คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9106/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องอ้างว่า โจทก์มาศาลแล้วแต่เข้าห้องพิจารณาผิด แม้คำขอจะให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่แต่ตามคำร้องก็เป็นเรื่องที่โจทก์ตั้งรูปคดีอ้างว่า ศาลสั่งจำหน่ายคดีไปโดยผิดหลง เป็นการร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27ซึ่งโจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ โจทก์และทนายโจทก์มาศาลในเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี แต่เนื่องจากโจทก์และทนายโจทก์เข้าห้องพิจารณาผิด ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์มาศาลในวันสืบพยานแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งร่วมกันรับฝากรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ คันหมายเลขทะเบียน 3 ฉ-1427 กรุงเทพมหานครราคา 1,350,000 บาท ของโจทก์ แล้วรถยนต์ได้หายไประหว่างที่อยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยทั้งสาม ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระราคารถยนต์พร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 234 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้จัดหาผลประโยชน์จากบ้านนี้โดยการให้เช่าพื้นที่จอดรถยนต์ และเจ้าของรถยนต์เป็นผู้เก็บลูกกุญแจรถยนต์เอง การนำรถยนต์เข้าออกจึงไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบ เมื่อรถยนต์หายไปจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ได้รับประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จัดหาผลประโยชน์ดังกล่าวเท่านั้น จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งเลื่อนมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2536เวลา 9 นาฬิกา พยานหมายของโจทก์และทนายจำเลยทั้งสามมาศาลส่วนโจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาลจนเวลา 10 นาฬิกา ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ โดยไม่มีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องเวลา 10.30 นาฬิกา ว่ามิได้จงใจละทิ้งคดีหรือทิ้งฟ้องหรือมาศาลล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลแต่เพราะโจทก์เข้าห้องพิจารณาผิด เมื่อทราบความจริงเวลา 10 นาฬิกา และเข้ามาในห้องพิจารณา ก็ปรากฏว่าศาลได้สั่งจำหน่ายคดีไปแล้ว ขอให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พฤติการณ์ของโจทก์แสดงว่าโจทก์มาศาลในวันนัดแต่เข้าห้องพิจารณาผิดไป ไม่ใช่โจทก์ไม่มาศาลเสียเลยฟังไม่ได้ว่าโจทก์มาศาลไม่ทันตามกำหนดนัดโดยไม่มีเหตุสมควรดังนั้น ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีเพราะหลงผิดคิดว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาคำสั่งดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 จึงให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี และให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าเมื่อศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยเหตุที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาโจทก์จะมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 นั้น เห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องอ้างว่าโจทก์มาศาลแล้ว แต่เข้าห้องพิจารณาคดีผิด แม้คำขอจะให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ก็ตาม แต่ตามคำร้องก็เป็นเรื่องที่โจทก์ตั้งรูปคดีอ้างว่าศาลสั่งจำหน่ายคดีไปโดยผิดหลง เป็นการร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ซึ่งโจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ จำเลยที่ 1ฎีกาต่อมาว่า โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดในวันนัดสืบพยานโจทก์นั้นข้อเท็จจริงตามท้องสำนวนได้ความว่าในวันสืบพยาน ศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 9 นาฬิกา ในวันนัดศาลรอโจทก์จนถึงเวลา 10 นาฬิกาแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ศาลสอบจำเลยแล้วจำเลยไม่ติดใจจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่1 กรกฎาคม 2536 ต่อมาในวันเดียวกันนั้น เวลา 10.30 นาฬิกาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 โดยเจ้าพนักงานศาลได้ระบุเวลายื่นคำร้องไว้ที่หัวคำร้องด้านขวามือ โจทก์นำสืบอ้างว่าโจทก์มาศาลเวลา9.15 นาฬิกา ทนายโจทก์มาศาลเวลา 9.40 นาฬิกา โจทก์ไปรอที่ห้องพิจารณาที่ 809 โดยเข้าใจว่าศาลนัดพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณาคดีดังกล่าว จนเวลา 10 นาฬิกา จึงทราบว่าศาลไม่ได้พิจารณาคดีของโจทก์ที่ห้องพิจารณานี้ เมื่อโจทก์ไปที่ห้องพิจารณาเดิมคือห้องพิจารณาที่ 505 ปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์แล้ว เห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่โดยเขียนด้วยลายมือยื่นต่อศาลเมื่อเวลา 10.30 นาฬิกาใช้เวลาดำเนินการเกี่ยวกับการทำคำร้องเพื่อยื่นต่อศาลเพียง30 นาที ซึ่งถ้าหากโจทก์มาศาลหลังจากศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้วโจทก์คงจะเขียนคำร้องและยื่นต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้จึงรับฟังได้ว่า โจทก์และทนายโจทก์มาศาลเวลา 9.15 นาฬิกาและ 9.40 นาฬิกา ตามลำดับ อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี แต่เนื่องจากโจทก์และทนายโจทก์เข้าห้องพิจารณาผิด ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์มาศาลในวันสืบพยานแล้ว
พิพากษายืน

Share