แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26เป็นวิธีพิจารณาพิเศษซึ่งกำหนดให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย และศาล-ฎีกามีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 (เทียบนัยฎีกาที่ 146/2530)
ตามหลักกฎหมายทั่วไป ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี จึงมีอำนาจหน้าที่พิจารณาว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่เพียงใดและย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย เว้นแต่จะมีบทกฎหมายใดโดยเฉพาะบัญญัติให้อำนาจนี้ไปตกอยู่แก่องค์กรอื่น
ระหว่างที่ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 มีผลใช้บังคับ ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของธรรมนูญการปกครอง-ราชอาณาจักร พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้นเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าการกระทำหรือการปฏิบัติใดขัดต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 หรือไม่ ถ้อยคำที่ว่า “การกระทำหรือการปฏิบัติ”ไม่หมายความรวมถึงบทบัญญัติของกฎหมายด้วย ทั้งขณะผู้ร้องยื่นคำร้อง สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสภาพไปแล้ว และแม้ในขณะที่ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหานี้ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แล้ว แต่ตามมาตรา206 วรรคแรก และมาตรา 5 ก็แสดงว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะในปัญหาว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 หรือไม่ เท่านั้น ดังนั้น อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญ-การปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 หรือไม่ จึงตกอยู่แก่ศาลตามหลักกฎหมายทั่วไป (ตามนัยฎีกาที่ 766/2505, 222/2506 และ 225/2506)
คำวินิจฉัยของ คตส. ตามประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 2และข้อ 6 มีผลให้ทรัพย์สินที่ คตส.วินิจฉัยว่าได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการลงโทษริบทรัพย์สินในทางอาญา โดยที่มิได้ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงนำคดีไปฟ้องร้องให้เป็นอย่างอื่นได้ อำนาจของ คตส. เป็นอำนาจเด็ดขาด และเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยเป็นอำนาจของศาล จึงมีผลเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลให้มีอำนาจทำการ-พิจารณาพิพากษาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาล ย่อมขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ทรัพย์สินของผู้ร้องที่ถูกยึดและตกเป็นของแผ่นดินตามคำวินิจฉัยของ คตส. เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาหรือมีเพิ่มขึ้นก่อนที่ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 6 ใช้บังคับ จึงเป็นการออกและใช้กฎหมายที่มีโทษในทางอาญาย้อนหลังไปลงโทษแก่ผู้ร้อง ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติห้ามเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอีกประการหนึ่งด้วย ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 จึงใช้บังคับมิได้ (ตามนัยฎีกาที่ 222/2506) และเป็นเหตุให้คำวินิจฉัยของ คตส. ไม่มีผลบังคับไปด้วย
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 มาตรา 32เป็นเพียงการบัญญัติรับรองโดยทั่วไปว่า ประกาศหรือคำสั่ง รสช. มีผลให้ใช้บังคับได้เช่นกฎหมายเท่านั้น มิได้บัญญัติรับรองไปถึงว่าให้ใช้บังคับได้แม้เนื้อหาตามประกาศหรือคำสั่ง รสช. ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพ.ศ.2534 แต่อย่างไร
ย่อยาว
(เกียรติ จาตนิลพันธุ์ – สกล เหมือนพะวงศ์ – อุระ หวังอ้อมกลาง
อัมพร ทองประยูร – โสภณ จันเทรมะ – สุเมธ อุปนิสากร)
นายสัญชัย ผลฉาย – ย่อ
สันทนา พ/ท