แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สินค้าที่ขนส่งโดยเรือเดินทะเลมาถึงโกดังของบริษัท อ. ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 แต่ยังต้องตรวจสอบสินค้าครบจำนวน และความเรียบร้อยว่ามีความสูญหายหรือบุบสลายหรือไม่ที่จะต้องปฏิบัติเป็นขั้นตอนต่อไปอีกด้วยอันเป็นปกติทางการค้าในการรับมอบสินค้า ดังนี้ ตราบใดที่ผู้รับสินค้ายังตรวจสอบสินค้าไม่เสร็จสิ้น จะถือว่าได้มีการส่งมอบหรือควรจะได้ส่งมอบสินค้าแล้วหาได้ไม่ เมื่อบริษัท อ. ตรวจสอบและรับมอบสินค้าเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 อายุความฟ้องร้องผู้ขนส่งให้รับผิดในกรณีที่สินค้าสูญหายหรือบุบสลายจึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิจากบริษัท อ. ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 ยังไม่พ้น 1 ปีจึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 624
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2538 บริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีลจำกัด ได้เอาประกันภัยแผ่นเหล็กม้วนจำนวน 150 ม้วน น้ำหนักรวม1,187,420 เมตริกตัน ที่จะมีการขนส่งทางทะเลโดยเรือเดินทะเลชื่อโพเรอจากประเทศสาธาณรัฐเกาหลีใต้มายังประเทศไทยไว้กับโจทก์ในวงเงินประกัน 16,058,321 บาท มีข้อตกลงว่าหากสินค้าที่ขนส่งมาประสบวินาศภัยหรือเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด โจทก์จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อเรือโพเรอเดินทางมาถึงประเทศไทย ผู้เอาประกันภัยได้ว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนถ่ายสินค้าดังกล่าวจากเรือโพเรอและขนส่งไปเก็บไว้ที่โกดังของผู้เอาประกันภัยจำเลยดำเนินการขนส่งสินค้าเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538วันรุ่งขึ้นโจทก์ได้มอบหมายให้บริษัทยูไนเต็ด เซอเวเยอร์ส แอนด์แอดจัสเตอร์ส จำกัด ทำการสำรวจความเสียหายของสินค้าก่อนส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัยจากการสำรวจพบว่าสินค้าได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งของจำเลยจำนวน 12 ม้วน น้ำหนัก 62,740กิโลกรัม โจทก์และผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้จำเลยชำระค่าเสียหายแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเป็นเงิน 882,263.45 บาท และรับมอบสินค้าที่ได้รับความเสียหายมา โจทก์ได้ขายสินค้าดังกล่าวไปเป็นเงิน 442,317บาท เมื่อนำมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระไปคงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดจำนวน 439,946.45 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 439,946.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้ว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนส่งสินค้ารายพิพาท จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนส่งความเสียหายของสินค้ารายพิพาทเกิดขึ้นในเรือโพเรอก่อนที่จะทำการขนถ่ายลงเรือลำเลียง โจทก์ได้รับความเสียหายไม่เกิน150,000 บาท การขนย้ายสิ้นสุดตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2538แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 470,192.45บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน439,946.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในเรื่องอายุความฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าหรือสิ่งของที่ขนส่งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 624 บัญญัติว่า “ในข้อความรับผิดของผู้ขนส่งในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่ส่งมอบหรือปีหนึ่งนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบเว้นแต่ในกรณีที่มีการทุจริต” ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เมื่อเรือเดินทะเลชื่อโพเรอขนส่งแผ่นเหล็กม้วนจำนวน 150 ม้วน