คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4000/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโจทก์เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลได้รับการยกเว้นไม่ต้องติดอากรแสตมป์ตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์ในเอกสาร ก็รับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้
โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและส่งให้แก่จำเลยเป็นการล่วงหน้าตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 บัญญัติไว้ แต่เอกสารเหล่านั้นเป็นเพียงบันทึกประวัติการเช่าของจำเลย เป็นเอกสารแสดงรายละเอียดในการที่จำเลยไม่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ระหว่างที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นหนังสือบอกเลิกการเช่าและให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้าง และเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เช่าอาคารข้างเคียงที่ทำธุรกิจเช่นเดียวกับจำเลยซึ่งเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานในคดีได้ตามมาตรา 87(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าอาคารเลขที่ 111 และ 113 ล็อก 2 หมอน 37 จากโจทก์เมื่อครบกำหนดจำเลยยังคงครอบครองอาคารของโจทก์ ทั้งไม่ยอมชำระค่าเช่าและค่าเสียหาย โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแล้ว จำเลยยังคงเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารพิพาทและชำระค่าเสียหายจำนวน 889,527บาท กับค่าเสียหายวันละ 5,000 บาท ต่ออาคาร 1 คูหา นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารพิพาท

จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดค่าเช่าอัตราเดือนละ450 บาท ต่ออาคาร 1 คูหา จำเลยค้างชำระค่าเช่าโจทก์เป็นระยะเวลา 2 ปี 10 เดือนเป็นเงิน 15,300 บาท ต่อห้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดค่าเสียหายจากจำเลยในอัตราวันละ5,000 บาท เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดเวลา จำเลยยังคงครอบครองอาคารที่เช่าอยู่ถือว่าโจทก์ไม่ทักท้วงและประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไปในอัตราเดือนละ 450 บาท ตามสัญญาขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายสิ่งของออกไปจากอาคารเลขที่ 111 และที่ 113 ล็อค 2 หมอน 37 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 12,500 บาท ต่ออาคาร 1 คูหา นับแต่วันที่ 1สิงหาคม 2538 จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายสิ่งของออกไปจากอาคารดังกล่าวคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นอธิการบดี และโจทก์มอบอำนาจให้นายธัชชัย ศุภผลศิริฟ้องคดีนี้ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม2533 จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารของโจทก์เลขที่ 111 และ 113 ล็อก 2 หมอน 37 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2533 ถึงวันที่ 31กรกฎาคม 2538 อัตราค่าเช่าล่วงหน้า 350,000 บาท และค่าเช่ารายเดือนอีกเดือนละ450 บาท โดยทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือ แต่สัญญาดังกล่าวสูญหายไปเมื่อประมาณ2539 นับแต่สิ้นสุดสัญญาเช่าจำเลยไม่เคยชำระค่าเช่าให้โจทก์… ที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 จ.14 และ จ.16โจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์และโจทก์ไม่ส่งสำเนาตามเอกสารหมาย จ.7 จ.11 ถึง จ.17ต่อศาลและส่งให้แก่จำเลยก่อนสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน สัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.16 เป็นเพียงสำเนา ไม่มีลายมือชื่อของผู้เช่า ทำให้จำเลยเสียเปรียบและไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องติดอากรแสตมป์ตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากรพ.ศ. 2481 โจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์ในเอกสารหมาย จ.5 จ.14 และ จ.16 ก็รับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้และแม้โจทก์จะไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.7 จ.11 ถึง จ.17 ต่อศาล และส่งให้แก่จำเลยเป็นการล่วงหน้าตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 บัญญัติไว้ก็ตาม แต่ศาลเห็นว่าเอกสารหมาย จ.7 เป็นเพียงบันทึกประวัติการเช่าของจำเลย เอกสารหมาย จ.11 และ จ.15 เป็นเอกสารแสดงรายละเอียดในการที่จำเลยไม่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ระหว่างที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ เอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 เป็นหนังสือบอกเลิกการเช่าและให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้าง ส่วนเอกสารหมาย จ.14 จ.16 และ จ.17 เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เช่าอาคารข้างเคียงที่ทำธุรกิจเช่นเดียวกับจำเลยซึ่งเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานในคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)นอกจากนี้จำเลยได้ให้การรับว่าได้ทำสัญญาเช่าอาคารของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีภาระต้องพิสูจน์และอ้างส่งสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นพยานอีก ฉะนั้น แม้สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 และ จ.16 เป็นเพียงสำเนาและไม่มีลายมือชื่อของผู้เช่าก็รับฟังได้ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ”

พิพากษายืน

Share