คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำแถลงขอขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ และยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ หากจำเลยไม่เห็นด้วย ต้องทำเป็นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 และมาตรา 229 แม้จะเป็นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในชั้นขอให้พิจารณาใหม่ แต่เป็นการยื่นอุทธรณ์ภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่นำมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,025,863.70 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงิน 2,500,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเงินทุนจึงไม่มีอำนาจออกตั๋วแลกเงินตามฟ้องจึงไม่สามารถใช้บังคับได้ ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า นางสาวสุนีย์พรรัตนมณี ลงลายมือชื่อเป็นผู้แต่งทนายความโดยมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลย การยื่นคำให้การของจำเลยจึงไม่ชอบให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำให้การจำเลย และมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน201,061.64 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

จำเลยยื่นคำแถลง (ที่ถูกต้องทำเป็นคำร้อง) ขอขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่พร้อมคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายจำเลยได้แถลงว่านางสาวสุนีย์พรเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยอย่างถูกต้อง แต่ทนายจำเลยมิได้ยื่นหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงพร้อมกับคำให้การของจำเลย ศาลนัดฟังคำพิพากษาทันทีโดยจำเลยไม่มีโอกาสนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาแสดง จำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำแถลงขอขยายระยะเวลาเนื่องจากไม่มีพฤติการณ์พิเศษ และสั่งคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยจึงให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในชั้นขอให้พิจารณาใหม่ซึ่งศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่ง 2 ประการ คือ สั่งยกคำแถลงขอขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ และยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ต้องทำเป็นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223และมาตรา 229 ซึ่งจำเลยโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นทั้ง 2 ประการรวมกันมาโดยทำเป็นอุทธรณ์ฉบับเดียว แม้จะเป็นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในชั้นขอให้พิจารณาใหม่ แต่เป็นการยื่นอุทธรณ์ภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ แต่พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี น่าจะเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษายืน แต่ให้แก้ไขอัตราดอกเบี้ยในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี

Share