ซึ่งเป็นของที่บริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีลจำกัด เอาประกันภัยไว้กับโจทก์มาถึงประเทศไทย มีการขนถ่ายสินค้าดังกล่าวจากเรือเดินทะเลชื่อโพเรอไปส่งยังโกดังของบริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัด ที่ถนนสุขสวัสดิ์ เขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 ในวันรุ่งขึ้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 บริษัทยูไนเต็ด เซอเวย์เยอร์ส แอนด์แอดจัสเตอร์ส จำกัด ทำการสำรวจแผ่นเหล็กม้วนดังกล่าวพบว่าม้วนเหล็กบุบยุบจำนวน 12 ม้วน จึงแจ้งความเสียหายให้โจทก์ทราบในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 นั้นเอง ดังนั้น จะถือตามที่จำเลยอ้างว่าได้มีการส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทเอ็ม.เอช.เค.สตีล จำกัด ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 โดยต้องเริ่มนับอายุความใช้สิทธิเรียกร้องนับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538เป็นต้นไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้การขนส่งสินค้ารายพิพาทจะมาถึงยังโกดังของบริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัด ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 ก็ตาม แต่ก็ยังมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติต่อไปคือการตรวจสอบสินค้าครบจำนวน ตลอดจนความเรียบร้อยของสินค้าว่ามีความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดหรือไม่อีกด้วย อันถือว่าเป็นการกระทำปกติทางการค้าในการรับมอบสินค้าที่มีการว่าจ้างให้ขนส่งมา ดังนี้ ตราบใดที่ผู้รับสินค้ายังตรวจสอบสินค้าเพื่อรับมอบสินค้าไม่เสร็จสิ้น จะถือว่าได้มีการส่งมอบหรือควรจะได้ส่งมอบสินค้าแล้วหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัด ผู้เอาประกันภัยตรวจสอบและรับมอบสินค้าเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 อายุความฟ้องร้องผู้ขนส่งให้รับผิดในกรณีที่ของสูญหายหรือบุบสลายจึงต้องเริ่มนับแต่วันตรวจสอบและรับมอบสินค้าเสร็จสิ้นดังกล่าวเป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 624 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ามีการส่งมอบสินค้าที่รับขนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนประเด็นที่ว่า จำเลยเป็นผู้รับขนสินค้ารายพิพาทและสินค้าดังกล่าวเสียหายในระหว่างขนส่งหรือไม่ ทั้งจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยแต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อนในประเด็นดังกล่าว โดยประเด็นที่ว่าจำเลยเป็นผู้รับขนสินค้ารายพิพาทและสินค้าดังกล่าวเสียหายในระหว่างขนส่งหรือไม่นั้น โจทก์มีนายศักดิ์ชาย ชัยศิริ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินไหมของโจทก์และนายสุชาติ ธนพัฒน์พาณิชย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้องานต่างประเทศของบริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัดผู้เอาประกันภัยเบิกความยืนยันว่า ผู้เอาประกันภัยได้ว่าจ้างให้จำเลยขนส่งสินค้ารายพิพาทจากเรือเดินทะเลชื่อโพเรอไปส่งยังโกดังของผู้เอาประกันภัยที่ถนนสุขสวัสดิ์ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จำเลยดำเนินการขนถ่ายสินค้ารายพิพาทจากเรือเดินทะเลตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 และขนส่งไปเก็บที่โกดังของผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538แล้วบริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัด ผู้เอาประกันภัยได้ชำระค่าระวางพาหนะให้แก่จำเลยรับไปเรียบร้อยแล้วจำนวน115,492 บาท ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกให้พร้อมบัญชีค่าใช้จ่าย เอกสารหมาย จ.14 และ จ.16 ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของนายสมหมาย สุขเจริญ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขนส่งของจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าจำเลยเคยรับขนส่งสินค้าให้แก่บริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัด