คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1991/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วัดโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ยังเป็นเสนาสนะอันมีพระสงฆ์พำนักอยู่เป็นประจำและยังไม่มีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อนับเวลาดังกล่าวรวมเข้ากับระยะเวลาตั้งแต่มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนาจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีวัดโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม มาตรา 1382
ถ้อยคำว่า ‘วัดสุคันธารามหรือวัดหนองชะอม โดยพระอธิการเจริญจากวโรเจ้าอาวาสขอมอบให้จ่าสิบเอกนิติอิ่มจิตต์เป็นผู้มีอำนาจฟ้อง’ นั้นถูกต้องชัดเจน แต่ข้อความว่าพระอธิการเจริญ เจ้าอาวาสวัดสุคันธารามมอบอำนาจให้จ่าสิบเอกนิติฟ้องจำเลยในคดีแพ่งเรื่องธรณีสงฆ์ก็เข้าใจได้ว่ามอบอำนาจในฐานะผู้แทนนิติบุคคล มิได้แสดงว่าพระอธิการเจริญมอบอำนาจในฐานะส่วนตัว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโจทก์ให้ขับไล่จำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทบางส่วนที่จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัย แต่ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้เงินให้โจทก์ 10,000 บาท โจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า การครอบครองของคณะสงฆ์หรือสำนักสงฆ์ผู้รับมอบการยกให้ย่อมติดต่อตลอดมาถึงเมื่อวัดโจทก์ได้เป็นนิติบุคคลและต่อกันตลอดมาจนบัดนี้เกินกว่า 10 ปี วัดโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว ข้อเท็จจริงซึ่งเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ได้ความพระครูนิเทศธรรมยาน เจ้าอาวาสวัดเนินหอมผู้เป็นเจ้าคณะตำบลเนินหอม ซึ่งที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปกครองเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดหนองชะอม ที่บ้านหนองชะอม ตำบลโคกไม้ลาย อำเภอเมืองปราจีนบุรี ได้ปรึกษากับนายโก๊ะ ชาติกำเนิด และจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน บุคคลทั้งสองตกลงยินยอมยกที่ดินให้สร้างวัด ที่ดินที่ยกให้เป็นของนายโก๊ะ 5 ไร่เศษ ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 สองไร่เศษ เป็นที่ดินมีตราจอง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2501 นายโก๊ะกับจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือหมาย จ.2 เรียกว่า “ใบสัญญามอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน” ถวายที่ดินให้เป็นสมบัติของสงฆ์ มีใจความว่า ขอทำสัญญามอบกรรมสิทธิ์ที่ดินตามอาณาเขตที่ระบุไว้ให้แก่สงฆ์วัดซึ่งจะทำการปลูกสร้างขึ้นใหม่ ขอถวายไว้เป็นสมบัติของสงฆ์ให้สงฆ์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ทางคณะสงฆ์จะใช้ผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินนี้ในทางใด ๆ ก็ตาม ผู้ถวายจะไม่ขอเกี่ยวข้องในการเรียกกรรมสิทธิ์คืนเลย มีลายมือชื่อของผู้ถวาย 3 คน โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 2 ด้วย และมีลายมือชื่อพยาน 3 คน ต่อไปเขียนว่า รายนามคณะสงฆ์ในพิธี มีลายมือชื่อพระครูนิเทศธรรมยานเป็นประธานกรรมการ และมีลายมือชื่อพระภิกษุอื่นอีก 3 รูปเป็นกรรมการเมื่อได้รับมอบที่ดินที่นายโก๊ะและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถวายให้แล้ว พระครูนิเทศธรรมยานได้มอบให้พระภิกษุเจริญ จกกวโร ผู้เป็นศิษย์ไปสร้างวัดในที่ดินนั้น มีการสร้างกุฏิ 5 หลัง ศาลาการเปรียญและโบสถ์ชั่วคราว ถมดินลูกรังทำซุ้มประตูวัด ตั้งชื่อว่าวัดสุคันธาราม ทำถนนเข้าวัด และปลูกต้นไม้ต่าง ๆ รวมทั้งต้นโพธิ์พุทธคยา ซึ่งได้ก่ออิฐเป็นฐานล้อมรอบด้วย สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเกือบทั้งหมดอยู่ในที่ดินที่นายโก๊ะยกให้ ในที่ดินพิพาทมีแต่ซุ้มประตูและต้นไม้ต่าง ๆ ในระยะแรกนั้นพระภิกษุเจริญยังคงอยู่ที่วัดเนินหอม ไม่ได้มาอยู่ที่วัดสุคันธารามนี้ จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 พระภิกษุเจริญจึงมาอยู่ ก่อนนั้นเคยมีหัวหน้าคณะสงฆ์อยู่ที่วัดนี้มาแล้วประมาณ 6 องค์ พระภิกษุเจริญจกกวโร เพิ่งได้รับตราตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรีให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2519 การสร้างวัดนี้ นายโก๊ะ ชาติกำเหนิด (เขียนตามเอกสาร จ.1) เป็นผู้ขออนุญาตสร้าง กรรมการศาสนาเพิ่งออกหนังสืออนุญาตเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2516 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2518 จึงมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องตั้งวัดในพระพุทธศาสนา ประกาศตั้งวัดซึ่งนายโก๊ะได้รับอนุญาตให้สร้างนั้นเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีนามว่า “วัดหนองชะอม” ศาลฎีกาเห็นว่า การยกที่ดินให้วัดในคดีนี้ได้ยกให้ตั้งแต่ยังไม่ได้สร้างวัด เมื่อสร้างเสนาสนะเสร็จจนมีประกาศตั้งเป็นวัดแล้ว การยกที่ดินให้นั้นก็มิได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นิติกรรมการให้ที่ดินนั้นจึงไม่สมบูรณ์ วัดโจทก์จึงต้องอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่วัดในพระพุทธศาสนา เช่นวัดโจทก์นี้จะสามารถทำการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นตามมาตรา 1382 ได้ก็ต่อเมื่อมีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้วซึ่งได้แก่การที่มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อกระทรวงศึกษาธิการเพิ่งมีประกาศตั้งวัดโจทก์ขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2518 นับถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลาเพียง 1 ปีกับ 9 เดือนเศษเท่านั้น จึงมีปัญหาว่าจะนับระยะเวลาตั้งแต่เริ่มการสร้างวัดจนถึงวันที่มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวรวมเข้าด้วยได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่าเดิมทีพระครูนิเทศธรรมยาน เจ้าคณะตำบลมีความประสงค์จะสร้างวัดขึ้นในที่ดินของนายโก๊ะ และของจำเลยที่ 1 ที่ 2 บุคคลทั้งสามนี้ก็ยินดียกที่ดินให้ ได้ทำหนังสือยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่คณะสงฆ์วัดที่จะได้สร้างขึ้นในที่ดินนั้น โดยทำพิธีถวายแก่คณะสงฆ์อันมีพระครูนิเทศธรรมยานเป็นประธาน แต่เมื่อขณะนั้นวัดหนองชะอมนี้ยังไม่มี จึงแปลเจตนาของผู้ยกให้ได้ว่า ให้พระครูนิเทศธรรมยานมีอำนาจเด็ดขาดอย่างผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นเพื่อสร้างวัดขึ้น พระครูนิเทศธรรมยานจึงจัดให้พระภิกษุผู้เป็นศิษย์ไปสร้างวัดและจัดพระภิกษุเข้าพำนักอาศัยเป็นการครอบครองที่ดินของนายโก๊ะและของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้โดยความสงบและด้วยเปิดเผย ทั้งเป็นการครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของด้วยเพราะมิได้ครอบครองแทนหรืออาศัยสิทธิของผู้ที่ยกให้อีกแล้ว การดำเนินการของพระครูนิเทศธรรมยานจึงเป็นการครอบครองที่ดินของนายโก๊ะ และที่ดินพิพาทตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าวัดสุคันธารามเข้ายึดถือครอบครองก็ไม่พึงถือว่าโจทก์นำสืบไม่สมฟ้อง เพราะวัดโจทก์ซึ่งพระครูนิเทศธรรมยานเป็นผู้อำนวยการสร้างขึ้นนี้ได้ตั้งชื่อกันไว้เองว่าวัดสุคันธาราม อีกทั้งเสนาสนะอันมีพระสงฆ์พำนักอยู่เป็นประจำนั้นพุทธบริษัทโดยทั่วไปก็มักจะนับถือกันว่าเป็นวัดแล้ว ไม่ว่าจะได้มีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแล้วหรือยัง เมื่อนำระยะเวลาซึ่งพระครูนิเทศธรรมยานดำเนินการครอบครองที่ดินพิพาทโดยจัดพระภิกษุให้ไปสร้างวัดและพำนักอยู่ประจำมารวมกับระยะเวลาตั้งแต่มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนาจนถึงวันฟ้องก็เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว วัดโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

