คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำว่า “คำสั่งของศาลตามวรรคสอง” ของบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรคคสี่ หมายถึง หากมีกรณียื่นคำร้องตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แล้ว คำสั่งใด ๆ ของศาลที่เกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า “คำสั่งของศาลตามวรรคสอง” ในบทบัญญัติวรรคสี่นี้ทั้งสิ้น การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 700,067.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วนยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 31894 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และนำออกขายทอดตลาดไปในราคา 480,00 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและขายทอดตลาดใหม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำชี้แจงว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปฏิบัติตามระเบียบของกรมบังคับคดีและกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ในชั้นนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 4 ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ไปศาล ศาลชั้นต้นจึงให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 พร้อมกับมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีนี้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินไปในราคาต่ำเกินสมควร และราคาที่ต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งในวรรคสี่ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า คำสั่งของศาลตามวรรคสองให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด คำว่า “คำสั่งของศาลตามวรรคสอง” ของบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง หากมีกรณียื่นคำร้องตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง แล้ว คำสั่งใด ๆ ของศาลที่เกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า “คำสั่งของศาลตามวรรคสอง” ในบทบัญญัติวรรคสี่นี้ทั้งสิ้น การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนเช่นนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share