แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมและจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมฟ้องขับไล่จำเลยจากตึกแถวพิพาท โดยจำเลยตกลงยกเครื่องปรับอากาศจำนวน 2 เครื่อง ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมต่อมาเมื่อโจทก์ร่วมได้เลือกเครื่องปรับอากาศจำนวน 2 เครื่องแล้วเครื่องปรับอากาศทั้งสองเครื่องจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม การที่จำเลยได้รื้อเอาไม้กั้นห้อง บานประตู และเครื่องปรับอากาศสองเครื่องดังกล่าวไปจากตึกแถวพิพาท จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
ส่วนที่จำเลยรื้อไม้กั้นห้องและเครื่องปรับอากาศออกไปเป็นเหตุให้ฝาผนังตึกเป็นรอย กระจกและเสาแตกนั้น จำเลยมีความประสงค์ในทรัพย์ซึ่งติดตั้งอยู่กับตึกจึงต้องรื้อออกไป การรื้อสิ่งของที่ติดอยู่กับผนังตึกย่อมทำให้เกิดร่องรอยต่าง ๆ ขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลธรรมดาของการรื้อถอนที่ต้องเกิดขึ้น สภาพแตกร้าวตามที่ปรากฏในภาพถ่ายนั้นมิใช่เกิดขึ้นเพราะกระทำโดยเจตนาให้เสียทรัพย์ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,358, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ลักไปจำนวน 60,000 บาทแก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางวิจิตร์ กิจเจริญวงศ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
เมื่อสืบพยานโจทก์ได้ 4 ปาก โจทก์ร่วมถูกยิงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2540 นายสำเนียง กิจเจริญวงศ์ สามีของโจทก์ร่วมขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 มาตรา 358 ประกอบด้วยมาตรา 91ฐานลักทรัพย์ จำคุก 2 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปีให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ลักไปจำนวน 60,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยเช่าตึกแถวพิพาท 3 ชั้น จากโจทก์ร่วมเปิดเป็นร้านอาหาร ระหว่างเช่าจำเลยต่อเติมกั้นห้องทั้ง 3 ชั้น และติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ชั้น 3 จำนวน2 เครื่อง นอกนั้นชั้นละ 1 เครื่อง ต่อมาโจทก์ร่วมฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 770/2538 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วโจทก์ร่วมและจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 ว่า ข้อ 1 จำเลยยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกพิพาทของโจทก์ร่วมภายในวันที่ 10เมษายน 2539 หากผิดนัดยอมให้โจทก์ร่วมบังคับคดีได้ทันทีกับยอมชำระค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท ในระหว่างผิดนัด ข้อ 2 ค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระค่าเสียหาย และเงินค่าวางมัดจำล่วงหน้าของจำเลยโจทก์ร่วมและจำเลยไม่ติดใจเรียกร้องต่อกัน ข้อ 3 ทรัพย์สินภายในตึกพิพาทที่จำเลยต่อเติมติดกับตึกพิพาท เช่น ไม้กั้นห้อง กระจก พัดลม หลอดไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศจำนวน 2 เครื่อง จำเลยตกลงยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศจำเลยยินยอมให้โจทก์ร่วมเป็นผู้เลือก ทรัพย์สินนอกจากนี้ที่ไม่ติดกับตึกพิพาทโจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยเคลื่อนย้ายออกไปได้ภายในกำหนดเวลาตามข้อ 1 ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาคดีถึงที่สุดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก่อนวันที่ 25 มีนาคม 2539 มีการรื้อไม้กั้นห้องที่ชั้น 2และเครื่องปรับอากาศที่ชั้น 3 จำนวน 1 เครื่อง ที่ชั้น 2 จำนวน 1 เครื่องและนำออกไปจากตึกพิพาทมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ร่วมได้ตรวจภายในตึกพิพาทพบว่าทรัพย์สินมีสภาพเรียบร้อย ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม2539 เวลา 17 นาฬิกาเศษ โจทก์ร่วมได้รับแจ้งจากนางประนอม สุจริตว่าจำเลยกำลังขนย้ายเครื่องปรับอากาศและไม้ออกจากตึกพิพาท โจทก์ร่วมและนายสำเนียง กิจเจริญวงศ์ จึงไปดูแต่ไม่พบจำเลย นอกจากนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายสมชาย นิรหาดี และนางประนอม สุจริต เบิกความว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2539 จำเลยขนไม้แปรรูปและเครื่องปรับอากาศออกจากตึกพิพาท นางประนอมจึงโทรศัทพ์แจ้งโจทก์ร่วมเห็นว่า นายสมชายและนางประนอมอยู่ใกล้เคียงกับตึกพิพาทย่อมรู้เห็นความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตึกพิพาท นางประนอมไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ส่วนนายสมชายถึงแม้เคยมีเรื่องทำร้ายร่างกายกับจำเลยเมื่อปี 2538 แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกลั่นแกล้งหรืออาฆาตกันอีก ทั้งคำเบิกความของนายสมชายและนางประนอมก็มีลักษณะเป็นกลางมิใช่จงใจปรักปรำใส่ร้ายจำเลย ประกอบกับนายอุบล คล้ายปุ้ย บิดาของจำเลยและนางสาวอมรรัตน์ สุขร่วมอดีตลูกจ้างของจำเลย เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ในวันที่ 