ส่วนฎีกาของฝ่ายจำเลยนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเป็นข้อแรกว่าตามหนังสือมอบอำนาจนั้นเห็นได้ว่า พระอธิการเจริญ จกกวโร เจ้าอาวาสได้มอบอำนาจให้จ่าสิบเอกนิติ อิ่มจิตต์ ฟ้องคดีเป็นส่วนตัว จ่าสิบเอกนิติจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ได้พิจารณาดูหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องแล้วปรากฏว่าในตอนต้นเขียนไว้ว่า เรื่องมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแพ่งเรื่องที่ดินที่ธรณีสงฆ์ และข้อความของหนังสือนี้มีใจความว่า พระอธิการ เจริญจกกวโร เจ้าอาวาสวัดสุคันธารามหรือวัดหนองชะอม ขอมอบอำนาจให้จ่าสิบเอกนิติ อิ่มจิตต์ ฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีแพ่งเรื่องที่ดินที่ธรณีสงฆ์ ดังนี้ย่อมเข้าใจได้แล้วว่า พระอธิการเจริญ จกกวโร ในฐานะผู้แทนนิติบุคคล คือเป็นเจ้าอาวาสวัดสุคันธารามหรือวัดหนองชะอม มอบอำนาจให้จ่าสิบเอกนิติ อิ่มจิตต์ ฟ้องจำเลยทั้งสามนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ดินของวัดสุคันธารามหรือวัดหนองชะอม การใช้ถ้อยคำดังที่จำเลยแนะนำไว้ในฎีกาว่า “วัดสุคันธารามหรือวัดหนองชะอม โดยพระอธิการเจริญ จกกวโร เจ้าอาวาสขอมอบให้จ่าสิบเอกนิติ อิ่มจิตต์ เป็นผู้มีอำนาจฟ้อง” นั้น ถูกหลักและชัดเจนแต่ข้อความดังที่โจทก์ใช้นั้นก็มิได้แสดงว่าพระอธิการเจริญ มอบอำนาจในฐานะส่วนตัว จ่าสิบเอกนิติจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนฎีกาจำเลยในข้อต่อไปนั้น เนื่องมาแต่การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์คืนที่ดินพิพาทให้จำเลย จึงกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้ค่าใช้จ่ายของวัดเท่าราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเพราะการถมดินปรับพื้นที่ดินพิพาทให้เสมอกันเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ต้องคืนแก่จำเลยเสียแล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยข้อนี้อีก

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับไปแก่คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย”

Share