คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 557/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนส่วนที่ก่อสร้างปกคลุมทางเดินหลังอาคารและพื้นชั้นลอย อันเป็นการต่อเติมดัดแปลงอาคารให้ผิดไปจากแบบซึ่งไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 และมาตรา 43ให้อำนาจไว้ โจทก์มิได้ฟ้องคดีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เคยฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิให้ยกข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเป็นประการอื่นสำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่อาคารตั้งอยู่ มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดออกจากกันได้ ย่อมจะโต้แย้งข้อเท็จจริงนั้นเป็นประการอื่นไม่ได้เช่นกันโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ให้เว้นพื้นที่ด้านหลังอาคารพาณิชย์เป็นที่ว่างไว้ไม่น้อยกว่า 2 เมตร เป็นข้อบัญญัติเพื่อความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สิน เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกอาคารเมื่อเกิดอัคคีภัยมีผลใช้บังคับต่อบุคคลและสถานที่ภายในเขตที่กำหนดไว้โดยเท่าเทียมกันไม่มีข้อยกเว้นว่าพื้นที่ใดอยู่นอกเขตการบังคับใช้เมื่ออาคารของจำเลยปลูกสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก็ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของข้อบัญญัติดังกล่าว หาได้อยู่เหนือการบังคับใช้ไม่ จำเลยจะยกการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลอื่นมาเป็นข้อแก้ตัวว่าตนไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเลขที่ 408 ถนนวานิช 1 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานครซึ่งปลูกสร้างลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2392 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารเลขที่ 410 ถนนวานิช 1 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2868 ของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2392 มีอาคารเลขที่ 408ปลูกสร้างอยู่ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารเลขที่ 408 และ 410 ผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตเจ้าหน้าที่ของโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับการปลูกสร้างและรื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงและต่อเติมอาคารพร้อมกับแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 10,000บาท ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดัดแปลงต่อเติมอาคารทั้งสองหลังดังกล่าวเชื่อมให้ติดต่อกันโดยส่วนที่ปลูกสร้างต่อเติมปกคลุมทางเดินด้านหลังอาคารอันเป็นการผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังก่อสร้างพื้นชั้นลอยเกินจากแบบ 31 ตารางเมตรโจทก์สั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับการปลูกสร้าง และรื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงพร้อมกับดำเนินคดีทางอาญาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเนื่องจากอาคารทั้งสองหลังมีสภาพการใช้ที่ไม่ปลอดภัยอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 76 (4) ที่กำหนดให้มีที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมทางเดินหลังอาคารให้ถึงกันกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร อาคารทั้งสองหลังไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง และโจทก์ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้แก่จำเลยทั้งสามได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนส่วนที่ก่อสร้างปกคลุมทางเดินหลังอาคารและพื้นชั้นลอย แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนอาคารตึกแถวเลขที่ 408 และ 410 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานครเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต หากจำเลยทั้งสามไม่รื้อถอน ให้โจทก์เป็นฝ่ายรื้อถอน โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนอาคารตึกแถวเลขที่ 408 และ 410 ถนนวานิช 1 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร ในส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแทน

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพิพาทเลขที่ 408 ถนนวานิช 1แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2392 ของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพิพาทเลขที่ 410 ถนนวานิช 1 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2868 ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารพิพาททั้งสองหลังมีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์สูง 4 ชั้นอยู่ติดกัน ด้านหน้าติดถนนวานิช 1 ด้านหลังติดกับอาคารอื่น มีระยะห่างกันประมาณ 10 ถึง 15 เซนติเมตร โดยปลูกสร้างทดแทนอาคารเดิมที่ถูกไฟไหม้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อเติมส่วนหลังอาคารพิพาทเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กผนังก่ออิฐฉาบปูนมีขนาดกว้างด้านทิศตะวันออก3.50 เมตร ด้านทิศตะวันตก 3 เมตร ยาว 13.20 เมตร สูง 17.60 เมตรปกคลุมทางเดินหลังอาคารโดยไม่เว้นทางเดินไว้ไม่น้อยกว่า 2 เมตรและในส่วนที่เป็นชั้นลอยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างชั้นลอยเชื่อมติดต่อกันเป็นผลให้พื้นที่ชั้นลอยเกิน 40 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ห้องชั้นล่างอันเป็นการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารพร้อมกับดำเนินคดีอาญาข้อหาผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ์เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมรื้อถอนส่วนที่สร้างปกคลุมทางเดินหลังอาคารและส่วนที่เป็นชั้นลอย สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ในฐานะผู้ทำการแทนโจทก์ เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบดังกล่าวจำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารส่วนต่อเติมที่ก่อสร้างปกคลุมทางเดินหลังอาคารและพื้นชั้นลอยที่เกินจากแบบจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5798/2537

