำเลยก็ต้องคืนค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ใช้เงินให้จำเลยเดือนละ 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 195,000 บาท นั้นเป็นการสมควรแล้ว และเมื่อหักจากเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์ 250,000 บาท แล้วจำเลยคงต้องชำระเงินให้โจทก์ 55,000 บาทนั้นเป็นการถูกต้องและสมควรแล้ว
สำหรับประเด็นวินิจฉัยข้อสอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อโจทก์เช่าซื้อรถคันพิพาทจากจำเลยแล้วได้ทำการซ่อมแซมรถคันพิพาทหลายรายการเช่นเปลี่ยนเฟืองท้าย โช้กอัพ เพลากลาง ตามเอกสารหมาย จ.5 รวมเป็นเงิน 127,160 บาท นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนเบาะใหม่อีกเป็นเงิน 7,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 ศาลฎีกาเห็นว่าการซ่อมแซมดังกล่าวมิใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเล็กน้อย แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรเพื่อรักษารถคันพิพาทให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานและรับส่งคนโดยสารได้จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 547 แต่เนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์ภายหลังการซ่อมแซมเพราะเป็นผู้ใช้รถแล่นรับส่งผู้โดยสาร ทั้งการใช้รถเช่นนั้นย่อมทำให้มีการเสื่อมสภาพลง พิเคราะห์แล้วสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 80,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 135,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share