24มีนาคม 2539 โจทก์ร่วมและนายสำเนียงได้ไปสำรวจภายในตึกพิพาททำให้คำเบิกความของพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้รื้อเอาไม้กั้นห้อง บานประตูและเครื่องปรับอากาศจำนวน 2 เครื่อง ไปจากตึกพิพาทจริง ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่าเครื่องปรับอากาศจำนวน 2 เครื่องที่จำเลยเอาไปนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมหรือไม่ โจทก์ร่วมและนายสำเนียงเบิกความว่า ทั้งสองคนไปเลือกเครื่องปรับอากาศเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2539 โดยเลือกเอาเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งอยู่ชั้น 2 และชั้น 3 ซึ่งเป็นเครื่องที่มีกำลังบี.ที.ยู. มากกว่าอีก 2 เครื่องที่ยังเหลืออยู่ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมมีนายเด่นพงษ์ วณิชย์รุจี เบิกความสนับสนุนว่า เมื่อปี 2539 โจทก์ร่วมมอบหมายให้ตนไปช่วยตรวจสอบเครื่องปรับอากาศว่าเครื่องใดดีนายเด่นพงษ์ได้ตรวจแล้วแจ้งโจทก์ร่วมว่า เครื่องปรับอากาศเครื่องใหญ่มีราคาสูงกว่าเครื่องอื่น และยังมีสิบตำรวจตรีวัชระ สีนวล เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภออุทัยเบิกความว่าในวันที่ 23 มีนาคม2539 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ขณะที่สิบตำรวจตรีวัชระปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ตู้ยามตลาดขนส่งใหม่ โจทก์ร่วมและนายสำเนียงได้ไปขอให้เป็นพยานคัดเลือกเครื่องปรับอากาศในตึกพิพาท โจทก์ร่วมกับนายสำเนียงและช่างเครื่องปรับอากาศขึ้นไปบนตึกแล้วลงมาบอกว่าตกลงกันได้แล้วโจทก์ร่วมเลือกเครื่องปรับอากาศที่ชั้น 2 จำนวน 1 เครื่องและชั้น 3จำนวน 1 เครื่อง ระหว่างนั้นสิบตำรวจตรีวัชระได้ยินเสียงพูดของจำเลยแต่ไม่เห็นตัว เห็นว่า นายเด่นพงษ์เป็นช่างเครื่องปรับอากาศ ส่วนสิบตำรวจตรีวัชระเป็นเจ้าพนักงานต่างก็ไม่มีประโยชน์ได้เสียในกรณีพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยพยานทั้งสองเบิกความมีเนื้อหาเป็นกลางมีเหตุผล ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลย จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือฟังได้ว่าโจทก์ร่วมได้เลือกเครื่องปรับอากาศจำนวน 2 เครื่องที่ชั้น 2 และชั้น 3 ซึ่งมีกำลังสูงมากกว่าและถูกรื้อออกไปในวันเกิดเหตุ เครื่องปรับอากาศทั้งสองเครื่องจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมการที่จำเลยเอาเครื่องปรับอากาศดังกล่าวไปพร้อมด้วยไม้กั้นห้องและบานประตู จึงเป็นความผิดตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยรื้อไม้กั้นห้องและเครื่องปรับอากาศออกไปเป็นเหตุให้ฝาผนังตึกเป็นรอย กระจกและเสาแตกนั้นได้พิจารณาภาพถ่ายหมาย จ.5 และ จ.6 แล้ว เห็นว่า เมื่อจำเลยมีความประสงค์ในทรัพย์ซึ่งติดตั้งอยู่กับตึกจึงต้องรื้อออกไป การรื้อสิ่งของที่ติดอยู่กับผนังตึกย่อมทำให้เกิดร่องรอยต่าง ๆ ขึ้นได้ซึ่งเป็นผลธรรมดาของการรื้อถอนที่ต้องเกิดขึ้น สภาพแตกร้าวตามที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย จ.5 และ จ.6 นั้นมิใช่เกิดขึ้นเพราะกระทำโดยเจตนาให้เสียทรัพย์ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
ที่จำเลยฎีกาว่า ในวันที่ 24 มีนาคม 2539 จำเลยมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุเพราะจำเลยเดินทางไปสัมมนาที่จังหวัดเพชรบุรีนั้น จำเลยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนให้น่าเชื่อถือ การประชุมหรือสัมมนาของหน่วยงานใดก็ตามต้องมีหลักฐานรายงานการประชุมหรือสัมมนาและรายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาแต่จำเลยไม่สามารถแสดงให้ศาลเห็นเช่นนั้น ส่วนที่จำเลยอ้างนางอมรรัตน์และนายอุบลเป็นพยานบุคคลนำสืบว่าจำเลยไปสัมมนานั้น พยานทั้งสองปากต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับจำเลย โดยนางสาวอมรรัตน์เป็นลูกจ้างของจำเลยในขณะเกิดเหตุ ส่วนนายอุบลเป็นบิดาของจำเลย คำเบิกความของพยานทั้งสองจึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าคำเบิกความของพยานทั้งสองในส่วนนี้เลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์โดยจำคุก2 ปี นั้น เห็นว่า โทษที่ลงหนักเกินกว่าพฤติการณ์ของคดี เนื่องจากการพิพาทกันในคดีนี้สืบเนื่องมาจากมูลคดีแห่งการเช่าตึกที่เกิดเหตุ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโทษให้เหมาะสมแก่รูปคดี ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เพียงกระทงเดียว ให้จำคุก 1 ปีและปรับ 4,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปีนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้งภายใน 2 ปี ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด และให้จำเลยทำกิจกรรมเพื่อบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 10 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามมาตรา 29, 30 ยกฟ้องข้อหาทำให้เสียทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2