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกมีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ ข้อนี้จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลตลอดจนเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ด้วยเหตุบริเวณที่ว่างหลังอาคารพิพาทกว้าง 3 เมตร ยาว 13.20 เมตรมิใช่ทางเดินแต่เป็นบริเวณที่ก่อสร้างในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2ทั้งเป็นบริเวณที่ตั้งอาคารเดิมที่ไม่อาจใช้เป็นทางเดินหรือทางหนีไฟเพราะอยู่ประชิดติดกับอาคารของผู้อื่น ซึ่งปลูกสร้างเต็มพื้นที่แม้จะเว้นเป็นที่ว่างไว้ก็ไม่อาจใช้เป็นทางเดินหรือทางหนีไฟหรือป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ได้ การบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงผู้เดียวให้เว้นพื้นที่หลังอาคารจึงไม่เกิดประโยชน์ ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เห็นว่า โจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนส่วนที่ก่อสร้างปกคลุมทางเดินหลังอาคารและพื้นชั้นลอย อันเป็นการต่อเติมดัดแปลงอาคารพิพาทให้ผิดไปจากแบบซึ่งไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 และมาตรา 43 ที่ให้อำนาจไว้ โจทก์มิได้ฟ้องคดีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง ทั้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะชอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลตลอดจนเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในสำนวนคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5798/2537 ซึ่งมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้มิให้ยกข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วนั้นขึ้นกล่าวอ้างเป็นประการอื่น สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อาคารพิพาทเลขที่ 408 ตั้งอยู่จึงมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดออกจากกันได้ จำเลยที่ 3 จะโต้แย้งข้อเท็จจริงนั้นเป็นประการอื่นไม่ได้เช่นกัน ฎีกาของจำเลยทั้งสามนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยประการต่อมาจำเลยทั้งสามฎีกาว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อ 76(4) ไม่มีผลใช้บังคับในกรณีของจำเลยทั้งสามดังนั้น การต่อเติมดัดแปลงอาคารพิพาทตามฟ้องจึงชอบด้วยกฎหมายโดยจำเลยทั้งสามยกข้อเท็จจริงและเหตุผลซ้ำกับที่ได้กล่าวไว้แล้วในประเด็นวินิจฉัยแรก เช่น บริเวณหลังอาคารพิพาทมิใช่ทางเดินแต่เป็นบริเวณที่ก่อสร้างในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจใช้เป็นทางเดินหรือทางหนีไฟได้เพราะอยู่ประชิดติดกับอาคารของผู้อื่นซึ่งปลูกเต็มพื้นที่ เป็นต้น เห็นว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ให้เว้นพื้นที่ด้านหลังอาคารพาณิชย์เป็นที่ว่างไว้ไม่น้อยกว่า 2 เมตร เป็นข้อบัญญัติเพื่อความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สิน เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกอาคารเมื่อเกิดอัคคีภัย ข้อบัญญัติดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายซึ่งบังคับใช้ต่อบุคคลและสถานที่ภายในเขตที่กำหนดไว้โดยเท่าเทียมกันไม่มีข้อยกเว้นว่าพื้นที่ใดอยู่นอกเขตการบังคับใช้อาคารพิพาทของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปลูกสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก็ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวเช่นเดียวกับอาคารอื่นทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลหากอาคารอื่นมีลักษณะเช่นเดียวกับอาคารพิพาทก็ต้องถูกบังคับให้รื้อถอนทำนองเดียวกับอาคารพิพาทของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หาได้อยู่เหนือการบังคับใช้ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครไม่ จำเลยทั้งสามจะยกการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลอื่นมาเป็นข้อแก้ตัวว่าตนไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วยไม่ได้”

พิพากษายืน

Share