ผู้เอาประกันภัยมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปีแล้ว โดยการขนส่งจะใช้ทั้งทางเรือและรถยนต์บรรทุกซึ่งสินค้ารายพิพาทนี้พยานเป็นผู้สั่งให้พนักงานขับรถของจำเลยไปดำเนินการขนส่งแล้วนำไปเก็บไว้ที่โกดังของบริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัด ผู้เอาประกันภัยเช่นนี้พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกับคำเบิกความรับของผู้จัดการฝ่ายขนส่งของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้รับขนสินค้ารายพิพาทที่จำเลยนำสืบต่อสู้คดีว่าจำเลยเพียงแต่ออกใบเสร็จรับเงินให้นายชาญชัย ธรรมรัตนานนท์ นำไปเบิกค่าใช้จ่ายจากบริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัด โดยมีนายชาญชัยมาเบิกความสนับสนุนนั้นแต่นายชาญชัยก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์รับว่าตนเองเป็นตัวแทนให้แก่บริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัด เคยติดต่อให้จำเลยขนส่งสินค้าให้บริษัทดังกล่าวหลายครั้ง โดยบริษัทดังกล่าวเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้จำเลย ดังนี้ ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงขาดเหตุผลรับฟังไม่ได้ ส่วนประเด็นที่ว่าสินค้ารายพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า นายศักดิ์ชายและนายสุชาติพยานโจทก์เบิกความว่า ก่อนที่จะมีการขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลชื่อโพเรอลงเรือฉลอมที่จำเลยนำมาขนถ่ายสินค้ารายพิพาทนั้น สินค้ายังอยู่ในสภาพเรียบร้อย ซึ่งหากสินค้ารายพิพาทเกิดความบุบสลายตั้งแต่ยังอยู่ในเรือเดินทะเลชื่อโพเรอแล้วก็จะมีการออกใบตรวจสอบสินค้าเหมือนเช่นเอกสารหมาย จ.15 เพื่อแสดงความเสียหายของสินค้าไว้ก่อน แต่กรณีนี้ไม่มีการออกใบตรวจสอบสินค้าจากเรือเดินทะเลชื่อโพเรอ แสดงว่าสินค้าไม่ได้รับความเสียหายจากเรือเดินทะเลดังกล่าวซึ่งความข้อนี้นายสรายุทธ กองเพิ่มพูลเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจความเสียหายของสินค้ารายพิพาทพยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความสนับสนุน โดยจำเลยไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าความเสียหายต่อสินค้ารายพิพาทที่เกิดบุบยุบตามภาพถ่ายหมาย จ.9 นั้นน่าจะเกิดจากการขนส่งของจำเลยซึ่งใช้ปั้นจั่นยกสินค้ารายพิพาทจากเรือเดินทะเลลงเรือฉลอมและยกจากเรือฉลอมขึ้นรถยนต์บรรทุก และยกจากรถยนต์บรรทุกลงเก็บในโกดังของบริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัด จนเกิดการกระแทกหรือตกหล่นจนบุบยุบตามคำเบิกความของนายสรายุทธพยานโจทก์ประกอบใบรับรองการสำรวจเอกสารหมาย จ.10
สำหรับประเด็นข้อสุดท้ายที่ว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด นั้น โจทก์มีนายสรายุทธ พยานโจทก์ผู้สำรวจความเสียหายของสินค้ารายพิพาทเบิกความประกอบใบรับรองการสำรวจเอกสารหมาย จ.10 ว่า เมื่อสำรวจสินค้ารายพิพาทแล้วพบความเสียหาย 12 ม้วน คิดเป็นเงินประมาณ 882,000 บาทโดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าความเสียหายไม่เป็นดังที่โจทก์นำสืบแต่อย่างใด ซึ่งนายสรายุทธเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทยูไนเต็ดเซอเวย์เยอร์ส แอนด์ แอดจันเตอร์ส จำกัด บริษัทที่มีอาชีพรับจ้างสำรวจความเสียหายของสินค้าโดยเฉพาะ ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงเชื่อว่าเบิกความไปตามที่ตรวจพบความเสียหายที่แท้จริง เมื่อปรากฏว่าความเสียหายจำนวน 882,263.45 บาทที่เกิดขึ้นแก่สินค้ารายพิพาทนั้น โจทก์ได้นำสินค้าที่เกิดความเสียหายบุบสลายออกขายได้เงินไปแล้วจำนวน 442,317 ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนที่เหลือจำนวน 439,946.45 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปให้แก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น