แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีนี้ศาลอุทธรณ์ได้นำพฤติการณ์ที่โจทก์มีส่วนประมาทร่วมด้วยมาวินิจฉัยลดความรับผิดตามจำนวนเงินในเช็คปลอมให้จำเลยชดใช้ลงไปแล้ว ประเด็นข้อนี้โจทก์ไม่ได้ฎีกา คดีจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่อีก
รายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะลายมือชื่อแตกต่างกันกับที่ปรากฏในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อ การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คปลอมให้ อ. เบิกถอนเงินไปจากบัญชีของโจทก์ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานจำเลยด้วย ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักบัญชีกระแสรายวันเอาแก่โจทก์โดยละเมิด แม้จะมีข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็ค เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปและมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนำมาเบิกเงินจากจำเลยก็ตาม จำเลยก็จะยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอม เป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,902,233.11 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 974,715 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 เมษายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,149,786.19 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 เมษายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นางสาวอำไพ เป็นพนักงานของโจทก์ทำหน้าที่ดูแลการเงิน การบัญชีในบริษัทโจทก์ ระหว่างเดือนกันยายน 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2554 นางสาวอำไพ ปลอมลายมือชื่อนายวิชิตกับนางนิฐิมากรรมการบริษัทโจทก์ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินในเช็คพิพาท จากบัญชีเลขที่ 060 – 1 – 06xxx – x พร้อมประทับตราโจทก์ไปเบิกถอนเงินจากจำเลย รวม 137 ฉบับ โจทก์ติดตามต้นฉบับเช็คพิพาทไปตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายได้ 81 ฉบับ และมีสำเนาเช็คปลอมที่รับรองสำเนาถูกต้องอีก 15 ฉบับ รวมเป็นเช็คที่โจทก์อ้างส่ง 96 ฉบับ จำนวนเงินทั้งสิ้น 4,430,522.99 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาท 96 ฉบับ คืนโจทก์หรือไม่เพียงใด และโจทก์ตกอยู่ในฐานผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอมเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงความประมาทเลินเล่อของโจทก์ไว้แล้ว โดยนำความเสียหายของโจทก์กึ่งหนึ่งไปหักออกจากความเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยจ่ายเงินไปตามเช็คพิพาทที่นางสาวอำไพลูกจ้างโจทก์นำเช็คไปเบิกเงินจากจำเลยแล้วมีหลักฐานเช็ครวมสำเนาเช็คที่เรียกคืนได้เป็นหลักฐานมาประกอบคดีรวม 96 ฉบับ ดังนั้น ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้นำพฤติการณ์ที่โจทก์มีส่วนประมาทร่วมด้วยมาวินิจฉัยลดความรับผิดตามจำนวนเงินในเช็คปลอมให้จำเลยชดใช้ลงไปแล้ว ซึ่งประเด็นข้อนี้โจทก์ไม่ได้ฎีกา คดีจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่อีก
คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยตามข้อ 2.1 ว่าจำเลยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้น เมื่อดูเปรียบเทียบกับการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อของนายวิชิตและนางนิฐิมาผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในนามโจทก์ มีลักษณะการเขียนแตกต่างกัน ตัวอย่างลายมือชื่อของนายวิชิตมีการเว้นช่องระหว่างชื่อกับนามสกุล ส่วนลายมือชื่อของนางนิฐิมามีน้ำหนักการเขียนเสมอกันทั้งชื่อ แต่ในลายมือชื่อปลอมเป็นการเขียนที่ไม่มีน้ำหนักตัวอักษรเส้นใต้ฐานชื่อก็ไม่เหมือนสามารถมองด้วยตาเปล่าก็พอเห็นได้ เมื่อพยานจำเลยทั้งสองดังกล่าวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเช็คพิพาท จำเลยมิได้นำพยานที่เป็นพนักงานตรวจสอบรับเช็คพิพาทมาเบิกความแม้แต่ปากเดียว พยานจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติหรือมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามเช็คจึงมีน้ำหนักน้อย ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยเองก็นำสืบรับว่ามีการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำเช็คมาเบิกเงินได้ทุกสาขาของจำเลยยิ่งเป็นการเปิดช่องทางสะดวกแต่ก็ทำให้ไม่อาจตรวจสอบบุคคลได้เลย การที่เช็คพิพาททั้ง 137 ฉบับนั้น จะถูกนำไปขึ้นเงินที่ธนาคารจำเลยสาขาใดก็ได้เช่นนี้ จึงเป็นช่องทางที่นางสาวอำไพสามารถนำเช็คไปเรียกเก็บจากสาขาของจำเลยได้ทุกสาขา เท่ากับจำเลยไม่มีระบบการตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายด้วยความระมัดระวังรอบคอบได้อย่างแท้จริง ประกอบกับผลของรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะลายมือชื่อแตกต่างกันกับที่ปรากฏในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อบัญชีกระแสรายวัน วันที่ 12 พฤษภาคม 2540 และการเปลี่ยนรายละเอียดในบัญชีกระแสรายวัน วันที่ 13 มิถุนายน 2551 และวันที่ 9 ธันวาคม 2554 การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คปลอมให้นางสาวอำไพ เบิกถอนเงินไปจากบัญชีของโจทก์ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานจำเลยด้วย ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักบัญชีกระแสรายวันเอาแก่โจทก์โดยละเมิด แม้จะมีข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็ค เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปและมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนำมาเบิกเงินจากจำเลยก็ตาม จำเลยก็จะยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอม เป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